เจ้าของธุริกจส่วนตัวคนไทยปิ๊งไอเดียหลังเข้าอบรมเรื่อง “หญ้าแฝก” จากสภาวิจัยแห่งชาติ อนุรักษ์ธรรมชาติตามรอยพ่อ ก่อนมุทำแผ่นไม้อัดจากเศษชีวมวลทั้งหญ้าแฝก แกลบข้าว เปลือกส้ม ตะไคร้ผสมหญ้าคา ฯลฯ มาผลิตเฟอร์นิเจอร์โอท็อป 4 ดาว ป้อนตลาดคนไทย- ต่างชาติ ด้านนักประดิษฐ์ดีกรีเจ้าของหลายรางวัลย้ำ สินค้ามีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ทนทาน แถมมีกลิ่นหอม สร้างรายได้แถมรักษาสิ่งแวดล้อม
หากจำกันได้ ในช่วงระยะหลังมานี้ เราคนไทยมักจะได้ยลโฉมสิ่งประดิษฐ์แปลกๆ ใหม่ๆ ที่มาจากการต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยเรา ออกมาในรูปของข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตมากขึ้นๆ ทุกขณะ ซึ่งสินค้าที่ว่าก็มักจะแสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้ดี ขณะเดียวกันก็กลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนไทยที่สงบเย็น ไม่หรูหราฟู่ฟ่า ทว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
ล่าสุด ในทำเนียบสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่ส่งเข้าประกวดรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2550 ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็มีผลงานภูมิปัญญาไทยและเป็นมรดกทางธรรมชาติที่น่าจับตามองอยู่ชิ้นหนึ่ง โดยเป็นผลงานการต่อยอดของ น.ส.ปรินดา แตรวิจิตรศิลป์ นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ อดีตนักศึกษามัณฑณศิลป์ รั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผลงานที่ว่าคือ แผ่นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์จากเศษชีวมวล
ทั้งนี้ เจ้าของบริษัทโกลเด้น อุตสาหกรรมไม้อัดหญ้าแฝก รายนี้ เผยว่า ได้แนวความคิดการทำไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์ด้วยเศษชีวมวลมาจากการเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่อง “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างหญ้าแฝกกับปลวก” โดยสภาวิจัยแห่งชาติร่วมกับกรมป่าไม้ ในราวเดือน ก.พ. 2545 เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแนะนำให้เกษตรกรปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ทว่าในทางปฏิบัติเกษตรกรมักเบื่อหน่ายกับการกำจัดใบหญ้าแฝกที่ขึ้นรกหนา ต้องกำจัดโดยการถอนหรือเผาทำลาย
“พระองค์จึงทรงมีแนวพระราชดำริให้นักวิจัยได้คิดหาวิธีการใช้ประโยชน์จากใบหญ้าแฝกให้มีประโยชน์อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง คือได้ประโยชน์ทั้งแก่เกษตรกรที่สามารถสร้างรายได้ได้จากการขายใบหญ้าแฝกพร้อมๆ ไปกับการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยส่วนรากของหญ้าแฝก”
“อีกทั้งผลประโยชน์ยังตกแก่ผู้ที่นำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายได้ด้วย ซึ่งจากพระราชดำริดังกล่าว นักวิจัยจึงคิดค้นพัฒนาและพบว่าใบหญ้าแฝกมีศักยภาพในการนำมาทำแผ่นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์ได้ โดยมีเส้นใยลิกนินและเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ก็ยังต้องพัฒนาให้มีความหนาแน่นมากขึ้นต่อไปด้วย”
จากจุดเริ่มต้นนี้เอง นักประดิษฐ์เจ้าของกิจการกล่าวว่า ตัวเธอเองจึงได้เริ่มพัฒนาแผ่นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์จากใบหญ้าแฝกอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการทำจำหน่ายและการพัฒนาเรื่อยมา จนสามารถผลิตแผ่นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์ทดแทนไม้ได้จริง โดยมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใครในโลก
ขณะเดียวกันก็ยังได้หาเศษวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ที่เป็นเศษชีวมวล ซึ่งประเทศเกษตรกรรมอย่างประเทศไทยมีอยู่มากแต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้ประโยชน์ มาทำแผ่นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์ด้วย อาทิ แกลบข้าว เศษไม้จากงานศิลปะ โดยเฉพาะแผ่นไม้อัดจากเปลือกส้ม และแผ่นไม้อัดจากตะไคร้ผสมใบหญ้าคาที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ เธอได้จดสิทธิบัตรคุ้มครองสิทธิ์ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ข้อดีของการนำเศษชีวมวลเหลือทิ้งมาทำไม้อัดเพื่อทำเฟอร์นิเจอร์คือ เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการนำเข้าไม้เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ สร้างอาชีพและเป็นกระจายรายได้ อีกทั้งไม้อัดที่ได้ยังมีความสวยงาม คงทนแข็งแรง มีอายุการใช้งานนาน มอดและแมลงไม่กัดกิน” นักประดิษฐ์ กล่าว
ส่วนการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของสภาวิจัยแห่งชาติครั้งนี้ เธอจะขอส่งเพียงผลิตภัณฑ์แผ่นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์จากเปลือกส้ม และตะไคร้ผสมใบหญ้าคาเข้าประกวด ส่วนในรายของผลิตภัณฑ์ไม้อัดจากหญ้าแฝกนั้นต้องขอยกไว้เป็นสิทธิบัตรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีอยู่ก่อนแล้ว
ด้านสินค้าที่บริษัทได้ผลิตออกมาวางจำหน่ายอยู่ในชั้นสินค้าโอท็อป 4 ดาวระดับประเทศแล้ว มีตั้งแต่การขายแผ่นไม้อัด และของใช้เล็กๆ น้อยๆ เช่นพวงกุญแจ ของประดับตกแต่งบ้านเช่นโคมไฟ ตลอดจนถึงเฟอร์นิเจอร์จำพวกโต๊ะและเก้าอี้ โดยการจำหน่ายเองและมีตัวแทนจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะมีสนนราคาตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักหมื่นบาท ทำให้เดือนหนึ่งๆ สินค้าที่ผลิตได้จะสร้างรายได้ให้ได้ถึง 1-3 แสนบาททีเดียว
ไม่เพียงเท่านี้ ผลงานที่พัฒนาขึ้นยังได้รับการรับรองคุณภาพแล้วจากหลายหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศด้วยกัน อาทิ ใบประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานประสานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในโครงการประกวดนักออกแบบผลิตภัณฑ์ประจำปี 2548, ใบรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในปีเดียวกัน และยังได้ใบรับรองยอดเยี่ยมในการพัฒนาวัสดุจากธรรมชาติของสถาบันแมตเตอร์เรียลคอนเน็กซ์ชั่น (Material Connexion) มาสดๆ ร้อนๆ
สำหรับผู้สนใจในไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์จากเศษชีวมวล สามารถติดต่อได้ที่บริษัทโกลเด้น อุตสาหกรรมไม้อัดหญ้าแฝก 55/121 หมู่บ้านธนบดี ซอย 76/1 ถนนเอกชัย เขตบางบอน กรุงเทพฯ เบอร์โทรศัพท์ 02-894-3707, 08-6610-5089, 08-6500-5899 โทรสาร 02-415-9201 อีเมล parinda@goldenboard.com หรือเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ www.golden-board.com
เห็นผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาไทยและฝีมือคนไทยดีๆ อย่างนี้แล้ว อาจทำให้คนไทยหลายคนที่เคยซื้อแต่ของนอกมาตกแต่งบารมี ต้องหันมองย้อนกลับมาดูสินค้าคนไทยด้วยกันใหม่ กระตุ้นให้เกิดกระแสคนไทยนิยมไทยขึ้นมาอีกครั้ง!!!