สร้างบ้านอย่างประหยัด รวดเร็ว และปลอดภัยด้วย “บล็อกประสาน” !!! วว.จับมือ ม.เทคโนโลยีมหานคร พัฒนาหามาตรฐานชิ้นงานคุณภาพ ทำไกด์ไลน์แก่ผู้ประกอบการ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ระบุบล็อกประสานกำลังเป็นที่นิยมของตลาด โรงงานผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด พร้อมขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ชี้หากได้ผลดีจะบุกต่อไปยังประเทศเวียดนาม
เมื่อพูดถึง “บล็อกประสาน” หากไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรมแล้ว หลายคนคงอาจจะยังไม่รู้จักกับหน้าค่าตาของสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่นี้ แต่ทราบหรือไม่ว่าบล็อกประสานกำลังเป็นเทรนด์การก่อสร้างที่มีอัตราการเจริญเติบโตชนิดหาตัวจับยากเลยทีเดียว
แต่ก่อนที่เราจะได้ลงในรายละเอียดอื่นๆ กันต่อไป เราลองมาทำความรู้จักกับ “บล็อกประสาน” กันก่อน โดย “บล็อกประสาน” หมายถึง วัสดุก่อรับน้ำหนักที่มีรูและเดือยบนตัวบล็อกเพื่อให้สะดวกในการก่อสร้าง ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินลูกรัง หินฝุ่น ทราย หรือวัสดุเหลือทิ้งต่างๆ นำมาผสมกับปูนซีเมนต์และน้ำในอัตราส่วนที่พอเหมาะ อัดเป็นก้อนด้วยเครื่องอัดและนำมาบ่มให้บล็อกแข็งตัวประมาณ 10 วัน จนได้คอนกรีตบล็อกที่มีความแข็งแกร่ง มีรูปลักษณะพิเศษ สามารถใช้ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น บ้านเดี่ยว โครงการบ้านจัดสรร อาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น หรือก่อเป็นถังเก็บน้ำได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่างานก่อสร้างทั่วไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการมาจากยูเนสโกและประเทศออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 ประกอบกับการวิจัยพัฒนาและการถ่ายทอดวิทยาการสู่ผู้ประกอบการเรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 แต่ทว่ายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าที่เชื่อถือได้ออกมาเป็นกติการ่วมกัน วันนี้ (20 พ.ย.) วว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “งานวิจัยการทดสอบและพัฒนาบล็อกประสาน วว.ในเชิงวิศวกรรม” ขึ้น ณ ห้องประชุม วว. บางเขน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. และ รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร คณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ร่วมลงนาม
วัตถุประสงค์ของการลงนามที่มีกรอบความร่วมมือ 2 ปีนี้ ได้แก่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตบล็อกประสานทั้งตัววัตถุดิบ สูตรการผลิต และเครื่องจักรการผลิต และโดยเฉพาะการวิจัยทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อกำหนดมาตรฐานและข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับบล็อกประสาน ซึ่งจะมีคุณสมบัติขึ้นอยู่กับวัตถุดิบในแต่ละท้องที่ เพื่อให้ได้บล็อกประสานที่มีคุณภาพสอดคล้องกับการใช้งานจริง และรองรับกับความต้องการของตลาดที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ที่จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงงานผลิตบล็อกประสานแล้วกว่า 700 แห่ง และมีปริมาณในท้องตลาดรวม 75 ล้านก้อน
ด้านผู้มีส่วนสำคัญกับการวิจัยพัฒนาบล็อกประสาน คือ นายวิทยา วุฒิจำนงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. พูดถึงข้อดีของบล็อกประสานว่า หากเปรียบเทียบต้นทุนการสร้างบ้านด้วยบล็อกประสานและการก่อสร้างทั่วไปแล้ว การสร้างบ้านด้วยบล็อกประสานจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการก่อสร้างทั่วไปร้อยละ 15-20 ต่อหลัง เพราะการก่อสร้างด้วยบล็อกประสานจะช่วยลดขั้นตอนการก่อสร้างลงได้มาก อาทิ ไม่ต้องฉาบปูน ลดใช้ไม้แบบในการก่อสร้าง และไม่ต้องทาสีสิ่งก่อสร้างอีก โดยบล็อกประสานแต่ละก้อนจะรับน้ำหนักได้ 70 ก.ก./ตร.ซม. หรือราวๆ 21.8 ตันต่อก้อน จึงทำให้มั่นใจได้ในคุณภาพและความแข็งแรงของสิ่งก่อสร้างที่ใช้บล็อกประสานในการก่อสร้าง
ส่วนการลงนามความร่วมมือระหว่าง วว.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครครั้งนี้ นายวิทยา กล่าวว่า ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างเครือข่ายบล็อกประสานไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเกี่ยวกับการผลิตและการใช้งานบล็อกประสาน เช่น เป็นตัวกลางในการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่โรงงานในพื้นที่ผลิตขึ้น โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างมาตรวจสอบยัง วว. ทำให้เกิดความคล่องตัว ซึ่งในเร็วๆ นี้ วว.ยังจะขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ด้วย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และยังจะพยายามประสานไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีให้มาเข้าร่วมเครือข่ายด้วย
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขามองว่า จะเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการผลิตบล็อกประสานมากที่สุด ซึ่งจะต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเป็นที่แรก ก่อนจะขยายไปสู่ภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของโรงงานผลิตบล็อกประสานในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2547 -2548 มีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 70 แสดงถึงการยอมรับในบล็อกประสานที่เพิ่มมากขึ้น ทาง วว.จึงวางเป้าหมายให้มีโรงงานผลิตบล็อกประสานทั่วประเทศอีกราว 1,300 แห่ง เพื่อให้มีการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการ
“ภายในปี พ.ศ.2553 จะต้องเกิดภาพที่ชัดเจนใน 2 เรื่องด้วยกันคือ ด้านผู้ประกอบการ และด้านผู้ให้บริการทางวิชาการที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศที่เข้าถึงได้ง่าย จากนั้นจะขยายการผลิตบล็อกประสานต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวและประเทศเวียดนาม โดยจะนำร่องที่ประเทศลาวก่อน แล้วจึงจะเผยแพร่การผลิตบล็อกประสานไปยังประเทศเวียดนาม พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้ไปลงทุนยังประเทศเวียดนามต่อไป” นายวิทยา พูดทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจการประกอบกิจการบล็อกประสาน สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดหรือขอเข้ารับการอบรมหลักสูตร 1 วันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีการอบรมทุกๆ วันที่ 15 ของทุกเดือน ได้ที่ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชนบท วว. เบอร์โทรศัพท์ 0-2579-1121-30 ต่อ 4101-4104 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ 081-813-9247 และ 081-319-4976 หรือติดตามข้อมูลการอบรมที่ www.blockprasanINFO.com