xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ทิศทางงานวิจัยไทยต้องเน้นรวมกลุ่ม ลดอีโก้ทำงานเป็นทีม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลขาฯ วช.ชี้ทิศทางงานวิจัยประยุกต์-พื้นฐานต้องรวมกลุ่มเชื่อมโยงกันสอดคล้องความต้องการของประเทศ ขณะเดียวกันต้องรองรับความจำเป็นของประชากรโลกเรื่อง “ภัยพิบัติ” ด้านอธิการมหิดลชี้นักวิจัยต้องหัดเคารพคนอื่นและทำงานเป็นทีม

วันที่ 28 พ.ย.นี้ ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ” ภายในการประชุมวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “Molecular Medicine 2006: From Research to Clinical Practice” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา

ทิศทางการวิจัยของไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่าจำเป็นต้องสอดคล้องกับวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันต้องรองรับเรื่อง “ภัยพิบัติ” ซึ่งเป็นความจำเป็นของประชากรโลก ซึ่งในการปรับปรุงงานวิจัยในประเทศนั้น งานวิจัยจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันมากขึ้น โดยในส่วนที่ทำวิจัยพื้นฐานและส่วนที่วิจัยประยุกต์นั้นต้องมาทำงานเชื่อมโยงกันเพื่อสนองความต้องการของประเทศ

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อานนท์ได้ยกตัวอย่างว่า ต่อไปอาหารต้องไม่มีสารปนเปื้อน แนวโน้มต่อไปอาหารจากทางการเกษตรจะบวกเข้ากับเรื่องสุขภาพ เช่น ข้าวทีมีธาตุเหล็กสูง ข้าวที่มีสารกาบา(GABA) ซึ่งช่วยบำรุงสมอง และข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ป้องกันในเรื่องความชรา ที่ต่อไปเป็นที่ยอมรับประชาขนสูงอายุจะมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องมีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องโลกานุวัตรที่มีผลกระทบต่อประชากร ซึ่ง “วัฒนธรรมชายขอบ” ที่เกิดจากการโลกานุวัตรจะทำให้สังคมไทยที่ไม่เคยมี ไม่เข้าใจ และไม่รู้ทันนั้นต้องตกอยู่ในกระแสของตลาดโลก ใครส่งอะไรเข้ามาเราก็ซื้อเขามาใช้ และเราก็เป็นเพียงผู้ตาม ขณะที่คนอื่นเป็นผู้กำหนดทิศทาง

“ต่อไปต้องสร้างนักวิจัยให้มีคุณภาพมากขึ้น นักวิจัยต้องทำหน้าที่กระจายความรู้สู่ประชาชน ทำให้เกิดรากฐานที่ยั่งยืน” ศ.ดร.อานนท์กล่าวและชี้อีกว่า งบลงทุนวิจัยของไทยนั้นอยู่ที่ 0.26% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่ปี 2551 นั้นตั้งเป้าไว้ 0.5% โดยกำลังอยู่ในกระบวนการ แต่หากไม่ได้ก็คงทำให้ได้ 0.3-0.4% ก่อน ทั้งนี้ วช.ได้รับงบประมาณเพื่อจัดสรรทุนวิจัยและบริหารสำนักงาน 900 ล้านบาท ขณะที่ทั้งประเทศใช้เงินทำวิจัยประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี

พร้อมกันนี้ ศ.เกียรติคุณ พรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยว่า สถาบันจะเป็นกลไกให้ภาควิชา คณะต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะที่เกี่ยวกับการแพทย์ เช่น สิ่งแวดล้อม การเกษตร สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่มหิดลทำขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบยา เรื่องการชันสูตร การชี้ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเตรียมสำหรับการแพทย์ยุคต่อไป เช่น เตรียมรับมือกับโรคทางพันธุกรรม เป็นต้น

ในส่วนที่ต้องปรัปรุงสำหรับงานวิจัยของไทยนั้น ศ.เกียรติคุณ พรชัย กล่าวว่านักวิจัยไทยต้องหัดทำงานเป็นทีม เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของนักวิจัยแต่ละคนที่มี “อีโก้” ซึ่งในส่วนของการผลักดันงานวิจัยนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องหัดนับถือคนอื่นบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น