เอเจนซี - นักวิจัยพบช้างสามารถจำเงาสะท้อนของตัวเองในกระจกได้ แสดงถึงทักษะในการรู้จักตัวเองที่ก่อนหน้านี้พบในมนุษย์ ลิงไม่มีหางขนาดใหญ่ และโลมาปากขวดเท่านั้น
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในโปรซีดดิงส์ ออฟ เดอะ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์ (Proceedings of the National Academy of Sciences) ทีได้ศึกษาพฤติกรรมหน้ากระจกของช้างเอเชีย 3 เชือกพบว่า ช้างเชือกหนึ่งใช้งวงแตะเครื่องหมายกากบาทสีขาวบนหัวตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นบททดสอบสุดคลาสิกเพื่อประเมินทักษะการจดจำตัวเองของเด็กและลิงไม่มีหาง
"เราเห็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนมาก เช่น การจดจำตัวเอง และการแยกแยะระหว่างตัวเองกับสัตว์ตัวอื่นในสัตว์ที่เฉลียวฉลาดและมีระบบทางสังคมแน่นหนา ความซับซ้อนทางสังคมของช้าง พฤติกรรมความเสียสละซึ่งเป็นที่รู้กันดี และสมองขนาดใหญ่ ทำให้ช้างเป็นสายพันธ์ที่มีเหตุผลสมควรที่จะรับการทดสอบหน้ากระจก" โจชัว พลอตนิก (Joshua Plotnik) จากศูนย์วิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเยอร์เคส มหาวิทยาลัยเอมอรี (Yerkes National Primate Research Center at Emory University in Atlanta) รัฐจอร์เจีย สหรัฐฯ กล่าว
แม้สัตว์หลายประเภทมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกระจก แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่แสดงให้เห็นว่าจดจำตัวเองในภาพสะท้อนได้ ตัวอย่างเช่น สุนัขจะมีปฏิกิริยากับภาพของตัวเองในกระจกในลักษณะที่ภาพนั้นเป็น 'สุนัขตัวอื่น' และพยายามตามหาสุนัขตัวนั้นหลังกระจก
สำหรับช้างสามเชือกในการทดลองนี้มีปฏิกิริยาเช่นเดียวกับสุนัขเมื่อยืนหน้ากระจกขนาด 2.5 x 2.5 เมตร กล่าวคือเดินสำรวจด้านหลังกระจก เอาอาหารมากินหน้ากระจก ช้างทั้งสามเชือกยังแหย่งวงเข้าไปสำรวจภายในปากของตัวเอง และเคลื่อนไหวเป็นจังหวะซ้ำๆ เพื่อทดสอบภาพสะท้อนในกระจก
แต่หนึ่งในสามเชือกที่ชื่อเจ้าแฮปปี้ (Happy) ซึ่งเป็นช้างพังอายุ 34 ปี มีพฤติกรรมซับซ้อนกว่านั้นคือ ใช้งวงแตะเครื่องหมายกากบาทสีขาวบนหัว ซึ่งมองเห็นได้ในกระจกเท่านั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทว่า เจ้าแฮปปี้กลับไม่มีปฏิกิริยากับเครื่องหมายกากบาทอีกอันที่ไม่มีสี แสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการดมกลิ่นหรือความรู้สึก
แม้มีช้างเพียงเชือกเดียวที่ผ่านการทดสอบการสัมผัสเครื่องหมายกากบาท ทว่า นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ชิมแปนซีที่ผ่านการทดสอบนี้ก็มีไม่ถึงครึ่งเช่นเดียวกัน
พลอตนิกเสริมว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการนำช้างมาทดสอบหน้ากระจก ผิดแต่ว่ากระจกที่ใช้มีขนาดเล็กมาก นี่จึงเป็นการทดสอบครั้งแรกที่ใช้กระจกบานใหญ่ที่ช้างสามารถสัมผัส ถู และพยายามไปสำรวจด้านหลังกระจกได้
ฟรานส์ เดอ วาล (Frans de Waal) ผู้ร่วมการวิจัย สำทับว่า ผลการทดลองนี้สะท้อนว่า ช้างมีทักษะในการจดจำตัวเองในระดับเดียวกับสัตว์ที่มีชีวิตทางสังคมซับซ้อนและมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างคน ลิงไม่มีหาง และโลมาปากขวด (Bottlenose dolphin)
การทดลองนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรีกับไวด์ไลฟ์ คอนเซอร์เวชัน โซไซตี้ (Wildlife Conservation Society) โดยใช้ช้างจากสวนสัตว์บรองซ์ (Bronx Zoo) ในนิวยอร์ก
นักวิจัยทิ้งท้ายว่า จะวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาพฤติกรรมและวิวัฒนาการความคิดของช้าง โดยเฉพาะความซับซ้อนทางสังคมของช้างเอเชีย