ชีวิตของ Davy เปรียบเสมือนนวนิยายในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นเวลาที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เพราะ Davy เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2321 (รัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช) ที่เมือง Penzance ในประเทศอังกฤษ บิดาเป็นช่างแกะสลักไม้ที่ชอบเสี่ยงโชค และได้เสียชีวิตลง ขณะ Davy มีอายุ 16 ปี การเป็นบุตรคนหัวปีของครอบครัวที่มีลูก 5 คน และมีหนี้ 1,300 ปอนด์ (ในสมัยนั้น คน 1 คนสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพพอเพียงได้ด้วยเงินปีละ 100 ปอนด์) ดังนั้น Davy จึงต้องหางานทำโดยสมัครเป็นผู้ช่วยในร้านขายยา
Davy มีนิสัยการใช้เงินแตกต่างจากบิดามาก ในส่วนที่เหมือนกันคือ ชอบตกปลา และยิงนก เพราะ Davy มีนิสัยเหมือนมารดา คือ ทะเยอทะยาน ร่าเริง ซึ่งนิสัยนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของ Davy ดีขึ้นจนถึงจุดสูงสุด แล้วจมดิ่งจนถึงระดับหายนะในเวลาต่อมา
ขณะทำงานเป็นพนักงานขายยา ไม่มีใครเคยเฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า เด็กหนุ่มคนนี้ในอีก 10 ปี จะเป็นคนดังของสังคม และเป็นนักเคมีที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เพราะคนอังกฤษในสมัยนั้น เชื่อว่า คนทุกคนหากมีความตั้งใจ และความเพียรเขาก็จะสามารถขึ้นถึงยอดฉัตรได้ ดังนั้น Davy จึงเรียนหนังสือนอกเวลาทำงาน และเมื่อสำเร็จการศึกษา Davy ได้เลือกอาชีพใหม่เป็นครู
การสำรวจสมุดบันทึกการเรียนของ Davy แสดงให้เห็นว่า Davy เรียนวิชาเทววิทยา ภูมิศาสตร์ ตรรกวิทยา ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ละติน กรีก ฮิบรู อิตาเลียน สเปน ฟิสิกส์ วาทศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และคณิตศาสตร์
ข้อสังเกตหนึ่งที่ได้จากการเรียงลำดับวิชาในลักษณะนี้ คือ Davy ให้ความสำคัญกับวิชาเทววิทยามาก และคิดว่าคณิตศาสตร์มีความสำคัญเป็นอันดับสุดท้าย การทุ่มเทสนใจศาสนามาก และคณิตศาสตร์น้อยนี้ ทำให้วิทยาศาสตร์ของ Davy มีปัญหา และนี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ Davy ไม่สามารถเป็นนักเคมีเชิงปริมาณได้
การสนใจภาษา และวาทศาสตร์นั้นก็มีส่วนทำให้ Davy เป็นครูที่สอนหนังสือดี เพราะ Davy มีลีลาการบรรยาย และใช้คำบรรยายที่ลึกซึ้ง มีโคลงกลอนที่ช่วยให้ภาษาไพเราะและมีอุปมาอุปไมยมากมาย ดังนั้น วิชาเคมีที่ Davy สอนจึงสีสัน และเป็นที่ชื่นชม แทนที่จะมีแต่กลิ่นเน่าเหม็น และเสียงระเบิดของสารเคมี และในการสอนนั้น Davy ได้ย้ำว่า คนที่เข้าใจเคมี ก็จะเข้าใจสสาร
ในปี 2340 ขณะอายุ 19 ปี Davy ได้อ่านตำรา Traite elementaire de Chimie ของ Lavoisier แต่เขามิได้เพียงอ่านอย่างเดียว เขาได้ทดลองสิ่งที่เขียนในตำราด้วย ทำให้ได้พบความรู้ใหม่ ๆ เช่นว่า ความร้อนเกิดจากการเคลื่อนที่ของสสารแต่ความร้อนมิใช่สสาร
ในช่วงเวลานั้น โลกรู้ผลการทดลองเรื่องไฟฟ้าของ Galvani และ Volta แล้ว ดังนั้น ในปี 2343 เมื่อ Nicholson และ Carlisle ผ่านกระแสไฟฟ้าลงน้ำ คนทั้งสองได้พบว่า น้ำแยกตัวเป็นออกซิเจนกับไฮโดรเจน Davy จึงลองทำตามบ้าง แต่เขาผ่านกระแสไฟฟ้าลงสารละลายอื่นที่ไม่ใช่น้ำ และพบว่า สารละลายเหล่านั้นแตกตัวด้วย เช่น ในปี 2350 Davy พบธาตุ potassium จากการแยกสารประกอบ potash พบ sodium จากการแยกเกลือแกง และพบ magnesium, calcium, strontium และ barium ในปี 2351 ความสำเร็จจากการพบธาตุใหม่ๆ โดยการใช้กระแสไฟฟ้า ทำให้ Davy ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาของวิชา electrochemistry
Davy ยังได้ทดลองศึกษาผลของก๊าซผสมต่อสิ่งมีชีวิต โดยการให้คนหายใจก๊าซผสมระหว่างไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนอกไซด์ และให้หายใจก๊าซ nitric oxide ด้วย แต่เมื่อก๊าซนี้กระทบความชื้นในปอด มันเปลี่ยนเป็นกรด nitric เหตุการณ์นี้ทำให้ Davy เกือบเสียชีวิตเพราะปอดอักเสบ
ในปี พ.ศ. 2344 Count Rumford และ Benjamin Thompson สองนักวิทยาศาสตร์ ผู้ยิ่งใหญ่ ได้แจ้งความต้องการหาคนหนุ่มไฟแรงมาทำงานที่ Royal Institution Davy วัย 23 ปี ผู้มีลีลาการบรรยายเคมีอย่างน่าประทับใจเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เขาจึงเดินทางมา London และได้สมรสกับ Jane Apreece ผู้เป็นแม่ม่ายที่มีฐานะดี Davy พบว่าทุกครั้งที่เขาบรรยายวิชาการจะมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อ Michael Faraday มานั่งฟัง และได้จดบันทึกสิ่งที่ Davy พูดอย่างละเอียด จนทำให้ Davy รู้สึกพอใจและประทับใจมาก ดังนั้น เมื่อสารเคมีทำให้ตา Davy อักเสบ เขาจึงประกาศหาผู้ช่วย และเมื่อ Faraday สมัคร Davy ก็รับ Faraday เข้าทำงานทันที ทั้งสองได้เดินทางไปฝรั่งเศสในปี 2356 เพื่อรับรางวัลจากจักรพรรดิ Napoleon และขณะพักอยู่ที่ Paris คนทั้งสองได้พบ Gay Lussac
เมื่อกลับถึงอังกฤษ Davy ได้หันมาสนใจเคมีเชิงเกษตร และทำการทดลองเคมีเชิงไฟฟ้า จนพบธาตุใหม่หลายชนิด และ Davy ได้รายงานผลงานวิจัยเหล่านี้ในตำรา Elements of Chemical Philosophy ผลงานชิ้นนี้นับเป็นผลงานเคมีชิ้นสุดท้ายในชีวิตทำงานของ Davy และถึงแม้ Dalton จะเสนอทฤษฎีอะตอมในเวลาต่อมา แต่ Davy ก็ปฏิเสธการยอมรับทฤษฎีของ Dalton อย่างสิ้นเชิง
ในปี 2358 ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า Davy ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัยให้ชาวเหมืองใช้ ซึ่งมีประโยชน์มาก และผลงานชิ้นที่ทำให้ Davy ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของ Royal Society และ Prince Regent ได้ทรงแต่งตั้งให้ Davy มีฐานันดรศักดิ์เป็น Sir
แต่หลังจากนั้น Davy ก็หลบหนีสังคม ไม่สอนและไม่บรรยายใด ๆ จะสนใจก็แต่เรื่องยิงนก ตกปลาเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเบื่อวิทยาศาสตร์
บทบาทสำคัญสุดท้ายของ Davy คือเป็นนายกของสมาคม Royal Society และได้ขัดขวางไม่ให้ Faraday เป็นสมาชิกถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่า ไม่เห็นด้วยที่ Faraday อ้างเป็นบุคคลแรกที่ประสบความสำเร็จในการทำคลอรีนเหลว ซึ่งเกียรติดังกล่าวน่าจะเป็นของตนมากกว่า เหตุการณ์ยับยั้งนี้ ณ วันนี้ นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่าเกิดจากการที่ Davy อิจฉา Faraday เพราะ Faraday เก่งกว่า และเป็นที่ยอมรับมากกว่า แต่ในที่สุด Faraday ก็ได้รับการคัดเลือกเป็น FRS ในปี 2367
ในฐานะที่เป็นนายกของสมาคม Royal Society Davy รู้สึกกังวลใจที่สมาชิกหลายคนไม่ตีพิมพ์ผลงาน เพราะสุขภาพ Davy ไม่ดีจากการสูดดมก๊าซพิษต่าง ๆ Davy จึงอพยพครอบครัวไป Rome และสิ้นชีวิตที่ Geneva เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2373 ขณะอายุ 51 ปี
