กวีโรมัน Virgil ได้เคยแบ่งฝันออกเป็น 2 ประเภท คือ ชนิดที่นำไปสู่ความจริง และชนิดที่เป็นลมๆ แล้งๆ
Hippocrates เคยกล่าวว่า ฝันมีความสัมพันธ์กับสภาพร่างกาย และจิตใจของคนที่ฝัน ดังนั้น การแปลความหมายของฝันจะทำให้รู้สภาพร่างกายและจิตใจได้
ส่วน Plato คิดว่า ฝันเป็นผลิตผล โดยจิตใจที่ซ่อนเร้นของคนฝัน
สำหรับ Socrates นั้นเชื่อว่า ฝันสามารถพยากรณ์อนาคตของผู้ฝันได้
จักรพรรดิ Alexander มหาราช ทรงเป็นคนหนึ่งที่ศรัทธาในความหมายของฝันมาก เพราะเวลาพระองค์ทรงสุบิน ทันทีที่ตื่นบรรทม พระองค์จะทรงจดบันทึกรายละเอียดของกลยุทธ์ต่างๆ ที่ทรงจำได้ เพื่อนำมาใช้ในการทำสงครามจริงๆ
ทั้งคีตกวี Mozart และ Schumann ต่างก็อ้างว่า เวลาจะประพันธ์เพลงใด เขาจะได้ยินเพลงนั้นๆ ในฝันก่อนเสมอ
นักประพันธ์ Charles Dickens Robert Louis Stevenson และ Mark Twain ก็ล้วนเชื่อฝันว่าเป็นลางบอกเหตุการณ์ชีวิต
ในวงการวิทยาศาสตร์ ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นพบต่างๆ ด้วยฝันเช่นกัน และคนที่ฝันโด่งดังที่สุด เห็นจะได้แก่ August Kekule นักเคมีชาวเยอรมันเมื่อ 140 ปีก่อน ซึ่งได้เล่าว่า ขณะที่เขานั่งอยู่บนรถบัสในกรุงลอนดอน แล้วงีบหลับเขาได้เห็นอะตอมจับตัวกันเป็นกลุ่ม อะตอมเล็กจับกันเป็นคู่ๆ อะตอมใหญ่ดึงดูดอะตอมที่เล็กกว่า จนเป็นกลุ่ม 3, 4, 5,... เรียงกันเป็นสายโซ่ และเมื่อพนักงานเก็บตั๋วตะโกนบอกว่า ถึงถนน Clapham แล้วทำให้ Kekule ตื่น จากนั้นก็ครุ่นคิดเรื่องการเรียงตัวของอะตอมต่อทั้งคืน ฝันที่เห็นอะตอมเรียงตัวกันแบบสายโซ่ปลายเปิด (open chain) หรือที่เรียกว่า กุนเชียงของ Kekule นี้ทำให้มีวิทยาการใหม่สาขาอินทรียเคมี
ส่วนความฝันที่สอง ซึ่งโด่งดังกว่ามากนั้น Kekule ได้เล่าว่า ขณะเขาพักอยู่ที่ห้องพักที่เมือง Ghent ในเยอรมนีความร้อนจากไฟเตาผิงทำให้เขาง่วงหลับ และเขาได้เห็นอะตอมจำนวนมากกระโดดโลดเต้นไปมา แล้วอะตอมเริ่มจับกลุ่มเรียงตัวเป็นเส้นยาวเหมือนงู แต่มีงูตัวหนึ่งที่แปลกประหลาด คือ มันกำลังกัดหางตัวมันเอง จนทำให้เห็นเป็นวงกลม เมื่อตกใจตื่นเขาได้ครุ่นคิดเรื่อง งูกินหางต่อ จนทำให้รู้โครงสร้างของ benzene ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะยาต่างๆ เช่น แอสไพริน และสีย้อมทุกชนิดล้วนมีโครงสร้างแบบ benzene เป็นหลัก การฝันเห็นความจริงนี้ จึงได้พัฒนาวิชาอินทรียเคมีให้มีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อมนุษย์ในเวลาต่อมา
Friedrich August Kekule เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2373 (รัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เมือง Darmstadt ในเยอรมนี ในวัยเด็ก Kekule ต้องการเป็นสถาปนิก แต่เมื่อได้รับการสอนจากครูเคมี ชื่อ Baron Justus von Liebig เขาได้เปลี่ยนใจไปเรียนเคมีแทน เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Giessen Kekule ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ปารีสกับ J.B.A. Dumas แล้วกลับไปเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย Heidelberg กับ Ghent จนกระทั่งอายุ 36 ปี ก็ได้รับตำแน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Bonn และทำงานประจำที่นั่น จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2439
Kekule มีชื่อเสียงในฐานะนักเคมีผู้ศึกษาสารประกอบประเภท aromatic, mercury fulminate, unsaturated acids และสีสังเคราะห์ อีกทั้งเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ เพราะมีศิษย์ เช่น Lothar Meyer, Sir Henry Lascoe, Jacobus vant Hoff, Adolf von Baeyer และ Emil Fischer โดย vant Hoff, Fischer และ von Baeyer ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2444, 2445 และ 2448 ตามลำดับ
การศึกษาประวัติความเป็นมาของความฝันที่ประเสริฐของ Kekule ทำให้เรารู้ว่า ในปี พ.ศ. 2400 Kekule เริ่มรู้ว่า อะตอมของ carbon มี valency เท่ากับ 4 จึงน่าจะสามารถเรียงตัวกันเป็นสายยาว โดยมีอะตอมของ hydrogen ห้อมล้อมเป็นสารประกอบที่เรียกว่า hydrocarbon เช่น ethanol และ gasoline ได้ และ Kekule ก็ได้เผยแพร่ความคิดนี้ในวารสาร Annalen der Chemie ในปี 2401 โดยใช้ชื่องานวิจัยว่า ‘On the Constitution and the Metamorphoses of Chemical Compound’ และในปีต่อมา เขาก็ได้เรียบเรียงตำราชื่อ Lehrbuch der organische Chemie ซึ่งถือว่าเป็นตำราเคมีอินทรีย์ที่สำคัญ
แต่ประเด็นที่นักประวัติศาสตร์ของวิชาเคมีสนใจ คือ Kekule เอ่ยถึง ความฝันของเขา เป็นครั้งแรกในปี 2433 ที่ Berlin City Hall ซึ่งนับว่านานถึง 32 ปี หลังจากที่เขาตีพิมพ์ผลงาน จึงทำให้ชวนสงสัยว่า ฝันที่เป็นจริงของ Kekule นี้ เป็นเรื่องจริง หรือเป็นนิทานที่เขาเพิ่มเสริมเข้าไปเพื่อให้ดูเสมือนมีเทวดามาดลใจ
ในหนังสือชื่อ Everything’s Relative ซึ่งเรียบเรียงโดย Tony Rothman จะจัดพิมพ์โดย John Wiley & Sons เมื่อปี 2546 Rothman ได้รายงานว่า ในปี 2398 William Odling ได้เคยบรรยายที่ Royal Institution ในกรุงลอนดอนว่า carbon มีวาเลนซี่เท่ากับ 4 และ C.A. Russell ก็ได้ใช้ความรู้นี้เขียนลงในหนังสือชื่อ History of Valency ของเขา ไม่เพียงแต่ Odling เท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ Archibald Scott Couper นักเคมีชาวสกอตก็เป็นนักวิชาการอีกคนหนึ่งที่รู้ แต่ Couper ซึ่งขณะนี้ศึกษาอยู่ที่ปารีสกับ Charles Adolphe Wurtz ผู้เป็นอาจารย์ของ Kekule ได้เสนอความเห็นเรื่องวาเลนซี่ของ carbon ไปลงในวารสารของ French Academy โดยผ่านทาง Wurtz แต่ Wurtz อ่านผลงานช้า ทำให้งานวิจัยของ Couper ปรากฏหลังงานวิจัยของ Kekule เกือบเดือน
ความล่าช้าของ Wurtz ทำให้ Couper ผู้ศิษย์เดือดดาลมาก จึงกล่าวบริภาษอาจารย์ ซึ่งมีผลทำให้ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย จึงเดินทางกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัย Edinburgh และความผิดหวังเรื่องนี้ ทำให้ Couper กลายเป็นคนวิกลจริต ต้องให้มารดาเลี้ยงดู จนเสียชีวิตที่เมือง Kiskintilloch, ซึ่งอยู่ใกล้ Glasgow
ผลงานหนึ่งของ Couper ที่ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ คือ การใช้เครื่องหมายขีดแทนพันธเคมี เช่น H - O - H
ณ วันนี้โลกรู้จัก Couper เพราะ Richard Anschutz ผู้เป็นศิษย์ของ Kekule ได้ใช้วิธีของ Couper ในการประยุกต์กรด salicylic และได้เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของอาจารย์ และเขาก็ได้พบอีกว่า ในปี 2404 Joseph Loschmidt นักเคมีชาวออสเตรียได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Chemische Studien ซึ่งหนังสือเล่มนั้น มีโครงสร้างเคมีของสารประกอบ 368 ชนิด และหนึ่งในบรรดาโครงสร้างเหล่านี้ มีโครงสร้างของวงแหวนของ benzene ด้วย
ถึงแม้ Anschutz จะเป็นศิษย์ของ Kekule แต่เขาก็มีจริยธรรมของความเป็นนักวิชาการ เขาจึงนำผลงานของLoschnidt ออกเผยแพร่ ในปี2456 โดยไม่คิดว่า Kekule เคยเขียนจดหมายถึง Richard Ehrlenmeyer ซึ่งมีข้อความอ้างว่า โครงสร้างของ benzene ที่ Loschmidt เสนอนั้น เหลวไหล ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า Kekule ไม่เพียงเห็นหนังสือของ Loschmidt เท่านั้น แต่ยังได้อ่านอีกด้วย
เหตุการณ์นี้แสดงว่า Kekule ขโมยความคิดของ Lochschmidt ไปแล้วไม่ให้เครดิตเจ้าของ จึงได้พูดในปี 2433 ว่าตนฝันเห็นโครงสร้าง benzene ในปี 2401
การกล่าวหาเช่นนี้นำมาซึ่งการไม่เห็นด้วยจากบุคคลต่างๆ มากมาย เพราะนักเคมีกลุ่มที่คัดค้านนี้อ้างว่า สูตรเคมีต่างๆ ที่ Loschmidt เขียนนั้นผิด และแผนภาพก็ไม่ได้แสดงตำแหน่งของอะตอมอย่างถูกต้อง ดังนั้น การจะยอมรับว่า Loschmidt ครูโรงเรียนมัธยมผู้ต่ำต้อย พบโครงสร้างของ benzene มิใช่ Kekule ผู้ยิ่งใหญ่จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และถูกต้อง
สำหรับ Loschmidt เองก็เป็นที่รู้จักในบรรดานักฟิสิกส์ว่าเป็นบุตรของชาวนายากจนชาวออสเตรีย ซึ่งสำเร็จการศึกษาจาก Polytechnic Institute แห่งกรุง Vienna เมื่อปี พ.ศ. 2389 แต่หางานทำเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ จึงทำธุรกิจผลิต potassium nitrate ที่ใช้ในการทำดินปืนให้รัฐบาลออสเตรีย แต่ธุรกิจล้มเหลว จนทำให้ตนเป็นคนล้มละลาย ในเวลาต่อมาจึงได้ยึดอาชีพเป็นครูโรงเรียนมัธยมที่ Vienna เมื่ออายุ 40 ปี ได้ตีพิมพ์งานวิจัยใน Chemische Studien และได้เสนอสูตรเคมี 368 สูตรที่มีโครงสร้าง และองค์ประกอบ โดยแทนอะตอมด้วยวงกลม คือให้วงกลมใหญ่แทนคาร์บอน และวงกลมเล็กแทนไฮโดรเจน ดังนั้น โมเลกุลของ benzene จึงประกอบด้วย วงแหวนรูปหกเหลี่ยมที่มีคาร์บอน 6 อะตอม และมีไฮโดรเจนห้อมล้อม 6 อะตอม แต่ไม่มีใครสนใจสิ่งที่ครูโรงเรียนมัธยมเสนอนี้ จนอีก 4 ปีต่อมาเมื่อ Kekule ได้พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้ ทุกคนก็ฮือฮา
ณ วันนี้โลกรู้จัก Loschmidt ดีจากผลงาน เรื่อง Zur Grosse der Loftmolecule (ขนาดของโมเลกุลอากาศ) ที่ตีพิมพ์ในปี 2408 ซึ่ง Loschmidt ได้แสดงวิธีคำนวณหาเลข Avogadro เลข Avogardro ที่ Loschmidt คำนวณได้ มีค่าน้อยกว่าค่าปัจจุบันประมาณ 10 เท่า ผลการศึกษาของ Loschmidt เรื่องนี้จึงทำให้ นักเรียนและนักศึกษาในเยอรมันนีรู้จักเลข Avogadro ในนามเลข Loschmidt แทน
ความเก่งกล้าสามารถของ Loschmidt ได้ทำให้นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น Josef Stefan และ Ludwig Boltzmann ยกย่อง จนในที่สุด Stefan ได้เสนอให้มหาวิทยาลัย Vienna รับ Loschmidt เข้าทำงานเป็นอาจารย์ในปี 2409 และอีก 6 ปีต่อมา Loschmidt ก็ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
ความจริงที่ขมขื่น คือ การเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบโฆษณาตนเอง และถ่อมตัว ทำให้ผลงานของ Loschmidt ไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อการพัฒนาวิชาเคมี ด้วยเหตุนี้นักเคมีจึงไม่รู้จัก Loschmidt มาก และนักฟิสิกส์รู้จักบ้าง
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท