xs
xsm
sm
md
lg

"โครงงานวิทย์" ปัจจัยกระตุ้นเด็กสนใจงานวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงงานวิทยาศาสตร์ พื้นฐานของการทำวิจัย
หลากหลายความคิดนักวิชาการเสนอปัจจัยกระตุ้นนักเรียนสนใจงานวิจัย เผย ผอ.ผู้มีบทบาทในโรงเรียนต้องให้ความสำคัญ ขณะที่พ่อแม่คือตัวเชื่อมกระตุ้นความสนใจ และ “โครงงานวิทยาศาสตร์” ฝึกความคิดเยาวชน และเป็นโอกาสให้ผู้ปกครองร่วมดูแลการเรียนลูก

รศ.ประกิจ ตังติสานนท์ ฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวถึงสิ่งที่จะให้เด็กสนใจทำงานวิจัยได้คือ ความร่วมมือระหว่างครูและผู้อำนวยการ โดยเฉพาะผู้อำนวยการซึ่งมีบทบาทมากในโรงเรียน หากไม่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยแล้วงานวิจัยภายในโรงเรียนก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ และครูซึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้แนะนำเด็กไม่ได้ จึงจะเป็นต้องกระตุ้นครูและผู้บริหารโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของงานวิจัย นอกจากนี้ยังต้องกระตุ้นเยาวชนให้อยากทำวิจัย โดยสร้างประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก

ทางด้าน ดร.เจน ศรีวัฒนะธรรมา จาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน กล่าวว่าพ่อ-แม่คือตัวเชื่อมสำคัญที่จะกระตุ้นความสนใจของเด็ก พร้อมทั้งยกตัวอย่างชีวิตของสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้ง “แอปเปิล” บริษัททางด้านไอที ซึ่งอยู่ในความอุปการะของพ่อ-แม่บุญธรรมที่มีการศึกษาน้อย และพยายามส่งเสียให้เขาได้เรียนอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายเขาได้หยุดเรียนและเลือกที่จะทำในสิ่งที่สนใจ ซึ่งเราก็ได้เห็นความสำเร็จของเขา นอกจากนี้เพื่อนก็มีส่วนสำคัญ เพราะเมื่อเห็นเพื่อนประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ เด็กก็จะเกิดความสนใจในสิ่งที่เพื่อนทำ

ส่วน ดร.มานิตย์ ชัยกิจ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าโครงงานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นข้อบังคับให้นักเรียนทุกคนต้องทำนั้น จะช่วยให้พ่อแม่ได้กลับมาดูลูกและช่วยเหลือในเรื่องการเรียน บางครั้งผู้ปกครองบางคนอาจเป็นแค่ชาวนาแต่ก็มีภูมิความรู้ที่จะช่วยให้นักเรียนนำไปทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ แม้ว่าผู้ปกครองจะไม่ใช่นักวิจัยดีเด่นก็ตาม

แต่ในความเห็นของ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยดีเด่นประจำปี 2549 กลับเห็นว่า โครงงานวิทยาศาสตร์กลายเป็นภาระให้กับผู้ปกครอง และมองว่าเขาคือผู้ถูกกระทำจากระบบการศึกษาดังกล่าว เนื่องจากต้องช่วยลูกคิดโครงงานวิทยาศาสตร์ จึงเกิดคำถามว่าจริงๆ แล้วเป็นการฝึกความคิดของเด็กหรือผู้ปกครองกันแน่ ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้เด็กไม่ชอบวิทยาศาสตร์ในที่สุดเพราะคิดว่าเป็นเรื่องยาก

ขณะที่ผู้เข้าร่วมฟังการอภิปรายซึ่งมาจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ให้ความเห็นว่า การที่พ่อแม่ช่วยเด็กคิดโครงงานนั้นถือว่าตรงตามเป้าหมายของหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้ปกครองได้ช่วยเหลือลูกในเรื่องการเรียน และปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร หากแต่อยู่ที่สิ่งแวดล้อมและครู ทั้งนี้การทำโครงงานเป็นข้อบังคับของหลักสูตร แต่หลายคนไม่เข้าใจ เพราะควรจะทำให้เด็กสนใจและรู้สึกเป็นเจ้าของโครงงาน แต่ครูกลับเป็นคนตั้งโจทย์ที่ยากให้กับเด็ก

สมมติเด็กอยากส่งข้อมูลไปดวงจันทร์ แต่ครูไปบอกว่าทำไม่ได้หรอก นั่นคือการทำลายความคิดของเด็กแล้ว ที่ถูกคือให้เขาไปหาข้อมูลเอง ให้เขาได้พบปัญหาเองว่างบไม่พอ ต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่าง สุดท้ายลงเอยที่ทำบั้งไฟ นั่นแหละสำเร็จแล้ว เพราะเราต้องการฝึกความคิดเขา การสอนโครงงานที่ดีเป็นเรื่องยาก”

ผู้ร่วมแสดงความเห็นจาก สสวท.ให้ความเห็นต่อการปลูกจิตสำนึกให้เด็กสนใจงานวิจัยว่า ต้องมีแบบอย่างให้เด็ก และทำให้เขาได้ประโยชน์จากการทำ ซึ่งไม่จำกัดแค่ตัวเงิน แต่อาจเป็นประโยชน์จากการได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้วมีความสุข หรือได้รับความนับถือ เป็นที่ยกย่อง ทำให้เกิดความรู้สึกรักที่จะทำวิจัย แต่การสอนโครงงานก็ไม่ใช่ทุกคนที่จำได้ บางคนก็สนุกแต่บางคนก็ไม่ชอบ ขณะเดียวกันครูเองก็มีภาระงานล้น เขาจึงยอมรับว่าการสอนโครงงานซึ่งเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งของงานวิจัยนั้นเป็นเรื่องยาก
ดร.เจน ศรีวัฒนะธรรมา
ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม
รศ.ประกิจ ตังติสานนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น