xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “สารเคมีอันตราย” ผ่านเน็ต วอนเอสเอ็มอีไทยใส่ใจกฎยูเอ็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารเคมีอันตราย สารเคมีที่เราต้องหลีกเลี่ยงหรือทำความรู้จักมันให้มากขึ้น?
ผู้เชี่ยวชาญวอนเอสเอ็มอีไทยใส่ใจข้อกำหนดด้านการใช้สารเคมีของสหประชาชาติ ย้ำอย่าเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น ระบุแม้แต่ถ่านหุงต้มก็เคยทำเรือเดินทะเลล่มมาแล้ว จนนานาชาติต้องจัดให้อยู่ในหมวด “ของแข็งไวไฟ” เชื่อหากทำตามข้อกำหนดจะเป็นตัวฉุดมูลค่าสินค้าไทยสูงขึ้น มั่นใจไทยมีศักยภาพเพียงพอ หวังหลักสูตรเรียนออนไลน์ของทีเอ็มซีจะช่วยให้ความรู้คนในวงกว้าง

ขึ้นชื่อว่า “สารเคมี” แค่ชื่อก็อาจฟังดูน่ากลัวในความคิดของใครหลายๆ คน กระนั้น การไม่รู้จักสารเคมีดีพอ กลับแฝงมาซึ่งความน่ากลัวมากกว่า โดยเฉพาะกับชีวิตประจำวัน ที่เราต้องสัมผัสกับสารเคมีหลายชนิด ทว่ากลับเป็นเราที่ไม่รู้จักมันเท่าที่ควร

วันนี้ (16 ก.ย.) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดการปฐมนิเทศหลักสูตรเรียนออนไลน์เรื่อง “ความเสี่ยงและอันตรายจากวัตถุเคมี” ขึ้น ณ ห้องประชุมอาคาร สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยมีผู้เข้าอบรมในโครงการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสิ้น 124 คน

สำหรับหลักสูตรการเรียนออนไลน์ของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งหลักสูตรการเรียนนอกห้องเรียนของศูนย์ฯ ซี่งก่อนหน้านี้เคยจัดการอบรมออนไลน์เรื่อง “กล้วยไม้” และ “การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา” มาแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เรื่องคุณสมบัติ การจัดการ และวิธีการแก้ปัญหาสารเคมีอันตรายและของเสียอันตราย โดยใช้เนื้อหาสากลประกอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ เช่น ไฟไหม้ แก๊สระเบิด และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล เป็นตัวอย่างให้ผู้เรียนได้มองเห็นภาพปัญหา

นางเอื้อนพร ภู่เพ็ชร์ หัวหน้าแผนกสินค้าอันตราย คลังสินค้าเคมี การท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนเข้าสู่การอบรมบนอินเตอร์เน็ตว่า สินค้าอันตราย หรือสารเคมีอันตราย (Dangerous Goods) หมายถึง สิ่งของหรือวัตถุที่มีคุณสมบัติทางเคมีหรือทางกายภาพโดยตัวมันเอง หรือเมื่อสัมผัสกับสารอื่น อาทิ อากาศ หรือน้ำ ฯลฯ แล้วทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะนำเข้าสารเคมีอันตรายมาใช้มากในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า และในภาคการเกษตร อาทิ สารกำจัดแมลง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ผู้นำเข้าสารเคมีอันตรายมาแยกย่อยลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กก่อนส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ

คุณสมบัติทางเคมีของสารเคมีกลุ่มนี้ได้แก่ ความไวไฟ การระเบิด ความเป็นพิษ การทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำ และการกัดกร่อน ส่วนคุณสมบัติทางกายภาพคือ อุณหภูมิ แรงดัน และสถานะอันได้แก่ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยเราแบ่งสารเคมีอันตรายออกเป็น 9 หมวดด้วยกันคือ 1.วัตถุระเบิด 2.ก๊าซ 3.ของเหลวไวไฟ 4.ของแข็งไวไฟ 5.สารออกซีไดซ์และสารอินทรีย์เปอร์ออกไซด์

6.สารพิษ 7.วัตถุกัมมันตรังสี 8.สารกัดกร่อน และ 9.สารเคมีเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าพวก ซึ่งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ การแผ่รังสีความร้อน ความเป็นพิษ การกัดกร่อน การกระเด็นของชิ้นส่วนภาชนะบรรจุหากเกิดการระเบิด และผลต่อสภาพแวดล้อม ฯลฯ

ส่วนความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของสารเคมีจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารอันตราย คุณสมบัติของสาร สภาพแวดล้อม สถานที่จัดเก็บ กระบวนการทำงาน จำนวนคนที่เกี่ยวข้อง และแผนการระงับอุบัติภัย โดยในการทำงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีระบบการจัดการที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบอย่างรัดกุม ทั้งข้อกำหนดจากหน่วยงานในประเทศ และข้อกำหนดระหว่างประเทศของสหประชาชาติที่มีผลใช้กับทุกประเทศทั่วโลก

