ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า คนญี่ปุ่นรู้จักทำสวนเมื่อ 1,400 ปีก่อน ในสมัยจักรพรรดินี Suiko และสวนที่สร้างมีเนินดินกับสระน้ำ โดยเฉพาะมีขุนนางคนหนึ่งชื่อ Soga - no - Umako ผู้มีสวนที่สวยงามมาก
อันที่จริงคนญี่ปุ่นได้ศิลปะการจัดสวนจากคนเกาหลี เช่นเดียวกับที่ได้งานศิลปะอื่นๆ แต่เมื่อถึงยุค Nara (พ.ศ.1189-1337) ที่ญี่ปุ่นมีการติดต่อกับจีน ญี่ปุ่นเริ่มรับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจากจีนมากขึ้นๆ จนทำให้เทคนิคและเทคโนโลยีการจัดสวนพัฒนามากขึ้น บรรดาราชนิกุล คนร่ำรวยและโชกุนต่างก็นิยมมีสวนของตนเอง สวนเหล่านี้มีก้อนหินและต้นไม้ ส่วนสัตว์ เช่น นกและ ปลา ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นเครื่องประดับส่วนหนึ่งของสวนด้วย
เมื่อถึงยุค Heian (พ.ศ.1337-1728) สไตล์การจัดสวนญี่ปุ่นก็เริ่มเปลี่ยนอีก จนมีความเป็นญี่ปุ่นชัดขึ้น การจัดสวนยุคนี้ยึดหลักการที่เป็นเคล็ดและความเชื่อต่างๆ เช่น สวนจะต้องอยู่ทางทิศใต้ของอาคาร และมีสระที่ทอดตัวในแนวตะวันออก - ตะวันตก กลางสระควรมีเกาะเล็กๆ ทางใต้ของสระมีเนินดิน และสระมีน้ำไหลเข้าจากทางทิศเหนือ โดยสายน้ำจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ให้ส่วนหนึ่งไหลเข้าสระโดยตรง และอีกส่วนหนึ่งให้ไหลตกลงแอ่งเหมือนน้ำตก บนเนินดินมีต้นไม้ และกลางสระมีหินที่ถูกจัดเป็นกลุ่ม ดังนั้นในภาพรวม สวน คือ แบบจำลองภูมิทัศน์หรือโลกภายนอกที่สวยงามให้เข้ามาอยู่ในบริเวณที่มีขนาดเล็ก เช่น บ้าน ส่วนรายละเอียดในการจัดนั้นก็เป็นไปตามความเชื่อของเจ้าของ เช่น คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ตะวันออกคือสถานที่ของความดี และความบริสุทธิ์ ส่วนตะวันตก คือแหล่งเก็บสิ่งเลวร้าย ดังนั้น เขาจึงจัดสายน้ำให้ไหลจากตะวันออกไปตะวันตก เป็นต้น
เมื่อถึงยุค Kamakura (พ.ศ.1628 - 1935) เทคนิคการจัดสวนเริ่มเปลี่ยนอีก เมื่อพระนิกาย Zen ลงมือออกแบบจัดสวนในวัดด้วยตนเอง ทำให้สวนมีรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่มีความหมายเชิงปรัชญา Zen เข้ามาเกี่ยวข้อง สวนจึงไม่มีอุปกรณ์อะไรมาประดับประดามากเหมือนสวนยุคก่อนๆ การจัดสวนในยุคนี้จึงทำให้บรรยากาศสวนมีเนื้อหาและความหมายมากขึ้น อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการจัดสวน ได้แก่ หิน น้ำ และต้นไม้ที่มีใบเขียวตลอดปี วัด Zuisenji ในเมือง Kamakura เป็นตัวอย่างของสวนที่มีสไตล์การจัดของยุคนี้
เมื่อถึงยุค Higashiyama (พ.ศ. 2023 - 2033) (สมัยพระบรมไตรโลกนาถ) เทคนิคการจัดสวนได้รับการพัฒนาจนถึงจุดสูงสุด ทำให้มีสวนที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น สวน Ginkakuji ที่ Kyoto ซึ่งมีสระอยู่ติดเชิงเขา สวน Muromachi ที่มีลักษณะแบบราบ ไม่มีสระ ไม่มีเนินดิน จะมีแต่หินกับต้นไม้ที่ขึ้นบนพื้นดินราบ และบริเวณรอบต้นไม้มีทรายขาว นอกจากนี้ ก็มีสวนหิน Ryoanji ที่เมือง Kyoto ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าราบ ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 30 เมตร มีหิน 15 ก้อน นำมาวางเรียงเป็นกลุ่ม 5 กลุ่ม อย่างมีศิลปะ บางกลุ่มมี 2 ก้อน 3 ก้อนบ้าง และ 5 ก้อนบ้าง อย่างมีศิลปะ นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรประดับอีกนอกจากทรายขาวปกคลุมพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งการจัดสวนลักษณะนี้ คนญี่ปุ่นเรียกว่า เป็นแบบ bonseki ที่แปลว่า ภูมิทัศน์แบบถาด ซึ่งผู้มีอันจะกินในสมัยนั้นนิยม และเพื่อไม่ให้สวนดูจืด คนจัดสวนมักใช้ไม้ไผ่ขูดผิวทรายที่ปกคลุมเป็นทางยาวขนานกันไปเป็นเส้นตรงบ้าง เป็นวงกลมบ้าง จึงทำให้ทะเลหินดูเสมือนเป็นคลื่นน้ำ คนญี่ปุ่นนิยมสร้างสวนราบนี้ติดบ้าน หรือเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และอาจให้สวนมีต้นไม้ หรือสายน้ำเล็กน้อยเป็นฉากหลังบ้างก็ได้
เมื่อถึงยุค Momoyama (พ.ศ. 2116 - 2158) (รัชสมัยพระมหาธรรมราชา) สไตล์และรสนิยมในการจัดสวนญี่ปุ่นก็เริ่มเปลี่ยนอีก เช่น มีการสร้างปราสาทในสวนและมีการจัดหารูปแกะสลักมาวางในสวนด้วย
ในยุค Edo (สมัยพระนเรศวรมหาราช) สไตล์การจัดสวนได้พัฒนาด้านขนาด เพราะสวนมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อคนรวยที่มีฐานะทุกคนต้องมีสวนเพื่อแสดงฐานะ สวนจึงถูกใช้ในการจัดงานเลี้ยงน้ำชา ให้แขกสามารถเดินชมได้ ทำให้สวนมีทางเดินและสองข้างทางมีสิ่งประดับ สิ่งประดิษฐ์ และธรรมชาติ จัดเรียงอย่างลงตัว และเป็นเอกภาพ สวนอาจมี tatamishi หรือบาทวิถีที่ปูด้วยแผ่นหิน มีสระมีเนินดินและน้ำตกที่ต้องจัดให้ดูสวยไม่ว่าจะมองจากมุมใดของสวน เพราะประเทศญี่ปุ่นในยุค Edo มีสันติสุข บ้านเมืองจึงก้าวหน้า รุ่งเรืองด้วยศิลปะ และวรรณคดี มีการสร้างถนนหลายสาย และเมื่อความปลอดภัยในการเดินทางมีมาก ผู้คนจึงเดินทางแสวงหาความสวยงามในธรรมชาติมากขึ้น จนทำให้เห็นสถานที่สวยงามต่างๆ แล้วนำมาตบแต่ง เปลี่ยนแปลงสวนของตนให้ดูงดงาม แม้เวลาจะล่วงถึงยุค Meiji (รัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช) สไตล์การจัดสวนยุค Edo ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่
สำหรับสวน Ryoanji ที่เมือง Kyoto นั้น เป็นสวนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงที่สุดสวนหนึ่งของโลกประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า เมื่อ Hosokawa Katsumoto สร้างวัดขึ้นในปี 2016 (พระบรมมหาราชาที่ 3) วัดได้ถูกไฟเผา ในอีก 15 ปีต่อมา บุตรชายชื่อ Hosokawa Masamoto จึงได้สร้างวัดใหม่ สำหรับสถาปนิกของสวนนั้น ไม่มีใครรู้จัก แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่า พระนิกาย Zen ใช้กรรมกรท่าเรือ (sensui kawaramono) สร้าง เพราะมีการพบรอยสลักเป็นตัวอักษรที่อ่านว่า Kotaro กับ Hikojiro ที่หินก้อนหนึ่งใน 15 ก้อนของสวน และเป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่วัดถูกไฟไหม้ บริเวณโดยรอบของสวนจะถูกปรับเปลี่ยน เช่น มีการสร้างศาลาให้พระนั่งสมาธิ ณ ตำแหน่งใหม่ เป็นต้น
นักวิชาการได้ถกเถียงกันตั้งแต่สมัยโบราณว่า สวน Ryoanji ถูกสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ใด และสวนนี้มีความสำคัญเพียงใด
ตามปกติพระนิกาย Zen เชื่อในปรัชญา wabi ซึ่งประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ และความไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ รูปแบบของสวนจึงเป็นแบบเรียบง่ายที่ทำให้คนที่เดินชมสวนมีจินตนาการและพยายามเติมเต็มความนึกคิดที่ว่างด้วยตนเอง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนพากันเขียนและแสดงความนึกคิดเกี่ยวกับหินทั้ง 15 ก้อนในสวน Ryoanji มากยิ่งกว่าหินในสวนญี่ปุ่นทุกสวนรวมกัน โดยทั่วไปเวลาคนเข้าชมสวน คนดูจะดูหินจากห้องโถงใหญ่ในวัด สวนซึ่งมีกำแพงกั้น 3 ด้าน มีกลุ่มหิน 2 - 5 ก้อนต่างขนาด ต่างความสูงและต่างรูปร่างวาง ณ ตำแหน่งต่างๆ โดยไม่มีก้อนใดอยู่โดดเดี่ยว และพื้นสวนมีทรายขาวปกคลุมเป็นริ้วๆ
ในการจินตนาการสิ่งที่กำลังเห็น คนบางคนเห็นแม่เสือและลูกๆ ของมันกำลังว่ายน้ำในทะเล เข้าหาพญามังกร บางคนเห็นก้อนหินเป็นเกาะเล็ก เกาะน้อยในมหาสมุทร และบางคนเห็นเป็นลายเส้นของอักษรจีนที่แปลว่า จิตใจ
ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2545 M.J.Lyons, Y. Ejima และ G. von Tonder แห่งมหาวิทยาลัย Kyoto ในประเทศญี่ปุ่นได้ใช้คอมพิวเตอร์ศึกษาสมมาตรการวางตัวของหินทั้ง 5 กลุ่ม เวลาดูจากห้องโถงใหญ่ของวัด และพบว่า กลุ่มหินทั้ง 5 นั้น วางอยู่ในลักษณะที่แยกตามกิ่งของต้นไม้ที่มีลำต้นอยู่ในห้องโถงใหญ่ และลำต้นอยู่ในแนวเดียวกับพระพุทธรูปประจำวัด
การมีจิตสำนึกที่ว่า มีต้นไม้ และกิ่งไม้ผ่านไปตามบริเวณที่ว่างระหว่างกลุ่มหินอย่างลงตัว ทำให้คนชมสวน Ryaniji รู้สึกสงบ นักวิจัยทั้ง 3 ได้ใช้เทคนิค medial - axis transformation คำนวณ local axes of symmetry จนทำให้เห็นภาพต้นไม้ และหินในจิตใต้สำนึกชัดที่สุด
นี่ก็คือหลักการและเหตุผลในการจัดหินแบบง่ายๆ ที่ปราศจากการซ้อนกันหรือทับกันของก้อนหินในโครงสร้างที่เรียบ สะอาด และปราศจากการตกแต่งตามแบบ minimalism ของสวน Ryoanji ที่ได้สะกดคนดูตลอดเวลา 500 ปี ผ่านมาครับ
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท