xs
xsm
sm
md
lg

พลูโต: เทพแห่งความตายที่ถูกลดยศกลางอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองพลูโตพร้อมด้วยดวงจันทร์ชารอน ซึ่งถูกลดชั้นจากดาวเคราะห์ ไปเป็นเพียง ดาวเคราะห์แคระ
จากนี้ไปการเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะของดาวพลูโต (Pluto) ก็จะกลายเป็นอดีต หลังจากที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู (International Astronomical Union: IAU) ครั้งที่ 26 ลงมติลดชั้นให้เป็นเพียง “ดาวเคราะห์แคระ” เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา

"พลูโต" ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2473 โดย ไคลด์ ทอมบอกจ์ (Clyde Tombaugh) แห่งหอดูดาวโลเวล รัฐอริโซนา (Lowell Observatory in Flagstaff, Arizona) และวงการดาราศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้กับสมาชิกใหม่ของระบบสุริยะด้วยชื่อดังกล่าว ซึ่งมีความหมายว่า “เทพแห่งความตาย” ตามชื่อเทพของชาวโรมัน ขณะที่ชื่อในภาษาไทยคือ “ดาวยม” แต่เราไม่สามารถมองสมาชิกใหม่นี้ได้ด้วยตาเปล่า

พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,300 กิโลเมตร มีมวลประมาณ 0.002 เท่าของโลก และมีความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของผิวดาว 6.7 % ของความเร่งที่ผิวโลก วงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของพลูโตเป็น “วงรี” และต้องใช้เวลา 248 ปีจึงจะโคจรได้ครบ 1 รอบ โดยระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 5,900 ล้านกิโลเมตร ซึ่งระยะห่างที่ใกล้ที่สุดประมาณ 4,437 ล้านกิโลเมตร ขณะที่ระยะห่างที่ไกลสุดคือ 7,376 ล้านกิโลเมตร ทั้งนี้แสงต้องใช้เวลา 4.5 ชั่วโมงเดินทางจากดวงอาทิตย์ไปถึงดาวพลูโต ระนาบโคจรของพลูโตเอียงทำมุม 17.15 องศากับระนาบโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบ

ข้อมูลอุณหภูมิบนผิวพลูโตที่มีในปัจจุบันบ่งชี้ว่าพลูโตเป็นดาวที่เย็นจัด โดยมีอุณหภูมิที่ผิวอยู่ในช่วง -240 องศาเซลเซียส ถึง - 210 องศาเซลเซียส และดวงจันทร์ของพลูโตมี 3 ดวงคือ 1.ชารอน (Charon) ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ที่ชื่อ เจมส์ คริสตี้ (James Christy) ซึ่งชื่อของดวงจันทร์ดวงนี้เป็นชื่อของคนพายเรือนำวิญญาณคนตายข้ามแม่น้ำสู่นรกตามเทพนิยาย 2. เอส 2005 พี 1 (S/2005 P1) และ 3.เอส 2005 พี 2 (S/2005 P2)

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) มีโครงการสำรวจดาวพลูโต โดยเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2549 ได้ส่งยานอวกาศไร้มนุษย์ “นิว โฮไรซอนส์” (New Horizons) เพื่อไปศึกษาข้อมูลของดาวดวงนี้ รวมทั้งวัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ซึ่งยานดังกล่าวจะใช้เวลา 10 ปีเพื่อเดินทางไปถึงเป้าหมาย โดยใช้ความเร็ว 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าความเร็วที่เคยส่งยานอวกาศลำใดมาก่อน

ทั้งนี้ในวงการดาราศาสตร์ถกเถียงกันมานานว่าพลูโตมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นดาวเคราะห์หรือไม่ โดยเหตุผลหนึ่งคือการค้นพบดาวดวงใหม่ซึ่งเป็นระยะไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวเนปจูนอีกหลายดวง ซึ่งบางดวงมีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเสียอีก เช่น ดาว 2003 ยูบี 313 (2003 UB 313) หรือซีนา (Xena) ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,700 กิโลเมตร โดยดาวที่ค้นพบในแถบไคเปอร์นั้นมีลักษณะใกล้เคียงกับพลูโตมาก จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าพลูโตน่าจะเป็นวัตถุขนาดใหญ่ในแถบไคเปอร์เท่านั้น

อย่างไรก็ดีแม้จะมีข้อสรุปจากที่ประชุมของไอเอยูมาแล้วว่าพลูโตไม่ใช่ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอีกต่อไป แต่ก็มีนักดาราศาสตร์หลายคนไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เนื่องจากการโหวตเกิดขึ้นในวันสุดท้ายซึ่งมีนักดาราศาสตร์ร่วมลงมติเพียง 424 คนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเพียง 4 % ของนักดาราศาสตร์ทั่วโลกที่มีกว่า 10,000 คน บางคนถึงขั้นให้ความเห็นว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นเรื่อง “เหลวไหล” และเป็นการ “ปล้น” ผลโหวตกันกลางอากาศเลยทีเดียว

ดร.อลัน สเติร์น (Dr. Alan Stern) หัวหน้าโครงการส่งยานอวกาศนิวโฮไรซอนส์ของนาซาได้เริ่มต้นดำเนินการเพื่อคืนสถานะให้กับดาวพลูโต ทั้งนี้จะได้ขายสติ๊กเกอร์ติดหน้ารถที่มีข้อความว่า “Honk if Pluto is still a planet” (โปรดบีบแตรหากเห็นว่าพลูโตยังเป็นดาวเคราะห์) โดยจะขายผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งอีเมลลูกโซ่ข้อความที่บอกว่าไอเอยูคือ “สหพันธ์ไม่เข้าท่าเรื่องดาราศาสตร์สากล” (Irrelevant Astronomical Union) และเขายังไม่ว่าเห็นมติดังกล่าวจะดำรงอยู่ได้นาน รวมทั้งไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตำราเรียนแต่อย่างไร

คงต้องจับดาดูความขัดแย้งในวงการดาราศาสตร์ต่อหัวข้อที่เผ็ดร้อนนี้กันต่อไป เพราะอนาคตเราอาจได้ต้อนรับ "พลูโต" เทพเจ้าแห่งความตายกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของระบบสุริยะอีกครั้งก็เป็นได้
ผังระบบสุริยะใหม่ ที่ดาวทุกดวงยังอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม เพียงแต่บางดวงเปลี่ยนสถานะไปบ้าง



- พลูโต: เทพแห่งความตายที่ถูกลดยศกลางอวกาศ
- ลดชั้นพลูโตวุ่น! ปรับตำราไม่ทัน-ครูต้องบอกปากเปล่า
- จัดระเบียบจักรวาลนิยามใหม่ “ดาวเคราะห์” - “ดาวเคราะห์แคระ”
- สถาบันดาราศาสตร์เตรียมแถลงแพร่ข้อมูลลดชั้น “พลูโต” สัปดาห์หน้า
- “พลูโต” โดนโหวตออก ระบบสุริยะเหลือดาวเคราะห์เพียง 8 ดวง
- นักดาราศาสตร์ทั่วโลกประชุมใหญ่ตัดสินชะตา “พลูโต”
- Tombaugh พลูโตกับยาน New Horizons (จบ)
- Tombaugh พลูโตกับยาน New Horizons (1)
- “New Horizons” ออกเดินทางไกลสำรวจ “พลูโต” และแถบไคเปอร์
แม้ว่าจะกลายเป็นดาวเคราะห์แคระไปแล้ว แต่ศูนย์วิจัยดาวพลูโตก็ยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป
การตัดสินสถานภาพของพลูโต และดาวอื่นๆ ด้วยการโหวตระหว่างการประชุมสมัชชาดาราศาสตร์สากล
กำลังโหลดความคิดเห็น