เผยแผนทำธุรกิจ “ธีออส” ก่อนปล่อยขึ้นอีก 10 เดือน หวังให้เอกชนต่อยอดวิเคราะห์ ประมวลสัญญาณดาวเทียมให้บริการภาครัฐที่ขาดกำลังคน แจงมี 4 โซ่เส้นทางการผลิตจากดาวเทียม 1.สัญญาณ 2.ภาพถ่ายดาวเทียม 3.ออโต้อิมเมจ และ 4.จีไอเอส
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 10 เดือน ก็จะถึงกำหนดส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยที่ชื่อ “ธีออส” (THEOS) ขึ้นไปโคจรรอบโลกแล้ว ความคืบหน้าล่าสุดจากปากผู้ดูแลโครงการดาวเทียมพันล้าน นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ ผู้อำนวยการโครงการดาวเทียมธีออส และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ธีออสประกอบชิ้นส่วนสำเร็จจนเป็นรูปร่างดาวเทียมแล้ว และกำลังเตรียมทดสอบความทนต่ออุณหภูมิต่างๆ (Thermal Testing) ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ และจะทดสอบความทนต่อแรงสั่นสะเทือน (Vibration Testing) ในเดือน ม.ค.ที่จะถึงนี้
จากนั้นจะได้ทดสอบการเชื่อมต่อระหว่างดาวเทียมกับอุปกรณ์ของสถานีรับสัญญาณว่าทำงานได้ ก่อนส่งดาวเทียมในเดือน ก.ค.2550 นี้ และคาดว่าจะใช้ฐานส่งของรัสเซีย โดย นายชาญชัยให้เหตุผลว่าเพราะราคาถูก แต่มีคุณภาพใกล้เคียงสหรัฐ หากจะใช้ฐานส่งของฝรั่งเศสเองก็จะใช้งบประมาณสูงมากเกินความจำเป็น หรือจะใช้ฐานส่งของจีนก็ราคาถูกเช่นกัน แต่ไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะส่งจรวดขึ้นไปได้สำเร็จหรือไม่ ส่วนสถานีรับฯ ธีออสภาคพื้นดินของไทยนั้นกำลังก่อสร้างและติดตั้งที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ระหว่างที่ “ธีออส” กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบก่อนขึ้นไปเผชิญกับสภาวะจริงในห้วงอวกาศ ทางด้าน สทอภ.ก็เดินหน้าเตรียมทำธุรกิจและการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม โดยเริ่มมีการเจรจากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีสถานีรับสัญญาณดาวเทียม และมีหลายประเทศที่ให้ความสนใจ อาทิ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น ล่าสุดก็มีการพูดคุยกับประเทศสวีเดนซึ่งมีสถานีรับฯ ที่ขั้วโลก (Polar Station) ได้ติดต่อขอรับสัญญาณธีออส
ทั้งนี้ นายอาล์ฟ เอริค โอสค็อก (Alf Erik Oskog) ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้าส่วนการปฏิบัติงานดาวเทียม จากสวีดิช สเปซ คอร์เปอร์เรชัน (Swedish Space Corporation) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของรัฐบาลสวีเดน เปิดเผยว่า สนใจรับสัญญาณธีออสเพราะเป็นดาวเทียมที่ดี โดยตอนนี้สวีเดนรับสัญญาณดาวเทียมจากประเทศต่างๆ 15 ประเทศ ส่วนคู่แข่งทางธุรกิจที่สำคัญๆ คือสหรัฐและนอร์เวย์ ซึ่งมีสถานีรับฯ ที่ขั้วโลกเช่นกัน
