xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยสร้าง “ฝายเล็ก” ชะลอน้ำไหลจากภูเขาได้สูงสุด 80%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยบางมดทันกระแส “น้ำท่วม” ศึกษา “ฝายเล็ก” ชะลอน้ำไหลบนภูเขา ผลในห้องแล็บลดความเร็วกระแสน้ำสูงสุด 80% พร้อมนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย

รศ.ดร.ชัยยุทธ ชินณะราศรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศึกษารูปแบบการไหลของน้ำบนภูเขาที่ผ่านมาอาคารและเครื่องกีดขวาง โดยมีแนวคิดว่าบนภูเขาที่มีฝายเล็กขนาดเล็กๆ โพล่ขึ้นมาบนดิน หากกีดขวางทางเดินของน้ำจะช่วยลดความเร็วการไหลของน้ำได้ ขณะเดียวกันก็จะช่วยลดการพัดพาต้นไม้ ดิน ทราย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนในพื้นที่ด้านล่างของทิศทางน้ำ

วิธีการของ รศ.ดร.ชัยยุทธคือย่อส่วนฝายเล็กลง 1 ใน 100 ส่วนเพื่อทดลองในห้องปฏิบัติการชลศาสตร์ ซึ่งได้ทดลองสร้างฝายจำลองกว้าง 40 เซนติเมตร สูง 5 เซนติเมตร แล้วกำหนดค่าตัวแปรต่างๆ เช่น ปริมาณน้ำ ความเร็วของการไหล พลังงานน้ำ มุมลาดเอียง สมบัติของดิน ความสูงของฝาย ระยะห่าง และการกัดเซาะของน้ำ เป็นต้น แล้วใช้แคลคูลัสเพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

“เบื้องต้นพบว่าน้ำไหลเอื่อยๆ การลำเลียงตะกอนลดลง การพัดพาไม้ กิน ทราย สู่พื้นที่เบื้องล่างลดลง” รศ.ดร.ชัยยุทธกล่าว โดยผลการทดลองในห้องแล็บเบื้องต้นพบว่าความเร็วและพลังงานของกระแสน้ำลดลงอย่างน้อย 40% และบางการทดลองสามารถชะลอความเร็วและพลังงานของน้ำได้สูงสุด 80% และพื้นที่ภูเขาที่ลาดชันกลายเป็นขั้นบันได นอกจากนี้เขายังได้ไปสำรวจฝายในที่ลาดชันของภาคเหนือด้วย

พร้อมเพิ่มเติมว่างานวิจัยของเขานั้นเหมาะกับการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และมีหน่วยงานเป้าหมายที่จะนำไประยุกต์ใช้ได้ เช่น กรมป่าไม้ องค์การบริการส่วนท้องถิ่น กรมบรรเทาสาธารณภัยและกรมชลประทานที่จะนำไปใช้บรรเทาภัยน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาและปรับปรุงผลการวิจัยให้เหมาะกับการใช้งานจริง และยังต้องหาข้อมูลต่อ

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชัยยุทธกล่าวว่าการศึกษาเรื่องการชะลอน้ำไหลด้วยฝายนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ ที่ต่างประเทศเพิ่งมีการศึกษาได้ 6 ปี ขณะที่เมืองไทยสร้างฝายด้วยเทคโนโลยีชาวบ้าน คือใช้หินเรียงกัน ซึ่งก็มีฝายล่ม ฝายแตก และการใช้ประโยชน์ก็เพื่อกักเก็บน้ำเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อชะลอน้ำท่วม แต่จากปัญหาที่ฤดูฝนมีน้ำความเร็วสูงไหลท่วมพื้นที่เฉียบพลัน เกิดดินถล่มและพัดพาดิน หิน มาทำลายบ้านเรือน จึงเกิดความที่จะหาวิธีลดความเร็วของกระแสน้ำนี้ขึ้นมา

แม้ว่าเราจะทราบดีว่าป่าไม้คือด่านชะลอความเร็วของกระแสน้ำในฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างดี แต่จากความสามารถในการรักษาพื้นที่ป่าซึ่งมีค่อนข้างต่ำนี้ งานวิจัยของ รศ.ดร.ชัยยุทธจึงอาจเป็นทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้ผล แต่ทั้งนี้ต้องหามาตรการแก้ปัญหาที่ต้นตอเพื่อให้ได้ผลที่ยั่งยืนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น