เอเจนซี/บีบีซีนิวส์/เอพี -นักวิทยาศาสตร์ลำดับเบสเอ็นเอจากกระดูกขาของมนุษย์ดีอันเดอทัลอายุ 38,000 ปีพบคล้ายกับมนุษย์ถึง 99.5% โดยข้อมูลทางพันธุกรรมนั้นแสดงให้เห็นว่านีอันเดอร์ทัลเป็นญาติที่หายไปของมนุษย์ยุคใหม่ รออีก 2 ปีหลังถอดแผนที่พันธุกรรมได้สำเร็จ หวังนำมาเทียบชิมแปนซี-คน-นีอันเดอร์ทัลหาความสัมพันธ์แห่งวิวัฒนาการ
มนุษย์นีอันเดอร์ทัล (Neanderthal man : Homo neanderthalensis) หนึ่งในมนุษย์อีกประเภทที่มีการค้นพบ คาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 150,000-35,000 ปีก่อน โดยมนุษย์นีอันเดอร์ทัลและมนุษย์ยุคใหม่ (Modern Humans : Homo sapiens) หรือมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon) อย่างพวกเรา ต่างแยกสายพันธุ์ออกจากโฮโมอิเรกตัส (Homo erectus) ที่ย้ายออกจากแอฟริกาเมื่อ 1.5 ล้านปีก่อน และกระจายตัวไปทั่วโลก
ส่วนนีอันเดอร์ทัลพบหลักฐานว่า อาศัยอยู่ในยุโรปและตะวันออกกลางเมื่อ 30,000 ปีก่อน จากนั้นมนุษย์โครมันยอง (Cro-Magnon) บรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบันได้อพยพออกจากแอฟริกาเมื่อ 10,000 ปีก่อน มีงานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่ามนุษย์นีอันเดอร์ทัลนั้นมีความชาญฉลาดและลักษณะใกล้เคียงกับบรรพบุรุษมากกว่ามนุษย์อย่างพวกเรา
ที่สำคัญนีอันเดอร์ทัลสูญพันธุ์ไปช่วงไหนและมีความสัมพันธ์กับมนุษย์ยุคปัจจุบันอย่างไร เป็นที่ถกเถียงกันมานาน โดยนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าน่าจะมีการผสมข้ามสายพันธุ์ (interbred) เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ 2 กลุ่มนี้ เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กัน
งานวิจัยล่าสุดที่ลงตีพิมพ์ลงทั้งในวารสาร "เนเจอร์" (Nature) และ "ไซนส์" (Science) ได้ประมาณการว่ามนุษย์ยุคใหม่และมนุษย์นีอันเดอร์ทัลต่างแยกมาจากบรรพบุรุษเมื่อประมาณ 370,000 – 500,000 ปีก่อน และมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ปัจจุบันมาก
ด้วยการใช้เทคนิคการลำดับดีเอ็นเอ ทำให้สามารถวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมจากชิ้นส่วนของนีอันเดอร์ทัล โดยมี 2 คณะวิจัยศึกษาในเรื่องนี้ แต่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันไป
งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของทีมเอ็ดเวิร์ด รูบิน (Edward Rubin) สถาบันร่วมวิจัยทางพันธุกรรม ในวอล์นัท ครีค แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ (Joint Genome Institute in Walnut Creek, California) รายงานลงตีพิมพ์ในวารสารไซนส์ โดยใช้เทคนิคเมทาจีโนมิก (metagenomic) ลำดับเบส 65,250 คู่จากดีเอ็นเอของนีอันเดอร์ทัล
รูบินวิเคราะห์ว่า เมื่อประมาณ 120,000 – 670,000 ปีก่อน นีอันเดอร์ทัลได้แยกสายวิวัฒนาการออกจากโฮโมเซเปียนส์ ทว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ยุคใหม่กับนีอันเดอร์ทัลนั้น เขายังไม่สรุป เพราะไม่เห็นหลักฐานของการผสมสายพันธุ์ในช่วง 40,000 - 30,000 ปีก่อนในยุโรป แต่ก็ไม่ได้ทิ้งข้อสันนิษฐานดังกล่าว เพียงแต่ว่ายังไม่มีหลักฐานมายืนยัน
