xs
xsm
sm
md
lg

3 นักวิจัยญี่ปุ่นชี้ผล “อากาศแปรปรวน” ตอกย้ำสถานการณ์ “โลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 นักวิจัยญี่ปุ่นย้ำ "โลกร้อน" ชี้อากาศแปรปรวนทำกระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงดินถล่มหลังหิมะละลาย ขณะที่ความร้อนจากชุมชนเมืองส่งผลให้เมืองใหญ่ฝนตกหนัก

ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกยังคงเป็นปัญหาสำคัญของมนุษยชาติ ซึ่งภายในการประชุมนานาชาติสมาคมอุทกวิทยาและทรัพยากรน้ำเอเชียแปซิฟิก (APHW) ครั้งที่ 3 เรื่องการจัดการบริหารน้ำอย่างชาญฉลาดและการแก้ไขความยากจนอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมเดอะแกรนด์ ที่จัดขึ้นระหว่าง 16-18 ต.ค. นี้ก็ได้หยิบยกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ ทำให้เห็นภาพตัวต่อที่ตอกย้ำว่าโลกกำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม

อากิโอะ กิโตะ (Akio Kitoh) จากสถาบันวิจัยอุตุนิยมวิทยา ประเทศญี่ปุ่น ได้ศึกษาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อการรวมตัวของไอน้ำในอากาศและกระแสน้ำในช่วง 20 ปีนี้ โดยอาศัยการคำนวณทางคณิตศาสตร์และการจำลองทางคอมพิวเตอร์
พบว่าภาพรวมของแถบอาเซียนนั้น การรวมของไอน้ำในอากาศเพิ่มขึ้นแต่ของการตกของฝนกลับลดลง และบางพื้นที่ไอน้ำในอากาศยังสัมพันธ์กับอัตราการไหลของความชื้นที่มีผลต่อปริมาณน้ำฝน

จากการศึกษาของ กิโตะพบว่าภาวะโลกร้อนได้ส่งผลให้การรวมตัวของไอน้ำในอากาศที่ประเทศอินเดียเพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นรัฐเกรละที่พบว่าปริมาณน้ำฝนและกระแสน้ำไม่สัมพันธ์กับโดยรวมของประเทศ ขณะที่ประเทศไทยนั้นเขาก็ได้ศึกษาแล้วพบว่าการรวมกันของไอน้ำในอากาศลดลง และกระแสน้ำมีปริมาณลดลงสัมพันธ์กับการระเหยของน้ำที่เพิ่มขึ้น และเขายังพบอีกว่ากระแสน้ำในหลายพื้นที่ซึ่งเขาศึกษานั้น จะพบความสัมพันธ์ว่าเมื่อกระแสน้ำที่ต้นน้ำเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อกระแสเบื้องล่างด้วย

ทางด้าน อิโตะ (Y. Ito) นักศึกษาปริญญาโท ปี 2 จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ศึกษาผลกระทบของความร้อนจากชุมชนเมืองต่อการตกของฝน โดยการวิเคราะห์แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของก้อนเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ทั้งนี้ได้เลือกกรณีศึกษาของญี่ปุ่นที่เกิดฝนตกหนักเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2542 ที่ อ.เนริมากุ เมืองโตเกียว อันเป็นชุมชนเมืองที่หนาแน่น ซึ่งวันดังกล่าวมีปริมาณน้ำฝนสูง 131 มิลลิเมตรภายใน 2 ชั่วโมง

ผลจากการศึกษาของอิโตพบว่าทิศทางของไอน้ำและบริเวณที่มีฝนตกจะเคลื่อนไปยังเขตชุมชนเมือง อีกทั้งเขายังสรุปว่าการขยายตัวของชุมชนเมืองและการเติบโตของความร้อนอันเป็นผลพวงจากการกระทำของมนุษย์นั้น
จะเพิ่มความถี่ของภัยพิบัติจากการตกหนักของฝนให้กับพื้นที่เขตเมืองด้วย


ขณะที่ ไซกิ คาวาโกะอิ (Seiki Kawagoe) นักวิจัยแดนปลาดิบอีกคน จากมหาวิทยาลัยโตโฮกุ ได้ประเมินอันตรายของดินถล่มจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดยได้เลือกพื้นที่ของเมืองโตโฮกุเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้เขากล่าวว่าความเปราะบางทางภูมิศาสตร์เป็นเรื่องปกติของญี่ปุ่น และทั้งฝนและหิมะที่มีมากเป็นสิ่งที่นำไปสู่ที่ลาดชันอันตรายและดินถล่ม

คาวาโกะอิพบว่าช่วงเดือน ธ.ค.ทางชายทะเลของญี่ปุ่นมีหิมะตก และเมื่อหิมะละลายในช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย.จะเป็นช่วงที่พื้นที่ชายทะเลของญี่ปุ่นมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดินถล่ม นอกจากนี้เขายังพบโอกาสของความเสี่ยงแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งเขาคาดว่าจะเป็นข้อมูลเพื่อจัดอันดับความสำคัญในการเคลื่อนย้ายผู้คนออกจากที่เสี่ยงภัย อีกทั้งในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงควรได้รับการเตรียมการอพยพและมาตรการป้องกัน

สำหรับการประชุมนานาชาติของสมาคมอุทกวิทยาฯ นี้จะจัดเป็นประจำทุก 2 ปี
โดยเริ่มมีการประชุมครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นประเทศสิงคโปร์ได้เป็นเจ้าภาพ
จนล่าสุดไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งมีนักวิชาการทางด้านน้ำและอุทกศาสตร์มาร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน จาก 48 ประเทศ ส่วนเจ้าภาพครั้งถัดไปคือประเทศจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น