xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยาศาสตร์ความอร่อย” ของเด็กน้อยในโลกมืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กินอาหารแต่ละครั้งเคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่าว่า ลิ้นของเรานั้นรับรสอะไรได้บ้าง แล้วส่วนไหนที่รับรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม หากไม่รู้หรือหลงๆ ลืมๆ ไปแล้ว ลองไปทบทวนกับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ในค่าย “นักวิทยาศาสตร์ตาบอด” กัน

“ค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอดครั้งที่ 2” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย.นี้ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้จัดกิจกรรมให้เยาวชนผู้พิการทางสายตาในระดับมัธยมต้น 23 คนได้ทดลองทำช็อกโกแลตและเรียนรู้การรับรสของลิ้น โดยนอกจากการชิมช็อกโกแลตฝีมือตัวเองแล้ว เด็กๆ จะทดสอบรสชาติต่างๆ ด้วย จากนั้นก็ให้แต่ละคนระบุว่ารสชาติแต่ละอย่างที่ชิมไปนั้นรับรู้ได้ที่ส่วนไหนของลิ้น

ทั้งนี้พี่เลี้ยงได้นำผงโกโก้ น้ำตาลไอซิ่ง และ น้ำรสชาติต่างๆ ทั้งขม เค็ม เปรี้ยวมาให้ลองชิม ขณะเดียวกันก็ให้แผ่นกระดาษที่จำลองเป็นรูปลิ้นไว้สำหรับแปะกระดาษที่แทนรสชาติต่างๆ โดยมีอักษรกำกับไว้

ที่ผ่านมาเราอาจจะติดกับภาพ “แผนที่ลิ้น” ว่ารสหวานมีปุ่มสัมผัสที่ปลายลิ้น รสเค็มมีปุ่มรับรสที่ขอบลิ้น รสเปรี้ยวมีปุ่มรับรสที่ขอบกลางๆ ลิ้น และรสขมที่โคนลิ้น แต่ในค่ายนี้ได้ให้ข้อมูลใหม่แก่เด็กๆ ว่า เป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะปุ่มรับรสมีพื้นที่ไม่จำเพาะ และจะแพร่กระจายทั่วลิ้นมากกว่า 1 จุด ทั้งนี้เป็นความรู้ใหม่จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารไซแอนทิฟิก อเมริกัน (Scientific American) เมื่อปี 2544

นอกจากนี้การรับสัมผัสรสชาติยังขึ้นอยู่กับการรับกลิ่นด้วย ซึ่งทำให้เราจดจำกลิ่นได้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อเป็นหวัดและการรับกลิ่นเพี้ยนไปจะทำให้การรับรสชาติเปลี่ยนไปด้วย

ส่วนกิจกรรมที่จัดขึ้นจะช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องไปฟังความรู้สึกของเด็กๆ ที่เข้าค่าย เริ่มจากสาวน้อยอารมณ์ดี ด.ญ.พรรณภา เที่ยงนิน หรือ “น้ำ” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนโคราชพิทยาคม จ.นครราชสีมา กล่าวว่าได้รับคัดเลือกให้มาเข้าค่ายจากศูนย์บริการวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาคนตาบอด จ.นครราชสีมา พร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน และอาจารย์อีก 2 คน โดยจะคัดเลือกจากนักเรียนที่ไม่ค่อยเก่งและไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนได้มาเรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในห้องเรียน และเข้าใจหลักการวิทยาศาสตร์มากขึ้น

“ได้ทำช็อกโกแลต ได้ทดลองและก็ได้ลุ้นว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ชอบสูตรที่หอมหวานพอดีๆ ได้ทดลองรสชาติและรู้ส่วนต่างๆ ของลิ้นว่ารับรสอะไร เมื่อก่อนก็กินๆ ไป ไม่ได้สนใจ อยู่ที่โรงเรียนอาจารย์ไม่ค่อยมีสื่อ แต่ก็ได้ทดลองวิทยาศาสตร์บ้าง” น้ำผู้ใฝ่ผันอยากเป็นครูภาษาอังกฤษกล่าวพร้อมทั้งบอกอีกว่าได้เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และรู้สึกสนุกกับนิทรรศการแผ่นดินไหวที่ได้สัมผัสความสั่นไหวจริงๆ 8.5 ริกเตอร์

ด้าน ด.ญ.อุบลวรรณ แซ่ปัง หรือ “ตุ๊กตา” นักเรียนชั้น ม.1โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ต้องแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนโรงเรียน ซึ่งรุ่นพี่ที่เคยเข้าค่ายนี้เล่าให้ฟังว่าสนุกและได้ความรู้มาก จึงอยากมาบ้าง

"มาครั้งนี้ก็ได้ทำช็อกโกแลตซึ่งรู้สึกตื่นเต้นมากเกินไป เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่ปกติไม่ชอบรสหวาน" น้องตุ๊กตากล่าว ส่วนการเรียนนั้นเธอบอกว่า ชอบทุกวิชา สำหรับวิทยาศาสตร์ก็สนใจการทดลอง คิดวิเคราะห์ คณิตศาสตร์ก็ชอบหากเรียนเข้าใจ ภาษาไทยก็ชอบการฟัง-พูด นอกจากนี้ยังชอบวิชาพุทธศาสตร์ซึ่งทำให้จิตใจสงบ ซึ่งก็ชอบแต่ละวิชาแตกต่างกันไป

ส่วนการมาค่ายครั้งนี้ ตุ๊กตาเปิดใจว่าได้รู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้นซึ่งนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังได้รู้จักเพื่อนจากต่างจังหวัด ต่างภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน และกิจกรรมรับรู้เรื่องรสนั้นทำให้รู้ว่าลิ้นแต่ละส่วนรับรสที่ตรงไหน เพราะปกติเวลากินข้าวไม่ได้สังเกต เนื่องจากเวลากินเป็นช่วงเวลาเร่งรีบ เช่น ไปโรงเรียนก็ไม่ได้สนใจสังเกตเท่าไหร่

ทางฟากหนุ่มน้อย นายณัฐวิทย์ พูนนวล หรือ “เอ๋” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ก็เรียนได้ แต่วิชาที่ชอบมากที่สุดคือวิชาทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเรื่องการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนก็ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าอาจจะไม่สะดวก แต่มาค่ายครั้งนี้ก็ชอบวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเพราะได้มีส่วนร่วม ถ้าที่โรงเรียนสอนแบบนี้ก็ดี เพราะจะได้รู้สึกว่ามีศักยภาพเท่าคนอื่น

ค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอดนี้จัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 2 โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.),อพวช., สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และบริษัทไมโครซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 48






กำลังโหลดความคิดเห็น