อีกทั้ง ยังพยายามฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความชำนาญพิเศษ เพื่อให้ใช้ผู้ปฏิบัติงานได้น้อยที่สุด คือประมาณ 15 คน เพื่อลดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานของคนจำนวนมาก ซึ่งความประมาทของผู้ปฏิบัติงานถือเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี หากเรารู้จักสารเคมีเหล่านี้ดีพอ เราก็จะสามารถป้องกันอันตรายและจัดการกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้ควบคุมเหตุการณ์ได้ดีที่สุด เช่น การรู้ระยะปลอดภัยในการอพยพผู้คน อาทิ วัตถุระเบิดที่มีระยะเสี่ยง 50 เมตรโดยรอบ หรือหากมีความเสี่ยงในการระเบิดก็ต้องถอยออกมาที่ 300-800 เมตร ขณะที่ก๊าซไวไฟมีระยะความเสี่ยง 300 เมตร และหากเกิดความเสี่ยงที่จะระเบิดได้ ก็ต้องถอยออกมาเป็น 1,000 เมตร เช่นเดียวกับกัมมันตภาพรังสีที่ต้องหาที่กำบังและพยายามอยู่ห่างให้มากที่สุด เพื่อลดความเข้มของรังสีที่ร่างกายจะได้รับ

ทว่า ในส่วนของปัญหาการใช้สารเคมีอันตรายในประเทศ นางเอื้อนพร พบว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นหลัก เนื่องจากขาดความรู้และไม่ใส่ใจต่อข้อกำหนดระหว่างประเทศของผู้ประกอบการเอง เช่น ในการส่งออกสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป ที่ผู้ผลิตสินค้ามักละเลยเรื่องมาตรฐานการใช้สารเคมีกันมาก ทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่ยอมรับสินค้าหรือตีกลับสินค้า

ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมสี ไม้ขีดไฟ และไฟแช็ค รวมถึงบรรษัทข้ามชาติที่ค้าขายสารเคมี ต่างก็จะทราบกันดีและปฏิบัติตามข้อกำหนดของสหประชาชาติอยู่เป็นปกติ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการยอมรับในตัวสินค้าโดยตรง

จากที่กล่าวมานี้เอง จึงทำให้สินค้าของไทยจะประสบปัญหามาก เช่น ในการส่งออกถ่านหุงต้ม ที่สหประชาชาติจัดให้อยู่ในกลุ่มของแข็งไวไฟ เพราะเคยมีกรณีถ่านหุงต้มติดไฟและทำให้เรือเดินทะเลล่มมาแล้ว ขณะที่คนไทยจะคิดว่าไม่น่าจะต้องมีมาตรฐานอะไรมากมายจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องดึงคนมาให้ความสนใจข้อกำหนดระหว่างประเทศให้ได้ ถือเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของคนไทยที่ไม่ชอบศึกษากฎระเบียบของต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้มากนัก ทั้งที่มีศักยภาพทำได้

“มาตรฐานการจัดการสารเคมีอันตรายขอไทยในภูมิภาคนี้ เราเป็นรองแค่สิงคโปร์กับมาเลเซีย เพราะยังมีประเทศอื่นที่มีมาตรฐานต่ำกว่าเราอยู่มาก ส่วนประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นผู้ค้าสำคัญๆ ของเรา เช่น ญี่ปุ่น อียู และสหรัฐฯ ก็พยายามขอร้องเราอยู่เสมอๆ ให้เราทำให้ได้มาตรฐาน มีความถูกต้องมากขึ้น”

“เป็นเพราะเรายังมีการกระจายความรู้ได้ไม่มากพอ ความรู้จะอยู่กันเป็นกระจุกๆ ผู้ผลิตบางรายได้มาตรฐาน ขณะที่บางแห่งก็ไม่ได้ การอบรมผ่านอินเตอร์เน็ตครั้งนี้จึงเป็นความพยายามหนึ่งที่จะกระจายความรู้ตรงนี้ไปให้มากขึ้น โดยพยายามปรับปรุงเนื้อหาให้ทันต่อเหตุการณ์ด้านสารเคมีอันตรายมากที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยกล่าว

ส่วน ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ผอ.สถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงข้อมูลสถิติว่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา มหันตภัยจากสารเคมีอันตรายมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนามากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในการจัดเก็บสารเคมีในโรงงานและโกดัง การขนส่ง และขณะขนถ่าย ซึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้ประสบเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ประสบเหตุในประเทศพัฒนาแล้วอย่างน้อย 10 เท่า

“การซ้อมกู้ภัยมีความสำคัญมาก เป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมพร้อม หากไม่มีการซ้อมกู้ภัยไว้ก่อน เวลาเกิดเหตุจริง กว่าจะเข้าไปสู่จุดเกิดเหตุจะกินเวลามาก ทำให้ผู้ประสบภัยได้รับอันตรายมาก ทั้งที่ตาย และที่บาดเจ็บสาหัส” ดร.ภิญโญ กล่าวทิ้งท้าย
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงจากการไม่รู้จักสารเคมีอันตรายดีพอในประเทศไทยมีให้เห็นอยู่เสมอๆ (*มีภาพผู้บาดเจ็บจากสารเคมี)


กำลังโหลดความคิดเห็น