xs
xsm
sm
md
lg

วช.ถกปัญหา "เด็กติดเกม" กระตุ้นนักวิจัยหันศึกษาภัยไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วช.เปิดสัมมนาจุดประกายทำวิจัยลดภัยไอที-แก้ปัญหาเด็กติดเกม ดึงนักเรียน-ครู-ผู้ปกครองร่วมเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข เชื่อแนวโน้มปัญหารุนแรงขึ้นแต่ยังไม่มีหลักฐานวิชาการยืนยัน ด้านครูเผยพฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไป จับกลุ่มคุยกันแต่เรื่องเกม ไม่ชอบคิดตอบคำถามเรื่องการเรียน ยิ่งน่ากังวลเมื่อปัญหากระจายสู่เด็กในชั้นเรียนต่ำๆ มากขึ้น ส่วนเด็กเคยติดเกมเผยพ่อ-แม่ไม่ควรดุด่าแต่ควรให้กำลังใจลูก

ปัญหาเด็กติดเกม ผู้ใหญ่ดูสื่อลามก หรืออาชญากรรมจากการล่อลวงผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าคือ “ปัญหา” แต่ก็ยังไม่มีแนวทางแก้ไขออกมาเสียที ทางสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงจัดสัมมนา “วิกฤตสังคมอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสารสนเทศและแนวทางแก้ไข” ขึ้นในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น เพื่อจุดประกายให้นักวิจัยได้สนใจทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในหัวข้อดังกล่าว ทั้งนี้ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งนักเรียน ครู-ผู้ปกครอง จิตแพทย์กว่า 300 คน มาร่วมสัมมนาและให้ภาพของปัญหา

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่พึ่งทางด้านไอทีมาก ทำให้วิถีชีวิตคนในสังคมต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิตอลมากขึ้น จึงอยากให้มีงานวิจัยทางสังคมที่เรียกว่า Ecology-Systems หรือ Eco-Systems มากขึ้น เพื่อจะได้รับรู้ว่าคนในสังคมอนาคตจะเป็นอย่างไร และสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะว่าไอทีทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงและกระทบกับวิถีชีวิตคนในสังคม เช่น การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต การใช้บัตรเครดิต การถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัลหรือมือถือ เป็นต้น

สิ่งแวดล้อมทางไอทีกระทบกับคนรุ่นใหม่มากกว่าผู้ใหญ่เพราะเขาเข้าถึงก่อน เราจึงอยากให้เขาได้สะท้อนปัญหาในฐานะที่ใกล้ชิดกับปัญหามากกว่าผู้ใหญ่ แต่จริงๆ กับผู้ใหญ่เองก็มีปัญหาเหมือนกัน" รศ.ยีนกล่าว อีกทั้งเชื่อว่าว่าปัญหาน่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้น เพียงแต่ยังไม่มีหลักวิชามารองรับ

"ไม่รู้ลำดับความสำคัญของปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร ป้องกันอย่างไร มีความรุนแรงแค่ไหน ก็อยากให้มีการวิจัย และอยากให้นักวิจัยได้รู้ว่าทาง วช.ยินดีสนับสนุนการทำวิจัยในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเราก็เห็นแค่ข่าวคราวในหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่เห็นมีงานวิจัยออกมา หรืออาจจะมีแต่เราไม่รู้” รศ.ยืนกล่าว แต่ทาง วช.ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณในการวิจัยในประเด็นนี้ เพราะเพิ่งเริ่มต้นและต้องการให้นักวิจัยได้ทราบว่า วช.พร้อมสนับสนุน

เบื้องต้น รศ.ยืนกล่าวว่า การแก้ปัญหานั้นควรเปิดเวทีให้เด็กมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดปัญหามากที่สุด และการแก้ปัญหาไม่ควรใช้การ “ห้าม” หรือปิดกั้น การห้ามใช้ ห้ามดูเป็นการแก้ที่ไม่ถูก แต่ควรค่อยๆ ดึงและแบ่งเวลาให้เด็ก สร้างกิจกรรมดีๆ แทรกเวลาเล่นเกมของเด็ก ให้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น กิจกรรมออกค่าย กีฬาหรือสันทนาการที่เด็กสนุกรื่นเริง แต่ถ้าเปิดเป็นกิจกรรมด้านการเรียนเด็กจะเครียด ปัญหาเด็กติดเกมทุกวันนี้เกิดจากเด็กมีความเครียดและการแข่งขันสูง และเราไปเพิ่มความเครียดให้กับเด็ก เขาจึงไประบายออกที่เกม

ส่วน พลโทวิชิต สาทรานนท์ เจ้ากรมแผนที่ทหาร และประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ กล่าวว่าความก้าวหน้าทางด้านไอทีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนผู้ใช้ต้องตามให้ทัน ขณะเดียวกันก็เกิดด้านลบที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ในระดับครอบครัวก็เป็นเรื่องของเด็กใช้อินเทอร์เน็ต เล่นเกม ซึ่งพ่อ-แม่เป็นทุกข์มาก ระดับที่กว้างขึ้นมาก็มีการล่อลวงผ่านอินเตอร์เน็ต หรือระดับชาติก็มีการส่งข้อมูลกันโดยไม่มีการควบคุม หรือบางกลุ่มก็ใช้ข้อมูลเหล่านี้โจมตีทางการเมืองซึ่งกัน เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกคนก็บอกว่าน่าห่วงแต่ก็ยังไม่เห็นทางแก้ไขเสียที

ด้าน น.ส.อนงค์นาฏ ชินวงศ์ อาจารย์วิชาคอมพิวเตอร์ในระดับประถม-มัธยมของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่อง “เด็กติดเกม” ว่า ผลกระทบคือพฤติกรรมเด็กเปลี่ยนไป เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเด็กก็เล่นเกมออนไลน์ แต่ยังมีพฤติกรรมปกติเพราะมีเวลาจำกัดเพียง1-2 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันเด็กมีคอมพิวเตอร์กันทุกบ้าน ทำให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือเด็กเก็บตัวมากขึ้น มีโลกส่วนตัวและไม่ชอบตอบคำถาม บางคนเก็บตัวเล่นเกมและไม่คุยกับผู้ปกครอง

“เด็กบางคนก็ถามว่า ‘อาจารย์มีเอ็ม (MSN Messenger) ไหม’ เราก็เลยได้เข้าไปคุยกับเขาทำให้ทราบปัญหา เมื่อก่อนเจอปัญหาในเด็ก ม.3 ซึ่งกำลังเข้าวัยรุ่นและปัญหาค่อนข้างรุนแรง ส่วน ม.5-6 ก็เริ่มน้อยลง เพราะต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นในเด็ก ป.5-6 ปัญหาเริ่มกระจายสู่ชั้นที่ต่ำลง บางบ้านพี่ชายเล่นก็เล่นตามพี่ แล้วมาชวนเพื่อนที่โรงเรียนเล่น ปัญหาก็กระจายมากขึ้น นอกจากนี้พบว่าเด็กไม่สนใจเรียน และจะจับกลุ่มคุยแต่เรื่องเกม” น.ส.อนงค์นาฏกล่าว

ในส่วนของ นางศิริรักษ์ เกษมสุขวรรัตน์ ผู้ปกครองของ ดช.ณัฐ ตรีนก หรือน้องดรีม นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ลูกชายเคยติดเกมว่า ตอนน้องดรีมอยู่ ป.4 มีปัญหาติดเกมและมีความก้าวร้าว จึงพยายามหาวิธีแก้ โดยเริ่มจากให้เข้าค่ายอบรมแก้ปัญหาเด็กติดเกมของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งแรกๆ ลูกก็ไม่พอใจและยังไม่ได้ผลนักแต่ก็เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมให้ทำ โดยให้ไปเรียนดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จนมีความสามารถในการเล่น พิณ จะเข้ ขิม และกำลังจะเริ่มเล่นดนตรีสากล อีกทั้งยังใช้เป็นความสามารถพิเศษสมัครเข้าเรียนมัธยมได้เป็นอันดับ 1 ด้วย

“ในฐานะผู้ปกครองก็ให้กำลังใจลูก และหากิจกรรมให้ทำ เสาร์-อาทิตย์ให้เรียนดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ จนกลายเป็นความสามารถพิเศษที่ใช้สมัครเข้าเรียนได้ ก็ภูมิใจในตัวตัวเขา” นางศิริรักษ์กล่าว พร้อมกันนี้ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองที่มีลูกติดเกมว่าสิ่งแรกที่ลูกอยากได้คือกำลังใจ จึงไม่ควรบ่น ดุด่าหรือลงโทษ แล้วค่อยๆ พูดหรือค่อยๆ สอดแทรกกิจกรรมให้ลูกทำ อาจจะเป็นด้านบันเทิงหรือกีฬาก็ได้

ขณะที่น้องดรีมเผยว่าเคยติดเกมออนไลน์ประเภทฆ่ากัน โดยเพื่อนพาไปเล่นตอน ป.4 แรกๆ ก็สนุกแต่หลังจากที่เลิกได้ก็รู้สึกว่าเกมน่าเบื่อเพราะมีแต่ยิงกัน ทั้งนี้การทำกิจกรรมหรือออกค่ายทำให้ได้เจอเพื่อนเยอะ การเล่นดนตรีก็ทำให้ได้ประสบการณ์ ได้ออกงานบ่อย บางครั้งได้เดินทางไปต่างจังหวัดและได้เงินด้วย พร้อมกันนี้ได้ให้ความเห็นต่อผู้ปกครองที่มีลูกติดเกมว่า ไม่ควรดุด่าลูกมากเกินไปเพราะลูกจะเบื่อ และควรให้กำลังใจลูกเยอะๆ

ปัญหาเด็กติดเกมส่วนหนึ่งในทัศนะของ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กไม่สามารถสร้างสังคมในโลกของความเป็นจริงได้ จึงไปสร้างสังคมในโลกเสมือนของเกม และยิ่งเข้าไปก็ยิ่งห่างจากความเป็นจริง ขณะเดียวกันโลกเสมือนก็ไม่ใช่โลกที่สมบูรณ์ เด็กจำเป็นต้องฝึกทางกายภาพในโลกของความเป็นจริงด้วย

พร้อมกันนี้ นพ.บัณฑิตได้เสนอแนวทางที่อาจจะเป็นหัวข้อให้ศึกษาและวิจัยปัญหาเด็กติดเกมต่อไปว่า ควรศึกษาผลกระทบเพื่อบอกสังคมให้ชัดเจนว่าปัญหามากมายแค่ไหน บางปัญหาที่แฝงเร้นก็ควรให้สังคมได้รับรู้ ทั้งนี้ไอทีเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งก็คงมีคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ศึกษาอัตราการติดเกมว่า แต่ละเกมทำให้เด็กติดเร็วแค่ไหน จะได้หาทางแก้ไข และศึกษาวิธีที่จะดึงให้เด็กได้ภูมิใจเหมือนในเกม

นอกจากปัญหา “เด็กติดเกม” แล้ว ความก้าวหน้าทางด้านไอทียังส่งผลกระทบต่อสังคมอีกหลายด้าน ซึ่ง พ.ต.ท.ดรัณ จาดเจริญ สารวัตรกลุ่มงานตรวจสอบฯ ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ยกตัวอย่างของปัญหาในสังคมที่เกิดจากไอที เช่น การแชทและล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต การแทงบอลออนไลน์ การตรวจสอบเว็บอนาจาร และล่าสุดมีการแอบติดตั้งกล้องในรถเข็นของห้างสรรพสินค้า การเผยแพร่คลิปอนาจารที่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น หรือข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย การขโมยข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ อีกทั้งก็เริ่มมีการขโมยอีเมลและรหัสผ่าน เป็นต้น

การป้องกันนั้น พ.ต.ท.ดรัณ แนะว่ามี 2 ทางคือ 1.ทางกายภาพ เช่น การบล็อกบางเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม การกรองเว็บไซต์ไม่ให้เยาวชนออกไปยังเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็ป้องกันได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่เก่งทางด้านไอทีนัก ขณะเดียวกันพ่อ-แม่ก็ต้องสอดส่องดูแลบุตรหลาน เพราะบางรายอาจจะแชทกับคนร้ายภายในห้องนอนและถูกล่อลวงออกไปในที่สุด

อีกทางคือด้านจริยธรรม ที่ต้องปลูกฝังให้บุตรหลานเข้าใจว่าข้อมูลในโลกไซเบอร์นั้นเป็นข้อมูลทีไม่ได้กลั่นกรอง ไม่ปล่อยให้เขาใช้โดยไม่กำกับดูแลซึ่งเหมือนการยืนมีดให้บุตรหลานโดยไม่ดูแล ส่งเสริมให้เด็กเล่นเกมอย่างมีคุณธรรมคือให้เขาได้ฝันฝ่าอุปสรรคเพื่อไปถึงชัยชนะ ไม่ใช่ใช้วิธี “โกง” พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ดรัณได้ให้ความเห็นว่า สุดท้ายต้องมีคนเข้ามากำกับดูแลอย่างจริงจัง เพราะหลายครั้งที่ตำรวจพยายามเข้าไปแก้ปัญหาแต่ก็ติดและไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้
รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล
การแบ่งกลุ่มอภิปรายปัญหาสังคมทางด้านไอที
นางศิริรักษ์ เกษมสุขวรรัตน์ และ ดช.ณัฐ ตรีนก



กำลังโหลดความคิดเห็น