จับเข่าพูดถึง “สังคมฐานความรู้” (Knowledge -Based Society) ขึ้นมาทีไร หลายคนอาจนึกย้อนกลับไปถึงครั้งแรกๆ ที่ได้ยินศัพท์คำนี้เมื่อกว่าสิบปีก่อน ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 จากปากนักวิชาการบ้าง และปากนักการเมืองบ้าง ฯลฯ
แต่ที่จะให้มาเฟื่องกันจริงๆ คงไม่พ้นรัฐบาลยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ที่พูดถึงสังคมฐานความรู้ที่ผนวกเข้ากับมิติด้านเศรษฐกิจเป็น “เศรษฐกิจสังคมฐานความรู้” (Knowledge – Based Economy and Society System: KBES) กันได้ไม่เว้นแต่ละวัน สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจชาติแบบใส่เกียร์ห้า ท้าไม่มีเบรก!
ทว่า หลังจากที่ได้ยินกันมานมนาน ก็ยังไม่พบเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้เกิดขึ้นมาจริงๆ ในประเทศไทยเสียที ทิ้งให้เป็นนามธรรมที่ไร้การปฏิบัติ ความหวังล่าสุดที่จะให้มีสังคมรูปแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จึงเป็นของสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่กำลังเป็นตัวตั้งตัวตี หาแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดนำมาใช้จริงในบ้านเรา ไม่ใช่หอคอยงาช้างที่พูดจบก็พับเก็บขึ้นหิ้งบูชาอย่างที่เป็นๆ มา
การสัมมนาวิชาการ “แนวทาง รูปแบบการสร้างเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ในชุมชน” เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เชียงใหม่ โดยมี นายครรชิต พุทธโกษา ผอ.ภารกิจสร้างเศรษฐกิจและสันติสุข วช. เป็นประธาน พร้อมนักวิชาการและผู้นำชุมชนในเขตภาคเหนือเข้าร่วมสัมมนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วม 100 คน
ผอ.ภารกิจสร้างเศรษฐกิจและสันติสุข กล่าวถึงจุดประสงค์ของการสัมมนาว่า เพื่อให้ได้แนวทางและรูปแบบของเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ในชุมชนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ก่อนนำไปปรับใช้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ และเกิดการสร้างเครือข่ายตามมาในภายหลัง มีมติการพัฒนาครอบคลุมเนื้อหา 4 ด้านคือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หัตถกรรมและการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ นางวิลาวัลย์ ตันรัตนกุล ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” กล่าวถึง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ.2550-2555 ที่กำลังจะนำมาใช้อยู่ขณะนี้ว่า เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทางสายกลางเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความสมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีเงื่อนไขพื้นฐานคือ ความรู้ คุณธรรม และความเพียร
นอกจากนั้น แผน 10 ไม่เพียงเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยกำหนดตำแหน่งประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งเมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศแล้ว จะพบทั้งจุดแข็งและโอกาสที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนและความเสี่ยงในหลายๆ เรื่อง
ปัจจัยจากต่างประเทศ อาจได้แก่ ความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกับจีนและอินเดีย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเปิด, สังคมโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมาก, ความก้าวหน้าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพกำลังมาแรง, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปมาก ขณะเดียวกันก็มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ตลอดจนการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ มาทดแทนน้ำมัน, และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ที่ทำให้มีแรงงานต่างด้าวไหลเข้ามาในประเทศ กลับกันก็เกิดภาวะสมองไหล
ส่วนปัจจัยภายในประเทศได้แก่ ปัจจัยด้านการศึกษา ที่แม้คนไทยจะมีค่าเฉลี่ยการศึกษาที่ดีขึ้นแต่ไม่อาจดึงความรู้มาใช้ได้น่าพอใจ, ผู้คนมีสุขภาพดีขึ้นแต่ก็มีวิกฤติด้านค่านิยมและพฤติกรรมเสี่ยง, ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายเพื่อตอบสนองกับความต้องการของภาคธุรกิจ มีผลกระทบทำให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้น, ปัญหาพลังงานทำให้เศรษฐกิจของประเทศขาดเสถียรภาพ ที่สำคัญคือภาคธุรกิจไทยหวังพึ่งตลาดต่างประเทศมากเกินไป ยากต่อการรับมือหากเกิดการเปลี่ยนแปลง
ส่วนปัจจัยเรื่องการพัฒนาชุมชนมีนิมิตหมายอันดีว่า คนไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและมีความรู้มากขึ้น มีผู้นำการพัฒนา ผู้นำท้องถิ่น และนักปราชญ์ กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 1.7 ล้านคน แต่คนไทยกลับมีน้ำจิตน้ำใจต่อกันน้อยลง วัฒนธรรมและภูมิปัญญาถูกละเลยและด้อยค่าลง “สังคมขยายตัวมากขึ้นแต่คนมีความสุขน้อยลง”
ด้านธรรมภิบาลในสังคมก็เป็นอีกด้านที่ถือว่ามีความก้าวหน้ามากขึ้นเช่นกัน โดยราชการมีการตื่นตัวปรับตัวให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ภาคเอกชนให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ในสังคม มีสำนึกและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม แต่ก็ยังมีการกระจายผลประโยชน์ในสังคมอย่างไม่เป็นธรรม
“เป้าหมายการวางตำแหน่งประเทศไทยคือ การไปสู่สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) มีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสรีภาพ และเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรมีความยั่งยืน อยู่ภายใต้การบริหารจัดการที่มีมีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี”
สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ นางวิลาวัลย์ ระบุว่า ต้องเกิดมาจากการผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจฐานความรู้และสังคมฐานความรู้เข้าด้วยกัน เป็นสังคมที่ประกอบด้วยต้นทุนทางมนุษย์ และปัจจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้บริบทของธรรมาภิบาล เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่า
ขณะที่ ดร.พรเทพ พิมลเสถียร ผอ.สถาบันสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ให้นิยามของเศรษฐกิจชุมชนฐานความรู้ ในความหมายของชุมชนเข้มแข็งว่า หมายถึง “ชุมชนที่มีศักยภาพ มีความรัก ความสามัคคี จงรักภักดีต่อชุมชน ใฝ่เรียนรู้ มุ่งพัฒนาตัวเองให้มีความคิด พลังสติปัญญา เพื่อพึ่งพาตัวเองในทุกด้าน รู้จักวางแผนจัดการทรัพยากร แก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนด้วยตัวเอง มุ่งหวังประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว มีเสถียรภาพ มีสันติสุข เพราะชุมชนมีคุณธรรมนำชีวิต”
ดร.พรเทพ แสดงความเห็นว่า ชุมชนที่เข้มแข็งต้องมาจากเศรษฐกิจพอเพียงในระดับล่างขึ้นไป ไม่ใช่ชุมชนที่เน้นการแข่งขัน หากแต่ต้องใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน มีคุณธรรม มีภูมิปัญญา และพัฒนาภูมิปัญญานั้นๆ อิงสถาบันมากกว่าการยึดถือตัวบุคคล รวมทั้งยังต้องปรับบทบาทของราชการให้เป็นเพียงพี่เลี้ยง แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณสู่ชุมชนได้ทันที โดยไม่ติดขัดขั้นตอนผ่านจังหวัด
ทั้งนี้ นายครรชิต ในฐานะแม่งาน ได้กล่าวถึงภาพคร่าวๆ ของเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ในประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีสังคมในรูปแบบนี้เกิดขึ้นจริงเลย แต่อาศัยจุดแข็งด้านแรงงานราคาถูกและความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติมานานจนยากจะแข่งขันกับต่างประเทศได้
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความเชื่อและค่านิยมที่ภาครัฐจะอยู่ในฐานะผู้สั่งและผู้ให้เรื่อยมา ขณะที่ชุมชนจะเป็นได้เพียงผู้สนองคำสั่งและรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นหลัก ทำให้ชุมชนขาดความเข้มแข็งและไร้การมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้
“เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนความคิดกันใหม่ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้คนในชุมชน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเป็นผู้พัฒนาชุมชนตัวเอง มองเห็นและแก้ปัญหาในชุมชน ไม่หวังพึ่งภาครัฐ โดยมีภาครัฐทำหน้าที่ต่างพี่เลี้ยง คอยให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาหารือ แต่ไม่ใช่การให้เพียงประการเดียวอย่างที่แล้วๆ มา”
ส่วนผลของการสัมมนาครั้งนี้ เขาเชื่อว่าจะทำให้ได้แนวทางและรูปแบบที่มีความสมบูรณ์กว่า 80% จากนั้นจะนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาของ วช.อีกชั้นหนึ่ง ก่อนนำไปใช้ในปี 50-51 กับชุมชนต้นแบบ 4 แห่งที่วางแผนกันเบื้องต้น คือ กลุ่มสหกรณ์ส้มโอเวียงแก่น จ.เชียงราย, ชุมชนสันทราย จ.เชียงใหม่ , ชุมชนโครงการลูกพระดาบส จ.สมุทรปราการ และชุมชนที่ตั้งของศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งกำลังจะกำหนดว่าจะเป็นที่ใด ระหว่าง จ.ขอนแก่นและอุบลราชธานี
“เบื้องต้นได้เสนอของบประมาณไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบ 4 แห่งๆ ละ 20 ล้านบาท หากการทำชุมชนต้นแบบได้ผลดีก็จะนำไปขยายสู่ชุมชนอื่นๆ ด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งด้วยองค์ความรู้ขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวเอง และเป็นการกระจายอำนาจสู่ชุมชนอย่างแท้จริง” ผอ.ภารกิจสร้างเศรษฐกิจและสันติสุข วช. กล่าวหนักแน่น
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการบรรยายในเชิงแนวความคิดกันพอให้เห็นภาพแล้ว ไฮไลต์สำคัญของการสัมมนากลับมุ่งหนักอยู่ที่การอภิปรายแลกเปลี่ยนกันของผู้ที่ทำงานในชุมชนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนายเสรี ศรีหะไตร ผอ.ส่วนอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาความยากจน กรมการปกครอง ที่บอกว่า จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง การสร้างสังคมดังกล่าวขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการทำงานอย่างสมานฉันท์กับหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นเรื่องที่ยากมาก โดยหากหมู่บ้านซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของประเทศไม่แข็งแรง ประเทศก็จะลำบาก
ขณะที่นายสมพร ธงศรี จากกรมการพัฒนาชุมชน บอกว่า การสร้างสังคมดังกล่าวจะต้องอาศัยความรู้เป็นหลัก ทั้งความรู้ในชุมชนที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่แล้วแต่ถูกเพิกเฉย และข้อมูลข่าวสารจากนอกชุมชน ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนกันได้แก่ การร้องขอให้มีการสนับสนุนจากภาครัฐเกิดความต่อเนื่องจริงจัง ไม่ทำทิ้งทำขว้าง ขอเพียงภาครัฐช่วยในการพัฒนาบุคลากรของชุมชนแล้วปล่อยให้ชุมชนคิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ในชุมชนนั้นๆ จะนำเงินมาร่วมในการพัฒนาด้วย
สุดท้ายนี้ สังคมไทยจึงต้องรอให้เวลาและการติดตามดูแลจากสังคมเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองต่อไปว่า ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้จะประสบความสำเร็จเพียงใด ได้ผลมากหรือน้อยเพียงไรต่อไป หากเกิดผลสำเร็จ ผลดีก็จะตกแก่คนทั้งประเทศไม่มากก็น้อย