กรมวิทย์บริการรับตรวจสอบมาตรฐาน 6 แล็บ รองรับมาตรการกีดกันการค้า แจงตลาดโลกใช้ "วิชาการ" เป็นมาตรการควบคุมคุณภาพ เพื่อกีดกันการค้า การตรวจสอบครอบคลุมด้านอาหารการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
นายชัยวุฒิ เลาวเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ขณะนี้การค้าขายในตลาดโลกวางระบบกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ “ภาษี” ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ การนำ “วิชาการ” เข้ามากีดกัน ในรูปแบบของการกีดกันทางการค้าด้วยเหตุผลทางเทคนิค (Technical Barrier to Trade: TBT) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องทำสินค้าให้ได้มาตรฐาน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบสินค้า และเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ห้องปฏิบัติตรวจสอบจำเป็นต้องต้องได้รับมาตรฐานด้วย
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ให้การรับรองมาตรฐานตาม ISO/IEC 17025 แก่ 6 ห้องปฏิบัติการ คือ 1.ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท ไอคิวเอ แลบอราทอรี จำกัด 2.ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด (สาขากรุงเทพฯ) 3.ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท เซ้าท์อีสต์เอเชียนลาบอราทอรี่ย์ จำกัด 4.ศูนย์ปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 5.ห้องปฏิบัติการเคมี บริษัท กรีนสปอต จำกัด (โรงงานรังสิต) และ 6. ห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท เค เอ็ม พี ไบโอเทค จำกัด
นายชัยวุฒิเปิดเผยว่าได้ให้บริการรับรองห้องปฏิบัติการทั้ง 6 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อเป็นการนำร่องและกรณีศึกษาในการยื่นขอการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) เพื่อตรวจสอบมาตรฐานห้องปฏิบัติการในประเทศไทย จากองค์การภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (Asia Pacific Laboratory Accreditation Cooperation: APLAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Accreditation Cooperation: ILAC) และได้รับการยอมรับร่วมจากทั้ง 2 หน่วยงานแล้ว ซึ่งค่าบริการในการตรวจสอบหลังจากนี้ประมาณ 10,000 บาท
“ปัจจุบันผู้บริหารให้ความสำคัญกับห้องปฏิบัติการน้อย ซึ่งต่อไปห้องปฏิบัติการจะมีความสำคัญมาก หากสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ส่งออกไปก็ถูกตีกลับ ทำให้เสียหายมาก การตรวจสอบคุณภาพสินค้าจะลดความเสียหายตรงนี้ และการตรวจสอบจะได้มาตรฐาน ห้องปฏิบัติการตรวจสอบก็ต้องได้มาตรฐานด้วย” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการกล่าว
สำหรับขอบข่ายของกรมวิทยาศาสตร์บริการในการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตาม ISO/IEC 17025 ใน 11 ขอบข่ายคือ 1.น้ำตาลและผลิตภัณฑ์น้ำตาล 2.อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 3.ภาชนะบรรจุอาหารและวัสดุที่เกี่ยวข้อง 4.ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง 5.รองเท้าและเครื่องหนัง 6.ผลิตภัณฑ์พลาสติก 7.เซรามิกและแก้ว 8.เคมีภัณฑ์ (ที่ไม่ใช้ทำยา) 9.ปิโตรเคมี (ขั้นกลางและปลาย) 10การผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และ 11.สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มีระยะเวลาของการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการต่างๆ 3 ปี
ด้าน ผศ.เจิดจรรย์ ศิริวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเน้นตรวจสอบน้ำเสีย และเป็น 1 ในหน่วยงานที่ได้การรับรองมาตรฐาน กล่าวว่า ปกติห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยจะได้รับการยอมรับอยู่แล้ว แต่คิดว่าแค่นั้นไม่พอจึงขอตรวจสอบมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะขอมาตรฐานดังกล่าว เนื่องจากมีภารกิจในการวิจัยและสอนซึ่งไม่เน้นการให้บริการตรวจสอบ
ส่วน น.สพ.ไพรัช ธิติศักดิ์ กรรมการผู้จัดการห้องปฏิบัติการทดสอบ บริษัท เค เอ็ม พี ไบโอเทค จำกัด กล่าวว่า เดิมบริษัทได้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของบริษัท คือ “โพรไบโอติกส์” (Probiotic) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ให้สัตว์กินเพื่อให้ทางเดินอาหารแข็งแรง ทำให้ดูดซึมอาหารได้ดี และสัตว์เจริญเติบโตได้เร็ว แต่หลังจากได้การรับรองมาตรฐานแล้ว จะรับบริการตรวจสอบจุลินทรีย์ดังกล่าวในอาหารสัตว์ประเภทน้ำและประเภทผง รวมทั้งตรวจหาจุลินทรีย์ซึ่งเป็นสาเหตุของท้องเสียที่ปลอมปนในอาหารสัตว์ด้วย
ทางด้าน นางธาลินี วิภูชนิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ้าท์อีสต์เอเชี่ยนลาบอรา ทอรี่ย์ จำกัด ซึ่งให้บริการตรวจสอบทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ กล่าวว่า อุปสรรคของการตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบมาตรฐานของเอกชนคือ “เงินทุน” เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือในการตรวจสอบที่มีราคาแพง สำหรับขั้นตอนการขอมาตรฐานจากกรมวิทย์บริการใช้เวลา 1 ปี ซึ่งจะได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงห้องปฏิบัติการด้วย และบางครั้งจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเพื่อรองรับมาตรฐาน