ขณะที่การศึกษาของอีกทีมเป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสหรัฐฯ เยอรมนีและโครเอเชีย นำโดยสวานเต ปาโบ (Svante Paabo) จากสถาบันวิวัฒนาการและมานุษยวิทยา แมกซ์ พลังก์ (Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology) ในเยอรมนี ใช้วิธีลำดับข้อมูลดีเอ็นเอที่เรียกว่า “ไพโรซีเควนซิง” (pyrosequencing) เพื่อวิเคราะห์ลำดับเบสมากกว่า 1 ล้านคู่ในดีเอ็นเอของนีอันเดอร์ทัล
ในสารพันธุกรรมของมนุษย์ประกอบไปด้วยสารนิวคลีโอไทด์ที่เป็นเบส 3.2 พันล้านตัว และถูกจัดกลุ่มให้เป็นหน่วยถ่ายพันธุกรรมจำนวน 30,000 ยีน
“พวกเราค้นพบว่ารหัสพันธุกรรมของมนุษย์และนีอันเดอร์ทัลมีความเหมือนกันอย่างน้อย 99.5%” รายงานของปาโบระบุไว้ในวารสารเนเจอร์ ทั้งนี้ปาโบเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ค้นพบและลำดับเบสดีเอ็นเอของนีอันเดอร์ทัลได้สำเร็จในปี 2540 และเป็นคนแรกที่ให้ความเห็นว่า มนุษย์นีอันเดอร์ทัลไม่ได้ผสมข้ามพันธุ์กับมนุษย์ยุคใหม่แต่อย่างใด
"ผมคิดว่าข้อมูลที่ได้จากการลำดับเบสเป็นเสมือนเครื่องย้อนเวลาดีเอ็นเอ ที่จะช่วยบอกพวกเราเกี่ยวกับชีววิทยา และลักษณะที่พวกเราไม่สามารถวิเคราะห์ได้จากซากกระดูกของพวกเขา" รูบินกล่าว
การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของปาโบและรูบินต่างก็แสดงความเห็นว่ามนุษย์ทั้ง 2 สายพันธุ์มีความเกี่ยวพันทางเพศเพียงเล็กน้อย อย่างน้อยก็ปรากฎหลักฐานในยีนที่ได้จากชายนีอันเดอร์ทัลที่ค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่โครเอเชีย
ทีมงานของปาโบได้จัดชนิดตัวอย่างของนีอันเดอร์ที่มีอยู่กว่า 70 ชิ้น ก่อนที่จะพบชิ้นส่วนกระดูกขาที่สมบูรณ์พอที่จะสกัดดีเอ็นเอออกมาวิเคราะห์ได้ กระทั่งสามารถระบุเพศของเจ้าของกระดูกว่าเป็นผู้ชาย เนื่องจากพบโคโมโซมวาย (Y) ตัวหนึ่งในดีเอ็นเอ
ปาโบใช้บริการลำดับเบสดีเอ็นเอจาก 454 ไลฟ์ ไซนแอนเซส คอร์เปอเรชัน (454 Life Sciences Corporation) เพราะบริษัทแห่งนี้มีวิธีการที่ละเอียด และเชื่อว่าจะสามารถถอดแผนที่พันธุกรรมฉบับสมบูรณ์ของนีอันเดอร์ทัลนายนี้ได้สำเร็จภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ลำดับเบสดีเอ็นเอของนีอันเดอร์ทัลเหมือนกับมนุษย์ถึง 99.95% ขณะที่ลำดับเบสของชิมแปนซีเหมือนมนุษย์เพียง 98% แต่ชิมป์แยกออกจากสายบรรพบุรุษเดียวกับมนุษย์เมื่อประมาณ 6-7 ล้านปีก่อน
เมื่อถอดแผนที่พันธุกรรมของนีอันเดอร์ทัลได้สำเร็จ นอกจากจะได้รู้ถึงลักษณะรูปร่างของมนุษย์โบราณชนิดนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังมีโอกาสศึกษากลไกสมอง และเมื่อนำไปเทียบกับพันธุกรรมของมนุษย์และชิมแปนซีก็จะทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าว่าเหตุใดมนุษย์ยุคใหม่มีลักษณะที่พิเศษต่างออกไป