ทางด้านนายชาญชัยให้เหตุผลที่สนใจสวีเดนเพราะมีสถานีรับฯ ที่ขั้วโลกซึ่งจะรับสัญญาณดาวเทียมจากธีออสได้ตลอดเวลา ขณะที่สถานีรับฯ ภาคพื้นของไทยเองจะรับสัญญาณถึงระยะ “เส้นขอบฟ้า” ที่ดาวเทียมโคจรผ่านเท่านั้น นอกจากนี้ก็จะได้ติดต่อกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายของสถานีรับฯ ให้ครอบคลุมทั่วโลกมากที่สุด โดยสถานีต่างๆ เหล่านั้นจะรับสัญญาณในระยะที่สถานีรับฯ ภาคพื้นของไทยไม่สามารถรับสัญญาณได้ เมื่อเกิดเหตุที่ไทยต้องการใช้ภาพจากที่ใดๆ ที่หนึ่งก็จะรอรับขอจากสถานีเหล่านั้นฯ โดยเสียค่าบริการจำนวนหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงกันในสัญญา
สำหรับการคัดเลือกประเทศใดให้เป็นสถานีรับฯ นั้น นายชาญชัยกล่าวว่า มีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เป็นต้น ร่วมพิจารณาข้อตกลงของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ประเทศที่ต้องการรับสัญญาณดาวเทียมธีออสเพื่อไปประมวลและจำหน่ายต่อ ทั้งในรูปแบบภาพถ่ายดาวเทียมหรือข้อมูลภูมิสารสนเทศ (จีไอเอส) ก็ต้องตกลงและพิจารณากันอีกกรณี
ไม่เพียงแค่วางแผนหาสถานีรับฯ จากทั่วโลกเท่านั้น นายชาญชัยยังเผยอีกว่า มีแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาธุรกิจทางด้านภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีอวกาศ หรือที่เรียกว่า Geo-spatial Business โดยได้รับช่วงต่อในการประมวลและวิเคราะห์สัญญาณดาวเทียมเพื่อการใช้ประโยชน์ทางด้านต่างๆ อาทิ การตรวจสอบการบุกรุกทำลายป่า การทำแผนที่ หรือการประเมินผลผลิตข้าว เป็นต้น โดยได้เริ่มพูดคุยกับภาคเอกชนในการประชุมวิชาการหนึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา
“อันนี้ยังไม่ได้เปิดเผยให้กับหนังสือพิมพ์ไหนนะ เพียงแต่พูดในที่ประชุม วันที่ 25 ก.ย.ผมพูดไปแล้ว ผมก็เชิญภาคเอกชนมาคุย แล้วชี้แจง value chain (มูลค่าเพิ่มจากโซ่การผลิต) ของธีออสว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งก็มี 1.สัญญาณภาพ ที่เราขายได้เลย 2.ภาพถ่ายดาวเทียม 3.ออโต้อิมเมจ (Auto Image) คือภาพที่ปรับแก้เพิ่มให้มีความถูกต้อง โดยเอาภาพถ่ายดาวเทียมธีออสมาประมวลให้มีความถูกต้องแม่นยำสูง และ 4.จีไอเอส ก็อยากให้เอกชนลงทุนทุกจุด ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจใหม่” นายชาญชัยกล่าว
ทั้งนี้นายชาญชัยได้ยกตัวอย่างการลงทุนในส่วนของภาคเอกชนที่เข้ามาทำธุรกิจทางด้านภาพถ่ายดาวเทียม เช่น หากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อยากได้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า แต่มีกำลังคนไม่พอที่จะวิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากสัญญาณดาวเทียม ก็อาจจะให้เอกชนเข้ามาทำให้ในลักษณะบริการภายนอก (Outsource) แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละหน่วยงานเอง หากมีความสามารถที่จะทำได้เองก็ไม่จำเป็นต้องใช้บริการดังกล่าว ทั้งนี้เอกชนที่เข้ามาให้บริการตรงจุดนี้จะไม่ใช่ลักษณะผูกขาด แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่เอกชนนั้นมีความถนัด
