xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยอาวุโสแนะนักพัฒนายา “อย่าหวังแต่เจอเพชรเม็ดใหม่” ลองพัฒนายาเก่าดูบ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.มนตรี ชี้ว่า นักเคมี-เภสัชไทย ยังทำงานกันกระจัดกระจาย และมุ่งแต่การค้นพบยาใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ศ.ดร.มนตรี ชี้นักเคมี-เภสัชไทยยังทำงานกระจัดกระจาย ระบุเทรนด์ยาสมุนไพรมาแรง ควบคู่ไปกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ แนะนักวิจัยอย่าหวังแต่เจอเพชรเม็ดใหม่ แต่ให้ลองย้อนศึกษายาเก่าๆ แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น เชื่อทำได้มากและได้ประโยชน์มากกว่า ด้าน รมว.ชี้เทคโนโลยียาไทยยังล้าหลัง เหตุเพราะการแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก -ขาดความต่อเนื่อง แต่เชื่อแนวโน้มการพัฒนาดีขึ้น

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมวิชาการด้านเคมีและเภสัชขึ้น เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยภายในงานได้มีการให้สัมภาษณ์ร่วมกันระหว่าง ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช และ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี-เภสัช และ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

ชี้เทรนด์ยาสมุนไพรมาแรง แต่ต้องแล้วแต่การส่งเสริมจากรัฐ

ศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า ในการวิจัยพัฒนาด้านเคมี-เภสัชของนักวิจัยไทย ยังเป็นการทำงานที่กระจัดกระจายกันอยู่มาก ใครอยากทำอะไรก็ทำ โดยมีการวิจัยยาสมุนไพร เป็นกระแสหลักที่นักวิจัยไทยทำวิจัยกันมาก และไทยมีโอกาสจากวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างเพียงพอต่อความต้องการ
 
ขณะเดียวกัน ประโยชน์ของสมุนไพรก็ไม่เฉพาะแต่การผลิตยาเท่านั้น เพราะสมุนไพรไทยยังสามารถนำไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เชิงป้องกันทางเภสัชอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มของยาและเภสัชได้ด้วย เช่นในด้านโภชนาการ การผลิตสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงเครื่องสำอางต่างๆ ขณะเดียวกัน นักวิจัยไทยก็จะต้องไม่ลืมนึกถึงกฎเกณฑ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างมากในปัจจุบันด้วย โดยถือเป็นความท้าทายที่นักวิจัยทุกสาขาจะต้องเจอ

ส่วนประเด็นเรื่องความพอเพียงของจำนวนนักวิจัยด้านเคมี-เภสัชไทยในปัจจุบัน ศ.ดร.มนตรี กล่าวว่า เวลานี้มีอยู่ประมาณหนึ่งพันคน ซึ่งหากประเทศไทยต้องการนักวิจัยเพื่อมาพัฒนายาใหม่ๆ แล้วนั้น ก็ยังจะต้องมีการระดมนักวิจัย แพทย์ และเครือข่ายต่างๆ มาทำงานกันอีกมาก เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากร พื้นที่การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพมาก โดยยังมีอีกมากที่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากเรามีนักวิจัยเพิ่มขึ้น การพัฒนาด้านเคมี-เภสัชก็ก้าวไปได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่น พืชและสัตว์น้ำมากมายหลายชนิดที่เรายังต้องมีการศึกษากันต่อไป เมื่อถามว่าเรามีนักวิจัยพอหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับการวางนโยบายของรัฐเป็นหลัก

นักวิจัยอย่ามัวแต่มุ่งค้นหายาตัวใหม่ แนะลองย้อนพัฒนายาเก่าๆ บ้าง

นอกจากนั้น ศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องที่มีการพูดถึงกันมากคือ การที่นักเคมี-เภสัชไทยมุ่งที่จะพัฒนาให้ได้สารเคมีตัวใหม่เพื่อใช้เป็นตัวยาที่มีคุณสมบัติพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องยากและมีอยู่น้อย แต่หากมีการศึกษาสารเคมีและยาที่มีอยู่แล้ว และทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ก็เชื่อว่าคนจะสนใจมากกว่า และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการวิจัยลงได้มาก ทว่า นักวิจัยไทยกลับไม่ค่อยดัดแปลงยาที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นและให้เหมาะสมกับคนไทยเอง ทั้งๆ ที่เชื่อว่านักเคมีไทยทำได้มาก ยกตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน ที่ได้มีการดัดแปลงให้มีคุณสมบัติดีขึ้น คือ ไม่กัดกระเพาะอาหาร คงตัวอยู่ได้นาน และมีผลข้างเคียงน้อยลง

“บางทีเราไปคาดหวังให้ไปเจอเพชรเม็ดใหม่ แต่ไม่ใช่เพชรเม็ดเดิมบ้างล่ะ ซึ่งนักวิจัยบางทีก็ต้องไม่คาดหวังกับชื่อเสียง กับการค้นพบยาใหม่ๆ ซึ่งมีโอกาสน้อย แต่เราสามารถดัดแปลงที่มีอยู่และทำได้ง่ายกว่า ไม่ใช่การก้าวกระโดด รับของเขามาก่อน แล้วค่อยๆ ดัดแปลง สิ่งนี้จะทำให้เราเก่งขึ้น เพราะเราทำจนชำนาญ” ศ.ดร.มนตรี กล่าว

รับเทคโนโลยีล้าหลัง ขาดการจัดการ ทำงานแบบวัวหายล้อมคอก
 
ส่วน ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวเสริมว่า แนวโน้มการผลิตยาในปัจจุบันจะมีความล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับราคายาที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างล้าหลังในการผลิตยาใหม่ๆ ออกมา เพราะยังขาดเทคโนโลยีอยู่มาก ทว่า นักเคมี-เภสัชไทยมีความสามารถค่อนข้างมากในการทดลองยาระดับคลินิก (Clinical Trail) กับกลุ่มตัวอย่างคนไข้จำนวนน้อยๆ ประมาณ 5-10 คน
 
แต่สิ่งที่วงการเคมี-เภสัชไทยยังขาดคือ การบริหารจัดการงานวิจัย (Research Management) ที่จะใช้ในการทดลองยาระดับคลินิกกับคนไข้นับพันคน ซึ่งในเวลานี้ ประเทศไทยยังไม่มีอยู่เลย แต่เชื่อว่าหากมีการทำกันอย่างเพียงพอแล้ว วงการเคมี-เภสัชไทยจะไปได้ไกลมาก และไทยไม่ควรพลาดโอกาสนี้ไป โดยหนึ่งในความพยายามที่มีอยู่ในเวลานี้คือ การเริ่มต้นโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทีเซลส์) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

ในส่วนนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวโดยยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของความล่าช้าข้างต้นก็เนื่องมาจากแนวคิดการพัฒนายาแบบตามหลังปัญหา และการทำงานแบบขาดความต่อเนื่องของนักวิจัยไทย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดปัญหาโรคซาร์สขึ้นมา นักวิจัยไทยก็เริ่มวิจัยยารักษาโรคซาร์สขึ้น แต่เมื่อการระบาดของโรคซาร์สหยุดลง เราก็กลับทิ้งการวิจัยไป เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดนก ที่ในช่วงนี้ที่ปัญหาทุเลาลง เราก็ละเลยการพัฒนายาไปอีก ทั้งๆ ที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าโรคต่างๆ มันจะมาหรือไม่ มาทางไหน และจะมาเมื่อไร

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ยงยุทธ มองว่า ในเวลานี้ ก็ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นแล้ว คือ การที่ประเทศไทยมีการคาดการณ์ปัญหาไปไกลถึงอนาคต สืบเนื่องจากการผลักดันของ นายกร ทัพพะรังสี อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เมื่อ 2 ปี ก่อน ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วเตรียมตัวไว้ก่อน หนึ่งในนั้น เช่น การคาดการณ์เทคโนโลยีอุบัติใหม่ เป็นต้น

สำหรับการประชุมวิชาการด้านเคมีและเภสัชครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพบปะกันระหว่างนักเคมีและเภสัชของไทย จำนวนประมาณ 100 คน ที่อยู่ในภาคส่วนต่างๆ อย่างเปิดกว้าง พร้อมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและผลงานความก้าวหน้าทางการวิจัยระหว่างกัน โดยเป็นการประชุมวิชาการครั้งแรกของสาขา หลังจากที่มีการประชุมเชิงนโยบายเป็นประจำทุกปี และคาดว่าการประชุมวิชาการในครั้งนี้จะนำไปสู่การประชุมวิชาการครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจขยายขอบเขตการประชุมไปยังเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่จำกัดเฉพาะแต่เรื่องยาในอนาคต
ศ.ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี-เภสัช และ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
กำลังโหลดความคิดเห็น