“มีชัย วีระไวทยะ” เผยสังคมไทยต้องส่งเสริมการคิดนอกกรอบสร้างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต ชี้การศึกษาไทยเน้นท่องจำ ไม่สอนให้สร้างสรรค์ แค่อ่านออกเขียนได้ บวกลบเลขเป็น ทุกอย่างอยู่ในสูตร แนะคิดนอกกรอบ-นอกสูตรบ้าง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ยกตัวอย่างโครงการจับมือภาคธุรกิจคืนกำไรสังคมพัฒนาคุณภาพชีวิต ชี้สถานการณ์เอดส์ไทยน่ากลัว รัฐบาลทิ้งร้าง 3 ปี ขอรัฐบาลใหม่ช่วยให้ความสำคัญ
เปิดงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ววันนี้ (5 ต.ค.) สำหรับ “งานวันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2549” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดโครงการ “แกล้งดิน” เพื่อผลิกฟื้นผืนดินเสื่อมคุณภาพให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้เริ่มจัดงานในปีนี้เป็นปีแรก ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมี ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธาน
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อแรกเรื่อง “นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตของสังคมไทย” โดยนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ซึ่งกล่าวว่า คำว่านวัตกรรมในความหมายของตัวเองคือ “การคิดนอกกรอบ” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังขาดอยู่ เพราะสังคมไทยไม่เอื้อต่อการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาผู้นำในสังคมไทยมีน้อยรายที่กระตุ้นให้ประชาชนได้คิดนอกกรอบ อีกทั้งการศึกษาไทยยังได้สอนให้คนไทยเป็นผู้ตามมากกว่าเป็นผู้นำ ทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมายตามมา
“สังคมไทยควรส่งเสริมให้เกิดการคิดนอกกรอบเริ่มตั้งแต่เด็กและเยาวชน ให้เกิดความสงสัย การหาความรู้เพิ่มเติมโดยไม่เป็นการทำร้ายใคร ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เมื่อพบปัญหา เช่น ปัญหาน้ำท่วม ที่เราต้องหาทางออกใหม่ๆ ต้องไม่พูดว่าทำไม่ได้ แต่ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะการศึกษาไทยสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ บวกและลบเลขเป็น สอนให้ท่องจำ ทุกอย่างอยู่ในสูตรทั้งหมด ทั้งเลข เคมี ฟิสิกส์ จึงเราควรที่จะมีคนที่คิดนอกสูตรบ้าง”
สำหรับตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตของสังคมไทยที่นายมีชัยได้นำมากล่าวถึงคือ นวัตกรรมเรื่องการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด การพัฒนาประชากรและชุมชนที่นายมีชัยได้ร่วมทำงานอยู่ด้วยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนกับภาคธุริจพันธมิตรที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโครงการ ภายหลังจากที่ไปขอความร่วมมือจากภาคราชการแล้วไม่ค่อยได้รับการตอบรับเท่าที่ควร
อาทิ โครงการเผยแพร่การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ที่ปกติจะเป็นอำนาจผูกขาดการจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้หญิงส่วยใหญ่โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคเข้าไม่ถึงยาเม็ดคุมกำเนิด ทางโครงการจึงเข้าไปดำเนินการแก้ปัญหาโดยการอบรมอาสาสมัครที่เป็นสมาชิกในชุมชนสามารถจ่ายยาให้แก่ผู้หญิงในชุมชนตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งการจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิดจากแพทย์เพียงผู้เดียว
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังได้ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการวางแผนครอบครัว การให้ค่านิยมกับถุงยางว่าเป็นของสะอาด ไม่ได้เป็นของไม่ดี ส่วนผู้ชายเองก็ต้องมีความรู้เรื่องการทำหมันชายอย่างถูกต้อง ขจัดความเชื่อผิดๆ ไปให้หมดโดยทำให้เห็นของจริงเพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่ากลัว พร้อมทั้งมีการจัดอบรมครู 320,000 คนทั่วประเทศให้ความรู้ในวงกว้าง ขณะที่การสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชน นักเรียนและนักศึกษา จะอาศัยกลวิธีการผูกเรื่องให้น่าสนใจและง่ายแก่การจดจำ เช่น การนำตัวอักษร ก – ฮ มาผูกเรื่องใหม่เพื่อให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว เป็นต้น
นายมีชัย กล่าวว่า จากการรณรงค์การวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิดที่ผ่านมาถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ อัตราการเพิ่มของประชากรไทยมีน้อยลงกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนหลายเท่าตัว สำหรับปี 2549 ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเพียง 0.6% เฉลี่ย 1 ครอบครัวจะมีบุตร 1.2 คน การเพิ่มขึ้นของประชากรจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยอีกต่อไป เพียงแต่ต้องมีการให้ความรู้ประชากรเรื่องการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดให้สามารถมีบุตรได้เมื่อพร้อมเท่านั้น หากอัตราการเพิ่มของประชากรจะเพิ่มขึ้นถึง 1% ก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
นอกจากนี้ ในส่วนของการรณรงค์เรื่องการแพร่ระบาดและการรับมือกับโรคเอดส์นั้น เขากล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกับภาคธุรกิจในการให้ความรู้ประชาชนในหลายด้าน อาทิ การให้ความรู้ผ่านผู้ใหญ่ในบ้านเมือง สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ดารานักร้อง การหาฮีโร่หรือตราสัญลักษณ์ของการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ หรือแม้แต่การจัดตั้งสมัชชาความรู้เรื่องเอดส์ ฯลฯ
การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ในปี 2548 ธนาคารโลกมีรายงานว่า ประเทศไทยสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ 7 ล้านคน การใช้เงินรณรงค์เรื่องโรคเอดส์เพียง 1 ล้านบาท จะสามารถประหยัดค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อถึง 43 ล้านบาท รัฐบาลสามารถประหยัดค่ารักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อได้ถึง 7 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ยังทำให้เกิดโครงการให้เงินกู้แก่ผู้ติดเชื้อร่วมกับคนใกล้ชิดที่ไม่ติดเชื้อได้ลงทุนทางธุริกจร่วมกัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถทำงานได้ ไม่ถูกกีดกันโดยสังคม มีกำลังใจในการใช้ชีวิตอย่างเต็มภาคภูมิ เช่น ตัวอย่างผู้ติดเชื้อที่ได้ลงทุนเปิดร้านขายอาหารในโรงเรียนที่บ่งชี้ได้ชัดเจนที่สุดว่าสังคมเริ่มเข้าใจ ไม่รังแก หรือรังเกียจผู้ติดเชื้ออีก
อย่างไรก็ดี นายมีชัย เผยว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเอดส์ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ทว่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ภาครัฐกลับไร้บทบาทโดยสิ้นเชิง เช่น การห้ามสื่อวิทยุ-โทรทัศน์กล่าวถึงโรคเอดส์ การทำงานจึงขาดช่วงลง สังคมไทยจึงมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งจากที่เคยลดลงไปมากแล้ว ซึ่งหากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้วก็อยากเสนอให้มีการให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่และเคยทำมาก่อนแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น นอกจากตัวอย่างการดำเนินโครงการของสมาคมฯ ข้างต้นแล้ว นายมีชัย กล่าวว่า ยังมีอีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคเอกชนในลักษณะโครงการคืนกำไรให้สังคม ขยายไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอีกหลายกลุ่ม เช่น คนพิการ เด็กกำพร้า แม่หม้าย ผู้เคยต้องโทษ และผู้สูงอายุ อาทิ โครงการกองทุนหมู่บ้านโดยการระดมเงินจากการทำกิจกรรมที่แต่ละท้องถิ่นมีความพร้อม อาทิ โครงการปลูกป่า การปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไหมไทย การส่งเสริมการเลี้ยงปูม้า การขยายภาคการผลิตไปสู่ภูมิภาคป้องกันการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและการคงความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานและผู้สูงอายุในครอบครัว การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมผู้นำชุมชนรุ่นเยาว์ที่รู้จักและเข้าใจประชาธิปไตย ความโปร่งใส และหลักการเรื่องความเสมอภาค ตลอดจนถึงกิจกรรมรวมใจประชาชนในชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติต่างภูมิภาคโดยความริเริ่มประชาชนในชุมชนเอง ฯลฯ
“เส้นทางเดียวที่เราจะทำให้คนจนพ้นจากความยากจนได้ จำไว้ว่ามีทางเดียวคือ เส้นทางทางธุริกจ สมาคมฯ จึงต้องพยายามดึงความช่วยเหลือจากภาคธุริกจให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ผมอยากเห็นทายาททางธุรกิจที่ร่ำรวยแล้ว ได้มาตั้งบริษัทของตัวเอง ทำธุรกิจให้เต็มที่ แล้วนำรายได้มาทำกิจกรรมตอบแทนสังคมด้วย” นายมีชัย กล่าว