xs
xsm
sm
md
lg

อ.ชิตหวังให้เด็กเข้าใจ “หุ่นยนต์” ไม่ใช่แค่ความคิดจากฮอลลีวูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา
อ.ชิตเผยอยากให้เด็กเข้าหลักการหุ่นยนต์จริงๆ ไม่ใช่แค่ความคิดที่แปดเปื้อนมาจากฮอลลีวูด ด้าน FIBO พร้อมสร้างกิจกรรมจุดประกายความคิดหุ่นยนต์แก่เด็กต่อเนื่อง 3 ปี พร้อมนำเสนอหุ่นยนต์เดินได้จากไม้ไอติม

วันที่ 17 พ.ย.นี้ มีการลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ระหว่างศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทั้งนี้จะมีการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์และกิจกรรมพิเศษสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการและผลงานทางด้านหุ่นยนต์ตลอด 3 ปีของระยะเวลาความร่วมมือ

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการ FIBO เปิดเผยภายหลังที่มีการลงนามว่า คาดหวังให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้เข้าใจกุญแจสำคัญของเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์ ไม่ใช่เพียงความคิดที่แปดเปื้อนมาจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด จากนั้นก็หวังว่าเด็กที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์นั้นจะมีความสามารถในการเข้าถึงความรู้เองได้ รวมถึงสามารถถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ ทั้งนี้ได้เคยให้นักเรียนมัธยมมาบรรยายให้ความรู้นักศึกษาปริญญาเอก เพราะมีความรู้ดีทางด้านเซนเซอร์เนื่องจากได้ลงมือในการปฏิบัติจริง

ทางด้าน นายวงศกร ลิ้มศิริ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ ซึ่งผ่านการประดิษฐ์เครื่องบินบังคับอัตโนมัติเพื่อใช้ในการสำรวจมา 4-5 ลำแล้ว คิดว่าโครงการสนับสนุนทางด้านหุ่นยนต์ระหว่าง FIBO และ TMC นี้เป็นโครงการที่ดี เพราะไม่ค่อยเห็นโครงการที่สนับสนุนเรื่องหุ่นยนต์อย่างจริงๆ จังๆ การมีโครงการดังกล่าวก็คิดว่าจะช่วยให้มีการพัฒนาหุ่นยนต์ได้มาก

นอกจากนี้ FIBO จะได้จัดกิจกรรมที่จุดประกายความคิดด้านหุ่นยนต์ให้กับเยาวชนมากขึ้น โดยเริ่มจากหุ่นยนต์เดินได้ที่ประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น ไม้ไอติม ไม้เสียบลูกชิ้น และกระดาษลูกฟูก เป็นต้น ซึ่ง นายปิติวุฒญ์ ธีรกิติกุล นักวิจัยจาก FIBO กล่าวว่า หุ่นยนต์ประดิษฐ์จะช่วยจุดประกายความคิดเยาวชนว่าหุ่นยนต์ไม่ยากอย่างที่คิด อีกทั้งยังทำให้เยาวชนเห็นว่าสามารถเอาสิ่งต่างๆ รอบตัวมาประดิษฐ์เป็นหุ่นยนต์ได้

การประดิษฐ์หุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้มี 2 ส่วนด้วยกันคือ 1.โครงสร้างหุ่นยนต์ ใช้ไม้ไอติมและไม้เสียบลูกชิ้นเป็นขาของหุ่นยนต์ 2.ระบบไฟฟ้า ซึ่งต่อมอเตอร์เข้ากับแบตเตอรี่ แล้วนำมาประกอบเป็นหุ่นยนต์เดินได้ ทั้งนี้นายปิติวุฒญ์กล่าวว่าแม้หุ่นยนต์จะประดิษฐ์ได้ง่าย แต่ขั้นตอนการคิดยาก เพราะต้องใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับการทำงานของหุ่นยนต์ และก็ใช้เวลาเป็นเดือนทดลองประดิษฐ์จนได้หุ่นยนต์ที่เดินได้จริง

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าหุ่นยนต์เป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่ยาก เพราะนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นหุ่นยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เดินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ อย่างไรก็ดีคาดหวังว่าที่สุดแล้วเยาวชนที่เรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์นั้นจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
การลงนามความร่วมมือระหว่าง FIBO และ TMC


กำลังโหลดความคิดเห็น