ณ วันนี้ที่เมือง Penzance ใน Cornwall มีอนุสาวรีย์หินอ่อนของ Davy ที่จัตุรัสกลางเมืองในฐานะคน Penzance ที่มีชื่อเสียงที่สุด
ในวารสาร Transactions of the Newcomen Society ฉบับที่ 76 หน้า 175 ปี 2548 Frank James ได้รายงานว่า ถึงแม้โลกจะยอมรับว่า ตะเกียงนิรภัยของ Davy จะช่วยชีวิตคนเหมืองให้สามารถขุดเหมืองได้ลึกขึ้น ขุดถ่านหินได้มากขึ้น อันเป็นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์อย่างเห็นคุณค่าได้ชัด แต่สมุดบันทึกห้องปฏิบัติการของ Davy ไม่ได้พูดถึง หรือเขียนถึง ตะเกียงนี้เลย เหตุการณ์นี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ คิดว่า คนบางคนได้ทำลายหลักฐานตะเกียง เพราะถ้าความจริงเผยก็จะปรากฏว่า Davy เป็นคนที่ขโมยความคิดของคนอื่นมาเป็นของตัว
ในสมัยก่อนปี พ.ศ. 2355 ชาวเหมืองมักใช้เทียนไขธรรมดาส่องให้ความสว่างในเหมือง ซึ่งไม่มีระบบระบายอากาศที่ดี ดังนั้น เมื่ออุโมงค์เหมืองมีก๊าซ methane ออกมาเปลวไฟจากเทียนไขจะทำให้ก๊าซชนิดนี้ติดไฟ มีผลทำให้เหมืองระเบิด จนคนงานเหมืองล้มตายหมด เหตุการณ์นี้น่ากลัวมากแม้แต่ Duke Nicholas แห่ง Russia ก็มิทรงกล้าเดินในอุโมงค์เหมือง เพราะทรงคิดว่าเหมือนการเดินลงนรก
แต่ Frank James แห่ง Royal Institution กลับคิดว่า เมื่อ 200 ปีก่อนนั้น Davy มีชื่อเสียงมากจนไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ หรือบังอาจแตะ แต่เมื่อถึงวันนี้ ประวัติศาสตร์สมควรได้รับการแก้ไข หากผิดพลาด
เพราะในฤดูร้อนของปี 2358 ขณะ Davy พำนักอยู่ที่ Scotland สมาชิกของสมาคม Society for Preventing Accidents ได้เดินทางมาหานักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค เพื่อขอให้ช่วยหาวิธีป้องกันอุบัติเหตุในเหมือง เพราะอุบัติเหตุเกิดบ่อย อุตสาหกรรมแร่จึงไม่เจริญ เพราะชาวเหมืองกลัวตาย
Davy รับปากช่วย และเดินทางกลับ London เมื่อถึงห้องปฏิบัติการเขาก็เริ่มทดลอง และในเวลาเพียง 2 อาทิตย์ เขาก็ได้พบว่า ก๊าซจะไม่ระเบิดถ้ามันอยู่ในหลอดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางสั้นกว่า 1/8 นิ้ว ดังนั้น ถ้าใช้ท่อทรงกระบอกที่มีลวดตาข่ายแทนท่อแก้วแล้วให้ก๊าซผ่าน ก๊าซก็จะไม่ระเบิด
แต่ Davy รู้สึกไม่สบายใจเมื่อรู้ว่า มีคนพูดว่า George Stephenson (ผู้สร้างหัวรถจักรไอน้ำ) แห่งเมือง Newcastle อ้างว่า Davy ขโมยความคิดของตน เพราะคนทั้งสองไม่ได้จดสิทธิบัตร ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องพึ่งศาลในการตัดสิน ถึงกระนั้น Davy ก็อ้างว่า การที่ตนไม่จดสิทธิบัตร เพราะต้องการให้ตะเกียงช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์โดยไม่ต้องจ่ายเงินซื้อแพง การมีอิทธิพลด้านวิชาการมาก และมีเพื่อนที่มีบารมีหลายคน ทำให้ Davy ได้รับความเชื่อถือว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ตะเกียงนิรภัย
ด้วยเหตุนี้ Frank James จึงมิได้พบหลักฐานการออกแบบของตะเกียงนิรภัยโดย Davy เลย และแม้แต่จดหมายธรรมดา ๆ Davy ก็ไม่ได้เขียนเล่าเรื่องนี้ James จึงไปที่ Royal Society และเห็นต้นแบบตะเกียงที่ Davy สเกตช และก็พบว่า ถ้า Davy ออกแบบลักษณะนั้น ตะเกียงนั่นแหละจะฆ่าคนเหมือง
ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่า Davy ขโมยความคิดของ Stephenson
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท