xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ไทยจับมือ ม.สหรัฐฯ ใช้สเต็มเซลล์รักษา “โรคหัวใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สเต็มเซลล์อาจเป็นทางหนึ่งในการรักษาโรคหัวใจได้ แต่ยังมีข้อจำกัดอีกมาก
หมอ รพ.หัวใจกรุงเทพฯ ร่วมกับ ม.พิตต์สเบอร์กใช้สเต็มเซลล์รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ 84 ราย เผยเส้นเลือดฝอยรอบหัวใจหนาขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ทราบเหตุผล แจงยังอยู่ในขั้นแรกต้องรอข้อมูลวิเคราะห์ความปลอดภัยและการทำได้จริง

ดร.นพ.กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เผยว่าทางโรงพยาบาลได้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยพิตต์สเบอร์ก (University of Pittsburgh) สหรัฐอเมริกา ในการรักษาคนไข้โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ 84 ราย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติมากกว่า 50 ราย โดยวิธีการรักษาจะใช้เลือด ไขสันหลังหรือกล้ามเนื้อของผู้ป่วยเองเพื่อเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ แล้วฉีดเข้ากล้ามเนื้อหัวใจของผู้ป่วย ผลเบื้องต้นพบว่าเส้นเลือดฝอยรอบๆ หัวใจหนาขึ้น ทำให้การบีบตัวของหัวใจดีขึ้น แต่ยังตอบไม่ได้ว่าการบีบตัวของหัวใจที่ดีขึ้นนั้นเกิดจากอะไร

ดร.นพ.กิติพันธ์กล่าว โดยในขั้นตอนการฉีดสเต็มเซลล์เข้ากล้ามเนื้อหัวใจนั้นจะทำที่เมืองไทย แล้วส่งข้อมูลไปวิเคราะห์ที่สหรัฐ ทั้งนี้มีข้อจำกัดคือจะรักษาในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว โดยการรักษาโรคหัวใจเบื้องต้นจะให้ยา และหากมีอาหารหลอดเลือดตีบก็จะทำบอลลูน นอกจากนี้ยังมีจำกัดปลีกย่อยอีกคือ ต้องไม่เป็นโรคตับอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเลือดบางอย่าง เป็นต้น

วิธีการรักษาดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาทางจริยธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว โดย ดร.นพ.กิติพันธ์กล่าวว่า การใช้สเต็มเซลล์จากตัวผู้ป่วยเองจะไม่มีปัญหาเหมือนกับใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน ซึ่งมีปัญหาด้านจริยธรรมและทางสหรัฐไม่อนุญาตให้ทำ ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นยังไม่สามารถระบุได้เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และคนไข้แต่ละรายก็ใช้ค่ารักษาที่ต่างกัน พร้อมทั้งบอกว่าการรักษาไม่รับรองว่าหายขาด 100% และไม่มีการรักษาใดที่ทำได้ หากดีขึ้น 50 % ก็นับว่าดีมากแล้ว

“การรักษายังอยู่ในระยะแรกและกำลังเก็บข้อมูลเพื่อส่งไปสหรัฐ ขณะเดียวกันก็เก็บไว้เองด้วย ซึ่งข้อมูลผู้ป่วย 84 รายแค่นี้ก็พอแล้ว ต้นปีหน้าจะเสร็จ แล้วระยะที่ 2 มาว่ากันอีกที” ดร.นพ.กิติพันท์กล่าว ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะได้คุยกันต่อไปว่าวิธีดังกล่าวทำได้มากน้อยแค่ไหน มีความปลอดภัยแค่ไหน จากนั้นจะพิสูจน์ในขั้นที่ 2 ว่าทำได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยภายในการประชุมนานาชาติด้านการรักษาโรคหัวใจโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิด (Bangkok International Symposium on Stem Cell Therapy of the Failing Heart) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ธ.ค. ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล กรุงเทพฯ โดยการประชุมดังกล่าว ดร.นพ.กิติพันธ์หวังว่าจะช่วยให้คนไทยได้รับรู้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ในการรักษาโรคหัวใจได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องเดินทางไปถึงต่างประเทศ
ดร.นพ.กิตติพันธ์ วิสุทธิธารมณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น