xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ฝรั่งเศสสร้างภาวะไร้น้ำหนักกลางอากาศ ทดลองผ่าตัดซีสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การผ่าตัดท่ามกลางสภาพไร้แรงโน้มถ่วงจำลอง มีอุปสรรคระหว่างการปรับสภาพขึ้นลงเพื่อสร้างภาวะไร้น้ำหนัก ส่วนการผ่าตัดลุล่วงไปได้ด้วยดี
เอเจนซี/เอพี/บีบีซีนิวส์ – ทีมแพทย์เมืองน้ำหอมอดทนเวียนหัวบินวนขึ้นลงกลางท้องฟ้าอยู่หลายสิบรอบ เพื่อสร้างภาวะไร้น้ำหนักจำลอง ระหว่างปฏิบัติการผ่าเอาก้อนซีสต์ออกจากแขนชายหนุ่ม นับเป็นการผ่าตัดในสภาวะซีโร่จีกับมนุษย์เป็นครั้งแรก และที่สุดก็ได้คำตอบว่า มนุษย์สามารถผ่าตัดนอกอวกาศได้โดยไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

ทีมศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ทั้งวงการแพทย์และอวกาศด้วยการผ่าก้อนซีสต์ออกจากตัวผู้ป่วยขณะอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง หรือซีโร-จี (Zero-g : Zero gravity) บนเครื่องบินที่บินโค้งขึ้นลงไปมาบนท้องฟ้า โดยแต่ละช่วงจะมีเวลา 22 วินาทีสำหรับสภาพไร้น้ำหนัก ทำให้ต้องใช้การบินขึ้นลง 30 กว่าครั้งการผ่าตัดจะสำเร็จลง

การเตรียมการผ่าตัดในสภาพไร้หนักน้ำหนักให้แก่มนุษย์เป็นครั้งแรกของโลกนี้ใช้เวลามากกว่า 3 ปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการผ่าตัดนอกอวกาศด้วยการใช้หุ่นยนต์บังคับ และการทดลองดังกล่าวหวังจะพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เหมาะสมพอที่จะสามารถผ่าตัดแบบฉุกเฉินบนสถานีอวกาศนานาชาติได้

ปฏิบัติการผ่าตัดในสภาพไร้น้ำหนักเกิดขึ้นในเต็นท์พลาสติกปลอดเชื้อที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในห้องโดยสาร มีศัลยแพทย์ 3 คน, วิสัญญีแพทย์อีก 2 คน และช่างภาพอีก 1 คน โดยทุกคนถูกยึดไว้กับผนังด้วยห่วงที่นักปีนเขาใช้กัน เพื่อความสะดวกในการผ่าตัด แม้ว่าทุกคนจะผ่านการฝึกฝนการทรงตัวในสภาพไร้น้ำหนักอย่างที่นักบินอวกาศฝึกกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

เครื่องบินแอร์บัสเอ 300 ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เป็นพาหนะนำทุกคนไปสู่สภาพไร้แรงโน้มถ่วง โดยบินขึ้นลงวนไปมาระหว่างความสูง 20,000 – 27,560 ฟุตเหนือน่านฟ้าเมืองบอร์กโดซ์ (Bordeaux) ประเทศฝรั่งเศสโดยเมื่อเครื่องไต่ถึงระดับสูงสุดที่ 27,560 ฟุตนักบินก็กลับหัวเครื่องปล่อยให้พุ่งลงจนถึงระดับ 20,000 ฟุตด้วยมุม 30 องศา จากนั้นนักบินก็บังคับเครื่องให้ตั้งทำมุม 45 องศาไต่ระดับระดับขึ้นไปอีกครั้ง บินวนขึ้นลงเป็นรูปคลื่นอยู่เช่นนี้

ระหว่างนั้นทีมศัลยแพทย์ดำเนินการผ่าตัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอุปสรรคอยู่ที่การกลับไปกลับมาระหว่างสภาพไร้น้ำหนักกับสภาพปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการวิงเวียน โดยเครื่องบินต้องบินขึ้นลงอยู่ 30 กว่ารอบนานกว่า 3 ชั่วโมง แต่การผ่าตัดมีขึ้นจริงไม่ถึง 11 นาทีเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเวลาปกติทั่วไปที่ใช้ผ่าตัดซีสต์ก้อนน้อยๆ ตามโรงพยาบาล

“พวกเราดำเนินการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคปกติทั่วไป ซึ่งวิธีการแบบนี้ก็ไม่เกิดความผิดปกติใดๆ ระหว่างที่ผ่าตัดมนุษย์ท่ามกลางสภาพไร้น้ำหนัก” ดร.โดมินิก มาร์แตง (Dominique Martin) หัวหน้าทีมแพทย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์เผย และการผ่าตัดครั้งนี้ก็เป็นไปตามแผน ยังไม่ปรากฏข้อผิดพลาดใดๆ นั่นเพราะมีการซักซ้อมมาอย่างดี

ส่วนฟิลิปเป ซางโชต์ (Philippe Sanchot) ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ป่วยทดลองผ่าตัดครั้งนี้ เพราะเขาเป็นนักกระโดดบันจีจัมพ์ตัวยง ฉะนั้นโอกาสที่จะหัวใจวายระหว่างเครื่องบินดิ่งขึ้นลงเพื่อสร้างภาวะไร้น้ำหนักนั้นยากเต็มที โดยเขาถูกวางยาสลบตั้งแต่ก่อนเครื่องจะบินขึ้น และตอนนี้ฟื้นสติเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง

“ผมรู้สึกเพลียนิดหน่อย เพราะหัวหมุนติ้วไปมา” ซางโชต์วัย 46 ปีเผย

กระบวนการทดลองในเบื้องต้นก็เพื่อหาแนวคิดว่าการผ่าตัดในอวกาศควรจะเป็นในรูปแบบไหน โดยแท้จริงแล้วต้องการสังเกตข้อมูลการไหลเวียนของเลือดระหว่างอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก และต้องการอุปกรณ์พิเศษแตกต่างอะไรจากการผ่าตัดที่สภาพแรงโน้มถ่วงโลกหรือไม่

ทั้งนี้ ทีมแพทย์ผู้ทดลองเผยว่า การผ่าตัดครั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้ประจักษ์แก่ผู้ที่โต้แย้งหรือคิดว่าการผ่าตัดในอวกาศนั้นเป็นไปไม่ได้

“เป็นเที่ยวบินที่บินขึ้นลงวนไปมา ผมไม่ได้ทำมันขึ้นมาเพื่อความสนุก รอบสุดท้ายของการบิน ผมรู้สึกว่าระบบการย่อยมันไหลย้อนกลับออกมาหน่อย พะอืดพะอมเล็กน้อย” มาร์แตงกล่าว ซึ่งภาวะเช่นนี้ผู้ที่เคยนั่งโรลเลอร์คอสเตอร์ หรือเครื่องหมุนเครื่องเหวี่ยงตามสวนสนุกคงเคยได้สัมผัส

ภาพวิดีโอที่บันทึกได้ระหว่างการผ่าตัดนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างเป็นปกติเหมือนผ่าตัดทั่วๆ ไป เพียงแต่ช่วงที่กำลังเย็บแผลมีก้อนเนื้อเยื่อสีชมพูหลุดลอยขึ้นลงไปมาใกล้ๆ กับมือหมอ

อย่างไรก็ดี มาร์แตงหัวหน้าทีมแพทย์ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการผ่าตัดแบบไหนนั้นเหมาะสมที่สุดในสภาพไร้น้ำหนัก ถ้าเขามีเวลามากถึง 2 ชั่วโมงในสภาพไร้น้ำหนัก ก็อาจจะสามารถผ่าตัดไส้ติ่งได้ แต่ในการทดลองนี้มีเวลาเพียงแค่ 10 นาที จึงแสดงให้เห็นขั้นตอนได้ตามสภาวะเพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยไม่ได้เกิดปัญหาใดๆ หลังผ่าตัด

การผ่าตัดครั้งนี้เป็นขั้นที่ 2 ของการทดลองที่วางแผนไว้ทั้งหมด 3 ขั้นด้วยกัน โดยขั้นแรกนั้นมาร์แตงได้ทำการทดลองในปี 2003 ด้วยรูปแบบเดียวกันนี้ แต่เป็นการผ่าตัดหลอดเลือดที่บริเวณหางของหนูทดลอง ซึ่งซับซ้อนกว่า เพราะต้องทำงานกับพื้นที่หลอดเลือดที่มีความกว้างเพียง 0.5 มิลลิเมตร ส่วนกับมนุษย์ในครั้งนี้เขาพยายามทำให้ยุ่งยากน้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการทดลองขั้นที่ 3 มาร์แตงวางแผนว่าจะใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดบังคับจากภาคพื้นดินผ่านสัญญาณดาวเทียม แต่ให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักอย่างนี้เช่นกัน ซึ่งถ้าได้รับอนุมัติด้านงบประมาณ ก็พร้อมจะทดลองได้ปีหน้า โดยทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษาอวกาศแห่งฝรั่งเศส (French National Center for Space Studies) และองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency)

นอกจากนี้ทางองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ก็เคยทดลองบังคับหุ่นยนต์ผ่าตัดหนูจำลองในห้องทดลองใต้ทะเล ที่ชายฝั่งฟลอริดา ส่วนองค์การอวกาศยุโรปต้องการทดสอบ เนื่องจากตั้งเป้าว่าอีก 14 ปีข้างหน้าจะสามารถตั้งนิคมบนดวงจันทร์ได้แล้ว และหากมีการเจ็บป่วยระหว่างสำรวจอวกาศ ซึ่งปัจจุบันมีมนุษย์เข้าออกสู่อวกาศแล้วมากกว่า 400 ราย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงนำกลับมารักษาที่โลก

อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของการทดลองในเบื้องแรก อาจจะนำไปใช้ในการบังคับหุ่นยนต์ให้สามารถผ่าตัดในสถานที่ทุรกันดาร อย่างอย่างในถ้ำลึก หรือซากอาคารที่พังทลายเมื่อที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เข้าถึงยาก
ก่อนเตรียมบินทุกคนจะได้รับยาแก้คลื่นเหียนวิงเวียนก่อน




คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

ทีมศัลยแพทย์นำโดยคุณหมอมาร์แตง (ขวา)




กำลังโหลดความคิดเห็น