ทีเอ็มซีจับมือ 6 ธนาคารพาณิชย์ ชวนผู้ประกอบการโรงงานแป้งมันไทยใช้ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มในโครงการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หลังโรงงานชลเจริญนำไปใช้แล้วได้ผลดี เตรียมขยายการใช้งานแบบซีโร่เวสต์ รองผอ.ทีเอ็มซีเผยยิ่งเอกชนเข้าร่วมไวยิ่งได้ประโยชน์ ขณะที่มีทั้งภาคเอกชนที่พร้อมรับเทคโนโลยีและที่ยังแบ่งรับแบ่งสู้
เป็นเรื่องธรรมดาของนักเทคโนโลยี ที่เมื่อได้พัฒนาเทคโนโลยีใดๆ ขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งแล้ว ก็อยากที่จะนำออกเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ วานนี้ (12 ต.ค.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดการสัมมนา “โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์ม สำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง” ขึ้น ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อเป็นการชักชวนให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังทั่วประเทศได้เข้ารับการถ่ายทอดวิทยาการในโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน (ซีดี) ของศูนย์ฯ โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันยังได้นำคณะผู้ประกอบการภาคเอกชนเดินทางไปเยี่ยมผลการดำเนินการเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์ม ณ โรงงานชลเจริญ จำกัด จ.ชลบุรี ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการมาก่อนหน้านี้จนเห็นผลและมีการขยายการใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง อันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 20 ปีของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผอ.ทีเอ็มซี กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังทั่วประเทศประมาณ 60 โรง และมีผู้ประกอบการที่มีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้ว 30 โรง ในจำนวนนั้นมีผู้ประกอบการที่ได้รับเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มจากโครงการแล้ว 4 โรง คือ โรงงาน ชลเจริญ จำกัด โรงงาน ชัยภูมิพืชผล จำกัด โรงงาน แป้งมันตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด และโรงงาน สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ซึ่งได้ผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะชักชวนผู้ประกอบการที่ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือผู้ประกอบการที่มีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้วแต่ยังให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ ได้เข้ามาร่วมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวผ่านทางโครงการด้วย
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับได้แก่ การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทีเอ็มซี ซึ่งจะช่วยให้ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานมีค่าก่อสร้างถูกกว่าการว่าจ้างให้บริษัทต่างชาติเข้ามาก่อสร้าง จากประมาณ 100 ล้านบาท เหลือเพียง 45-50 ล้านบาท การทำให้กลิ่นเหม็นจากบ่อบำบัดน้ำเสียลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการช่วยเหลือด้านการบำรุงรักษาระบบเมื่อมีการใช้งาน ขณะที่เมื่อผลิตก๊าซมีเทนมาแล้ว ทางโรงงานยังสามารถใช้ก๊าซชีวภาพเหล่านั้นทดแทนน้ำมันเตาในโรงงานหรือใช้ผลิตไฟฟ้าในภาคการผลิตได้
ที่สำคัญผู้ประกอบการยังจะได้รับการสนับสนุนจากโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย และธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ประเทศไทย) ที่จะสนับสนุนการกู้เงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3-4 ต่อปี เป็นเวลา 4-6 ปี และมีระยะเวลาปลอดเงินต้นในช่วง 1 ปีแรก ซึ่งขณะนี้ไทยธนาคาร ยังได้แสดงความสนใจเข้ามาร่วมให้การสนับสนุนโครงการด้วย
รศ.ดร.สมชาย บอกด้วยว่า สาเหตุที่ทีเอ็มซีได้เลือกนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่รับประกันผลการดำเนินงานได้ หากผู้ประกอบการรายใดสนใจก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ทันที ทางศูนย์ฯ จะให้บริการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการแต่ละรายให้มากที่สุด โรงงานใดที่มีความพร้อมรับวิทยาการก็สามารถนำไปใช้งานได้ทันที ขณะที่บางโรงงานอาจไม่พร้อมทั้งหมดก็อาจนำไปปรับใช้เพียงบางส่วน ยิ่งผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการเร็วเท่าใด ก็จะได้ประโยชน์กลับไปเร็วเท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าของการนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มที่โรงงานชลเจริญ พบว่า ทางโรงงานสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำลังมีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 1 บ่อ เป็นระบบไฮบริดหรือระบบลูกผสมระหว่างระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มกับระบบยูเอเอสบี เพื่อหมุนเวียนน้ำในโรงงานมาใช้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการผลิตแบบไร้ของเสียสู่ธรรมชาติด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ทางโรงงานยังสามารถผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนการใช้น้ำมันเตาได้ทั้งหมด 100% ส่วนก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มากเกินกว่าที่จะใช้งานในช่วงเวลาประมาณ 2 เดือน ราว 20,000 ลบ.ม.นั้น ได้มีการเก็บไว้ที่บ่อบำบัดน้ำเสียที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะ พร้อมกับจะนำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าราคา 15 ล้านบาทเข้าสู่โรงงานเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และหากเหลือใช้อีกก็จะส่งขายไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย
นายประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการบริษัท อุตสาหกรรมแป้งมันบ้านโป่ง จำกัด กล่าวภายหลังเยี่ยมชมโรงงานชลเจริญว่า ได้รู้จักเทคโนโลยีดังกล่าวมานานแล้ว ส่วนทางโรงงานของตัวเองก็ได้เข้าร่วมโครงการซีดีของทีเอ็มซีในระยะแรกเพื่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียยูเอเอสบีมาประมาณ 2 ปีก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน อีกทั้งกำลังมีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดใหม่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบ่อ คาดว่าจะเป็นบ่อบำบัดแบบลูกผสมระหว่างระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มและระบบยูเอเอสบีเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ซึ่งแต่ละระบบก็มีข้อดีเป็นของตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าแม้ระบบยูเอเอสบีจะมีประสิทธิภาพดี แต่ก็มีเงินลงทุนในระยะแรกของค่อนข้างสูงและกินพื้นที่มาก
ขณะที่ นางจินตนา กิติกุลพลจี ผู้จัดการบริษัท ซีพีวาย พร๊อพเพอตี้ จำกัด เผยว่า ตัวเองได้รู้จักเทคโนโลยีนี้มานานแล้วเช่นกัน แต่เพิ่งมาให้ความสนใจลงทุน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ ซึ่งในส่วนของโรงงานเองก็กำลังจะย้ายฐานการผลิตจาก จ.นครราชสีมา ไปยัง จ.กำแพงเพชร จึงมีความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ แต่ทว่าก็ยังอยากเก็บข้อมูลจากการเยี่ยมชมบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอื่นๆ ให้มากกว่านี้ก่อนจึงค่อยตัดสินใจ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัยในการกักเก็บก๊าซชีวภาพที่ต้องทำให้แน่ใจให้มากที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับชีวิตของคนงานด้วย