xs
xsm
sm
md
lg

“วินทร์-บุรินทร์” ถก “ฟิสิกส์ vs จินตนาการ” ในจักรวาลของคนกินข้าวมันไก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร่วมคิด-ร่วมถก “ฟิสิกส์” และ “จินตนาการ” ในจักรวาลของคนกินข้าวมันไก่ ระหว่างนักเขียนช่างคิด “วินทร์ เลียววาริณ” และนักจักรวาลวิทยาหนุ่มไฟแรง “ดร.บุรินทร์ จำกัดภัย”

แม้ว่าจะเป็นหัวข้อเก่าที่ถกกันมานาน แต่วันนี้ (24 ต.ค.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “จักรวาลวิทยาพื้นฐาน: ฟิสิกส์และจินตนาการ” ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 11 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนักจักรวาลวิทยาคือ ดร.บุรินทร์ จำกัดภัย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กับนักเขียนชื่อดังอย่าง วินทร์ เลียววารินทร์ ร่วมถกในหัวข้อดังกล่าว และมี ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการ สวทช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ทั้งนี้ก่อนเริ่มการเสวนา ดร.บุรินทร์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง "จักรวาลวิทยา...สำหรับคนกินข้าวมันไก่" เพื่อปูพื้นฐานความรู้แก่ผู้เข้าฟังการเสวนา และได้กล่าวถึงการค้นพบ รังสีไมโครเวฟฉากหลังของจักรวาลหรือ CMB (Cosmic Microwave Background Radiation) ซึ่งเป็นผลงานที่คนศึกษาเรื่องนี้เพิ่งได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปีนี้ และเป็นการค้นพบว่าคนเราเกิดมาได้อย่างไรซึ่งเป็นผลงานที่มีคุณค่า อีกทั้งยังแสดงให้ว่าจักรวาลที่เราอยู่นั้นเป็นจักรวาลที่ถูกเลือกให้มีชีวิต และทำให้มีเราซึ่งตั้งคำถามว่าจักรวาลเกิดขึ้นมาอย่างไร และจักรวาลที่มีคุณค่าคือจักรวาลที่ถูกถาม (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2549 คลิก:2 นักฟิสิกส์สหรัฐฯ ผู้ขยับใกล้ปริศนากำเนิดแห่งเอกภพรับโนเบล)

สนใจ “จักรวาลวิทยา” ไปทำไม?

วินทร์- การที่ได้เห็นโลกที่เราอยู่เล็กนิดเดียวทำให้เกิดความอยากรู้ ปัญหาของมนุษย์เกิดได้อย่างไร หากเราไม่รู้ที่มาของเราจริงๆ เราก็คงตอบไม่ได้ ที่มาของเราไม่ใช่ “เซลล์” แต่คือดวงดาวข้างนอก ถ้าเราจะเข้าใจปัจจุบันของเราก็ต้องเข้าใจอดีตก่อน การที่ฆาตกรฆ่าคนตายอาจจะเกิดจากพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี หรือเขาเกิดมาเป็นอย่างนี้เอง ไม่ว่าจะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีหรือได้รับการสั่งสอนที่ดี แต่เขาก็ยังเป็นฆาตกร การศึกษาเรื่องจักรวาลวิทยาจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ อีกข้อคือความโรแมนติก ดวงดาวและอวกาศเป็นเรื่องชวนฝันอยู่แล้ว จึงดิ้นรนขวนขวายและอยากรู้

ตอนเด็กๆ เคยได้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์ของ จันตรี ศิริบุญรอด ตั้งแต่ยังไม่รู้จักจักรวาลวิทยา แต่ในนิยายก็จะมีพูดเรื่องดวงดาวและอวกาศ พอโตขึ้นก็หาหนังสือเกี่ยวกับจักรวาลวิทยามาอ่าน ซึ่งในเมืองไทยไม่มี ต้องซื้อจากต่างประเทศอย่างเดียว บางเล่มอ่านไป 10 หน้าก็ไม่รู้เรื่อง เรื่องอนุภาคพระเจ้า (God Particle) ก็ซื้อมาอ่าน แต่อ่านด้วยความทรมานพอสมควร อ่านไปก็ตั้งคำถามไปว่าโม้หรือเปล่า เพราะทฤษฎีทางฟิสิกส์ก็เป็นทฤษฎีที่วันหนึ่งก็อาจถูกยิงตกได้ ทั้งนี้จักรวาลวิทยาก็เป็นภาพรวมของส่วนต่างๆ ให้เราคิดว่าเป้นไปได้ไหมที่จะมีมนุษย์ต่างดาว ทำให้เรามองภาพต่างๆ กว้างขึ้น

บุรินทร์- จักรวาลวิทยาเป็นวิชาที่เหมาะสำหรับคนที่รักพี่เสียดายน้อง เพราะคนที่เรียนจักรวาลวิทยาจะได้เรียนทุกอย่าง ทั้งฟิสิกส์ของแข็ง ฟิสิกส์เลเซอร์ ทิ้งไม่ได้เลยในวิชานี้ จักรวาลวิทยาคือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์แต่เป็นฟิสิกส์ประยุกต์ เพราะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ใช้อธิบายว่าทำไปเพื่ออะไร ทำไม อย่างไร แต่เอาฟิสิกส์มาใช้อธิบายจึงเป็นฟิสิกส์ประยุกต์ นี่เป็นความเห็นส่วนตัว อาจมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับผมก็ได้ จักรวาลวิทยาเป็นการตอบคำถามพื้นฐานว่าเรามาจากไหนและก็เป็นเรื่องที่ใครก็ถามได้

จักรวาลวิทยา “เหมือน” หรือ “ต่าง” ในจักรวาลทางศาสนา?

บุรินทร์
-จักรวาลวิทยาเป็นสาขาของวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่ศึกษากำเนิดและธรรมชาติหรือฟิสิกส์ของโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มากกว่าระดับกาแลกซี่ขึ้นไป แต่ในเชิงศาสนานั้นแตะไม่ได้ แตะเมื่อไหร่ “เจ็บตัว” ทั้งนี้ในเชิงศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ การเวียนว่าย มีผู้สร้าง ผู้ทำลายล้าง ขึ้นอยุ่กับความเชื่อแต่ละศาสนา สำหรับฟิสิกส์ทำให้เราสนุก เป็นความอยากรู้ เป็นตัณหาอย่างหนึ่งไม่ช่วยให้มีความสุขได้ แต่ศาสนานั้นเป็นไปเพือ่พ้นทุกข์

จักรวาลวิทยาสำหรับคนกินข้าวมันไก่!!

บุรินทร์- สำหรับคนกินข้าวมันไก่หรือคนทำงานทั่วๆ ไป การเกิดจักรวาลในช่วงเริ่มต้นนั้นเปรียบเหมือนลูกโป่งที่พองตัว มีสสารปฐมภูมิคือสสารอินเฟรชัน (Inflation) ที่พองตัวและเกิดบิ๊กแบง (Big Bang) และเป็นช่วงที่จักรวาลเย็นมากๆ หลักฐานชิ้นเดียวของทฤษฎีบิ๊กแบง คือรังสีไมโครเวฟฉากหลังของจักรวาลหรือ CMB (Cosmic Microwave Background Radiation) ซึ่งคนศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งได้โนเบลฟิสิกส์ปีนี้ไป ปัจจุบันเราพบหลักฐานว่าจักรวาลกำลังขยายอยู่ด้วยความเร่ง หลักการสำคัญคือทุกที่ในจักรวาลคือบิ๊กแบง

การขยายตัวของจักรวาลคล้ายการเป่าลูกโป่ง และวัตถุในจักรวาลเหมือนมดที่อยู่บนลูกโป่ง ที่ต่างเคลื่อนที่ออกจากกันในทุกทิศทุกทาง สิ่งที่ทำให้จักรวาลขยายตัวด้วยความเร่งคือพลังงานมืด (Dark Energy) หลักฐานตอนนี้คือจักรวาลจะขยายตัวและฉีกอย่างแน่นอน เมื่อจักรวาลถูกฉีก กาแล็กซี่ก็ถูกฉีก แล้วในที่สุดโลกของเรา ตัวเราก็จะถูกฉีกในที่สุด ซึ่งจากการคำนวณที่ได้ในตอนนี้ก็ต้องใช้เวลาอีกนับพันล้านปี

อีกพันล้านปีอาจไม่มีความหมายกับมนุษย์แล้วจะศึกษา “จักรวาลวิทยา” ไปทำไม?

วินทร์
-เราอยากรู้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ เหมือนหิ่งห้อยที่มีอายุสั้นๆ ลอยอยู่ในทุ่งนาก็อยากจะรู้สิ่งรอบตัวในช่วงชีวิตสั้นๆ จริงๆ ก็เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องเหล่านี้เป็น “อจินไตย” รู้ไปก็ไม่ได้ดับทุกข์ เราอาจตายไปก่อนที่จำได้รู้ความจริงของจักรวาล แต่ก็อาจจะมีมนุษย์ต่างดาวที่มีอายุยืนกว่าที่ได้รู้ การได้ศึกษาก็ยังมีความสนุกสนานในการมองโลก

บุรินทร์- ความรู้พวกนี้ไม่ได้ช่วยดับทุกข์ มีแต่ความทุกข์เพราะความอยากรู้ จริงๆ ความรู้เกี่ยวกับจักรวาลนี้อาจจะผิดหมดก็ได้ เพราะฝรั่งกลุ่มเดียวศึกษาเรื่องนี้เพื่อตีพิมพ์ในวารสารเล่มหนึ่ง หากไม่ทำเรื่องนี้ก็ไม่ได้ตีพิมพ์ ความรู้จึงอยากมาเป็นอย่างนี้ และก็มีงานวิจัยดีๆ ของอินเดียหลายชิ้นแต่ไม่ได้ตีพิมพ์ ทั้งนี้ก็เป็นกิเลสส่วนตัวด้วยที่อยากให้มีเด็กไทยทำงานวิจัยตีพิมพ์ไปให้ฝรั่งดู

ความรู้เรื่องจักรวาลถูกฉีกจะต่อยอดในเชิงความคิดสำหรับนักเขียนได้อย่างไร?

วินทร์
- เรื่องดังกล่าวใช้ช่วงเวลาที่ยาวมาก แต่ปกตินักเขียนก็จะจับที่มุมใด มุมหนึ่งมาเขียน อย่างเรื่อง “เกือบสิ้นกินน้ำนม” ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ที่เกือบจะสูญสิ้นเพราะถูกมนุษย์ต่างดาวบุก ส่วนใหญ่นิยายวิทยาศาสตร์ของใครก็ตามไม่มีกล้าฟันธงว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวเป็นอย่างไร ในเรื่อง 2001 จอมจักรวาล (2001: a Apace Odyssey) ก็ใช้สัญลักษณ์เป็นแท่งหินสีดำ เรื่องคอนแทค (Contact) ก็สร้างสัญลักษณ์เป็นคน นอกจากนี้เรื่องกามนิตกับวาสิฎฐียังมีภาพของจักรวาลในรูปแบบที่น่ามหัศจรรย์ด้วย ถ้ามองในมุมจักรวาลวิทยาจะสนุกมาก

นักเขียนได้หยิบยืมคำศัพท์จากวงการจักรวาลวิทยาไปใช้ไหม?

วินทร์
-เป็นธรรมดาที่คนเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ก็ต้องติดตามอะไรใหม่ๆ เช่น ช่วงหนึ่งมีเรื่องหลุมดำ มิติคู่ขนาน ก็มีนิยายเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก อยากเรื่องมิติคู่ขนานก็กลายเป็นนิยายรักไป และก็มีหลายอย่างที่มาจากความฝันก่อน เช่น เรือดำน้ำ บางอย่างนักเขียนก็ตั้งคำถามจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นอย่างั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ เชื่อว่ามีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่อ่านนิยายวิทยาศาสตร์แล้วเอาไปใช้

บุรินทร์- ในเชิงพาณิชย์ก็เอามาใช้ เช่น ควอนตัวเทเลวิชัน เป็นต้น ขณะเดียวกันวงการวิทยาศาสตร์ก็หยิบยืมคำจากนิยายมาใช้เหมือนกัน เช่น ยานอวกาศอวกาศเจได ทั้งนี้นิยายวิทยาศาสตร์มีผลต่อการสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีมาจากการอ่านหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์

อยากเห็นบรรยากาศทางวิชาการของจักรวาลวิทยาในเมืองไทยอย่างไร?

วินทร์- ในตลาดของบ้านเรามีหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์น้อยมาก หนังสือที่มีชื่อวิทยาศาสตร์มักจะทำออกมาแล้วขายไม่ได้ น่าจะเป็นนโยบายระดับสูงของภาครัฐที่ควรจะส่งเสริม ที่ต่างประเทศมีหนังสือดีๆ หลายเล่ม แต่บ้านเรามีหนังสือที่สอนให้เชื่อมากกว่าสอนให้คิด หนังสือฮวงจุ้ย โหราสาสตร์เต็มบ้านเต็มเมือง มากกว่าอจินไตยมากๆ

ถ้าเรามีหนังสือที่สอนให้คิด เราก็จะใช้เงินซื้อครีมทาฝ้าน้อยลง ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเป็นชาวพุทธที่ต้องใช้ปัญญา เราดูราหูก็เข้าใจว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่คนข้างนอกอีก 10 ล้านคนเขาคิดอีกอย่าง โดยส่วนตัวผมก็พยายามเขียนแนววิทยาศาสตร์ให้มาก แต่ก็เป็นแรงเล็กๆ ยังไม่พอ ต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้ช่วยกันผลักดัน

บุรินทร์- ตอนเรียนอยู่อังกฤษ โดนอาจารย์สั่งให้เฝ้าบูธในงานเกี่ยวกับการศึกษาระดับชาติ มีเด็ก ม.ปลายมาเกาะรั้วดูนิทรรศการเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคก่อนวันงานกันจนแน่น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศเขามีฮีโร่ทางด้านนี้เยอะ อย่างสตีเฟน ฮอว์กิง (Steven Hawking) ก็ได้เป็นนายแบบถ่ายโฆษณาแว่นตา และมีคำโฆษณาเท่ๆ ว่าใส่แว่นตานี้แล้วมองไกลถึงจักรวาล แต่ที่อังกฤษก็ขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพราะไม่มีคนเรียน แต่เพราะคนที่เรียนทางด้านนี้ถูกดึงเข้าไปในอุตสาหกรรมหมด บางคนก็ถูกดึงเข้าไปทำงานที่ตลาดหุ้น จึงทำให้ครูไม่พอ

สำหรับบรรยากาศที่อยากเห็น อย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดฉายภาพยนตร์ An Inconvenient Truth และเสวนาทางฟิสิกส์ แบบนั้นดี อยากให้เอาผู้บรรยายมาพูด แล้วขายบัตรเป็นค่ากาแฟ รับเป็นกลุ่มเล็กๆ 20-30 คน เพื่อการพูดคุยอย่างเข้มข้น แล้วจัดกันไปเรื่อยๆ จัดกันเป็นปกติ อยากให้มีอย่างนี้ในร้านนม ร้านกาแฟ หรือร้านข้าวมันไก่เยอะๆ

...ทั้งนี้แม้หัวข้อเกี่ยวกับจักรวาลจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันบ่อยครั้ง จนหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเก่า แต่หากมองทรัพยากรบุคคลที่ศึกษาเรื่องจักรวาลวิทยาอย่างมีหลักการในเมืองไทยจริงๆ แล้วกลับมีไม่ถึง 5 คน ซึ่งคงจะดีกว่านี้หากคำถามพื้นฐานที่แม้แต่เด็กก็ยังถามได้ว่า “เราเป็นใคร มาจากไหน” จะถูกนำมาพูดคุย บนพื้นฐานของ “เหตุ” และ “ผล” แม้ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ผลพวงที่จะตามมาก็คือ “สังคมแห่งความรู้” ที่จะพาประเทศชาติของเราก้าวหน้า...



กำลังโหลดความคิดเห็น