“ตรงนี้เป็นธุรกิจได้ และ สทอภ.ไม่จำเป็นต้องทำเอง ถ้าเกิดหน่วยงานต่างๆ กำลังไม่พอก็จะเกิดธุรกิจใหม่ ที่ผมอยากให้เอกชนเข้ามาช่วยก็เพราะตรงนี้เอง เอกชนที่เขามีความรู้ความสามารถ ที่เขาทำธุรกิจได้ ก็ให้คนที่เขามีความรู้ความสามารถเข้ามาทำแทนในส่วนที่หน่วยงานราชการทำได้ยาก ก็เกิดธุรกิจทางด้านนี้ขึ้น เราเรียกว่า Geo-business เกิดธุรกิจบริการ ตรงนี้ทำยังไง คนนี้มีความรู้ความสามารถเก่ง ตรงนี้ล่ะ มีการตัดไม้ทำลายป่า ตรงจุดไหน ก็ให้เจ้าหน้าที่ออกไปภาคสนามได้เลย โดยที่ไม่ต้องใช้คำสำรวจ มันก็จะเกิดเป็นธุรกิจ” ผอ.ดาวเทียมธีออสอธิบาย
พร้อมกันนี้นายชาญชัยได้ให้ความเห็นอีกว่าอยากให้เอกชนเข้ามาทำธุรกิจตรงนี้ เพราะหากจะส่งเสริมความสามารถของประเทศก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้เอกชนได้เข้ามาทำมาๆ และในส่วนของ สทอภ.เองก็จะไม่ทำเพราะไม่ใช่หน้าที่ อีกทั้งไม่ใช่องค์กรที่มุ่งหารายได้ แต่จะทำอย่างไรให้ส่งเสริมความสามารถของประเทศและส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมให้มากๆ
“ใจผมอยากให้เอกชนเข้ามาทำ คือสำหรับประเทศเรา ถ้าอยากจะสร้างความสามารถให้ประเทศเยอะๆ ต้องให้เอกชนทำเยอะๆ ต้องให้เอกชนมาช่วย มาทำทางด้านนี้มากๆ ตรงนี้เป็นแนวใหม่ที่จะให้เอกชนมาช่วย เป็นธุรกิจใหม่ ที่เรียกว่า Geo-spatial business ยังไม่มีใครทำ แต่เราจะเปิดจากธีออสให้ทำ ส่วนแผนก็เข้าจะบอร์ด” นายชาญชัยกล่าว พร้อมทั้งเผยว่ามีเอกชนไทยนับสิบรายที่มีความเชี่ยวชาญที่จะเข้าทำธุรกิจที่กล่าวไปข้างต้นได้
“อีกจุดซึ่งเป็นเรื่องใหญ่คือ ต่อไป สทอภ.ต้องทำข้อมูลที่เกี่ยวกับประเทศไทยเปิดเผยแก่สาธารณชน เช่น ป่ามีขอบเขตอยู่ตรงไหนบ้าง มีแหล่งน้ำ ขาด-เหลืออย่างไร แต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เราเรียกว่าข้อมูลสาธารณะ ซึ่งจะทำกับหน่วยงานต่างๆ ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลสาธารณะว่า ป่าอยู่ที่ไหนจะได้ไม่เกิดการบุกรุก เพราะทุกวันนี้ที่ประชาชนบุกรุกเข้าไปเพราะเขาไม่รู้ว่าป่าอยู่ตรงไหน ทั้งที่เป็นข้อมูลสาธารณะ ทำไมเราไม่รู้ ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้นไม่กระทบเพราะเป็นข้อมูลลึก และเราจะไม่เปิดเผย เขตทหารเป็นเรื่องทหาร เราก็ไม่ลง ไม่เกี่ยว” นายชาญชัยกล่าว
สำหรับค่าบริการข้อมูลจากดาวเทียมธีออสนั้น นายชาญชัยกล่าวว่า จะถูกกว่าค่าบริการจากการซื้อข้อมูลดาวเทียมของต่างชาติมากกว่า 50% อย่างแน่นอน โดยได้ยกตัวอย่างว่าภาพจากดาวเทียมต่างชาติราคาแสนกว่าบาท แต่หากเป็นข้อมูลจากธีออสน่าจะอยู่ที่ 3,000 บาท เป็นต้น ส่วนหน่วยราชการจะให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือไม่นั้น จำเป็นต้องจ้างทาง สทอภ.ทำข้อมูล เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และปกติต้องจ้างทางเอกชน ซึ่งมีเอกชนหลายรายที่กำลังทำข้อมูลจีไอเอสให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว