โชว์ผลงานวิจัยฝีมือครูวิทย์ฯ ไทย “บอกบ๊อดไม้ขีดไฟโบราณ-บั้งโพล๊ะกับโปรเจ็กไทล์” เพิ่มนิยาม “ครูวิทย์ฯ” ให้เป็นทั้งครูและนักวิจัยไปในเวลาเดียวกัน หวังเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนถ่ายทอดสู่นักเรียนได้ใช้ประโยชน์และร่วมสืบทอดจิตสำนึกรักบ้านเกิด
มักเป็นที่กล่าวถึงกันในแง่ลบเสมอๆ ว่า การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในบ้านเราเป็นจุดอ่อนสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเรื่อยมา และทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ล้าหลังทางเทคโนโลยีมาโดยตลอด ทั้งนี้ยังมีผู้กล่าวกันมากว่า ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับตัวผู้เรียน ไกลตัว และเน้นการท่องจำเป็นหลัก จนทำให้ผู้เรียนไม่สามารถนำไปเชื่อมโยงใช้ในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด
ทว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็ได้มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้กันอยู่บ้าง โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดทำ “โครงการวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น” ขึ้น เพื่อให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างเปิดกว้างแก่ครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศได้เข้าร่วมโครงการและทำงานวิจัยของตัวเอง จึงทำให้ครูวิทยาศาสตร์ได้มีสถานะเพิ่มขึ้นจากครูผู้สอนมาเป็นครูนักวิจัยไปในตัว ก่อนที่จะนำสิ่งใกล้ตัวในท้องถิ่นที่ครูได้ทำการศึกษาแล้ว มาจัดทำให้อยู่ในรูปแบบบทเรียนประกอบการสอน เพื่อถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ได้อย่างเข้าใจ เข้าถึง และเกิดการพัฒนา ขณะเดียวกันยังเป็นการปลูกฝังความรักและความผูกพันธ์ในภูมิปัญญาท้องถิ่นและถิ่นฐานบ้านเกิดไปในตัว
ในโอกาสที่ได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 สกว.จึงได้จัดงานประชุม “วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น...เส้นทางสู่ครูผู้สร้าง ประจำปี 2549” ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการพบปะกันระหว่างครูวิทยาศาสตร์จากภูมิภาคต่างๆ ในโครงการทั้งในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ประมาณ 300 คน และครูวิทยาศาสตร์ผู้สังเกตการณ์อีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญคือได้มาเห็นการดำเนินการของโครงการ และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานคงหนีไม่พ้นการนำเสนอผลงานความสำเร็จของโครงการที่ได้นำร่องกรุยทางมาก่อนหน้านี้แล้ว
ตัวอย่างผลงานวิจัยโดยครูนักวิจัยเช่น การศึกษาเรื่อง “บอกบ๊อดไม้ขีดไฟโบราณ” ของอาจารย์มัทนา วุฒิธรรมคณาพร อาจารย์สมศักดิ์ พวงกุหลาบ และอาจารย์มะลิ ตาจันทร์ดี จากโรงเรียนบ้านป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ได้พลิกฟื้นภูมิปัญญาพื้นบ้าน และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับนักเรียนชั้น ป.4-6 ของโรงเรียน
อาจารย์ได้ศึกษาหลักการทำงานของ “บอกบ๊อด” เครื่องมือจุดไฟของคนโบราณ ซึ่งจะไม่ให้เปลวไฟแต่ให้เชื้อไฟอ่อนๆ เช่นเดียวกับการจุดธูป เพื่อนำไปเป็นเชื้อไฟต่อไปยังหญ้าแห้งให้ติดไฟต่อได้ โดยมีการทำงานอาศัยหลักการการสันดาปในสภาวะความดันสูง จากการศึกษาร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนพบว่า ขนาดของบอกบ๊อดและแรงที่ใช้มีผลต่อการเกิดการสันดาป รวมถึงเชื้อไฟที่ใช้ ซึ่งชนิดที่เหมาะสมที่สุดคือ “หมื้อ” หรือส่วนที่ได้จากการขูดผิวส่วนในของต้นเต่าร้าง
ผลงานที่น่าสนใจชิ้นต่อมา คือ การศึกษาเรื่อง “บั้งโพล๊ะกับโปรเจ็กไทล์” ของอาจารย์เพลินพิศ นามวาด อาจารย์อนุช มั่งมี อาจารย์ธาริณี ราชสีห์ อาจารย์วิภา เมืองสอน อาจารย์มณีรัตน์ ลาจันทึก และอาจารย์กมล มั่งมี จากโรงเรียนบัวใหญ่พิทยาคม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่ได้สังเกตหลักการทำงานของ “บั้งโพล๊ะ” อุปกรณ์พื้นบ้านใช้สำหรับยิงผลหมากคอมเพื่อต้อนวัวควายเข้าคอก จนพบว่ามีหลักการทำงานเดียวกับหลักโปรเจ็กไทล์ในวิชาฟิสิกส์ชั้น ม.ปลาย จึงนำไปสู่การเรียนการสอนแบบเห็นจริง สัมผัสได้ ใกล้ตัว และสนุกสนาน
ส่วนการศึกษาเรื่อง “เทคนิคและการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง” ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีการกล่าวถึงกันมาก โดยเป็นผลงานของครูวิชาภาษาไทย ครูพละ และครูในรายวิชาอื่นๆ ในโรงเรียนบ้านเกาะเคี่ยม อ.กันตัง จ.ตรัง ที่ทำให้เห็นว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องเฉพาะนักวิจัย นักวิชาการ หรือครูวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่อยู่ในชีวิตของคนทุกคน โดยประกอบดัวย อาจารย์ฉัตรไชย โสภาพ อาจารย์พร เพ็ชรทิพย์ อาจารย์นิพนธ์ ชุมสุด อาจารย์วิรัช ช่อเจี้ยง อาจารย์จุฑาทิพย์ แก่นเมือง และอาจารย์ไชยยงค์ โปซิว ที่ได้ศึกษาถึงเทคนิคและวิธีการเลี้ยงปลาซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในท้องถิ่น และถ่ายทอดสู่นักเรียน โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์มาสังเกต วัด เปรียบเทียบ และสรุปผลเป็นรูปธรรม
และอีกตัวอย่างหนึ่งที่ได้หยิบมาเล่า คือ การศึกษาเรื่อง “มหัศจรรย์ธรณีวิทยา: ซากไม้กลายเป็นหิน” ของอาจารย์สุพรรณี วรรัตนเมธี โรงเรียนฮอดวิทยา อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่มีความสนใจศึกษาซากฟอสซิลของไม้ ซึ่งเป็นลักษณะทางธรณีวิทยาของ อ.ฮอด มาบูรณาการกับการเรียนในสาระวิชา “โลกและการเปลี่ยนแปลง” ในชั้น ม.2 โดยในการทำงานได้มีการสำรวจพื้นที่หาแหล่งที่ตั้งของซากฟอสซิลไม้ ทำแผนที่ และเก็บตัวอย่างนำไปทดสอบหาเอกลักษณ์ของฟอสซิล มีการทดสอบหามวล ความหนาแน่น การดูดซับน้ำ และการทำปฏิกิริยากับกรด เพื่อการจำแนกออกจากหินทั่วไป จึงเป็นการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสของจริงที่อยู่ใกล้ตัว และมีความตื่นตัว พร้อมแก่การเรียนรู้มากที่สุด
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอชิ้นงานการศึกษาอื่นๆ ของโครงการอีกเช่น การถ่ายเทความร้อนของบ้านดิน การศึกษาการเคลื่อนที่ของเรือยาว หลักการทางกลศาสตร์จากครกสีข้าวพื้นบ้าน ปูนขาวจากหอยแครง และการศึกษาเรื่องแรงจากกระบวนการทอผ้า: ผ้าไทลื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผอ.ฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. บอกว่า สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ทางโครงการหวังว่า จะเป็นการเผยแพร่การดำเนินการของโครงการไปสู่วงกว้าง เพื่อให้ครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการวิจัยว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ และเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ เพื่อเป็นการพัฒนาครูและกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น โดยหวังด้วยว่าจะมีผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ได้เห็นความสำคัญของโครงการ และเกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ในการวางรากฐานของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนมากที่สุด