ก.วิทย์รับเงินกองสลากหนุนเด็กเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการคนละ 1 แสน พร้อมมอบ “พาสสปอร์ต” เข้าออกห้องแล็บในสังกัดกระทรวง-ทำงานร่วมกับอาจารย์-นักวิจัย ขณะที่ สวทช.เตรียมรับเข้าทำงาน ประวิชแจงเป็นการสร้างความมั่นคงในเส้นทางของอาชีพนักวิทยาศาสตร์
ค่ำวันนี้ (23 ส.ค.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) จัดงานเลี้ยงต้อนรับแก่คณะผู้แทนประเทศไทยโอลิมปิกวิชาการทั้ง 5 สาขาวิชา ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค โดยมี ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ศ.ศักดา ศิริพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสนครินทร์(สอวน.) ร่วมทั้ง พล ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (กองสลาก) ได้มาร่วมงาน
จากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศประจำปี พ.ศ.2549 สรุปผลการแข่งขันของเยาวชนไทยได้ดังนี้ คณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้รับ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้รับ 1 เหรียญทอง และ 4 เหรียญเงิน คอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้รับ 3 เหรียญทองแดง เคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้รับ 1 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง และชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ได้รับ 3 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน
ดร.ประวิช กล่าวว่ารางวัลที่ผู้แทนประเทศไทยจะได้รับคือ 1.เงินรางวัล โดย วท.ได้ติดต่อทางกองสลากเพื่อขอรับเงินสนับสนุนสำหรับเยาวชนที่คว้าเหรียญรางวัลจากแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งผู้ที่ได้เหรียญทองจะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท ผู้ที่ได้เหรียญเงินจะได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท และผู้ที่ได้เหรียญทองแดงจะได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท และ 2. Passport for Young Scientist หรือใบผ่านทางเพื่อใช้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะมีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ หรือนักวิจัยได้
อีกทั้ง 3.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) พร้อมที่จะรับเยาวชนเหล่านี้มาทำงาน ซึ่ง ดร.ประวิชกล่าวว่าเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงในเส้นทางของอาชีพนักวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน โดยในส่วนของเงินเดือนนักวิจัยใน สวทช.ก็มีเงินเดือนมากกว่าข้าราชการประจำกว่า 3 เท่าครึ่ง แต่ถ้าเทียบกับรายได้ในการทำงานที่ต่างประเทศซึ่งคนเหล่านี้สามารถทำได้แน่นอนก็ถือว่าน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ดีถึงแม้ไม่ส่งเสริมเหล่านี้ก็สามารถดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว นอกจากนี้จะรวบรวมรายชื่อนักเรียนทุนและนักวิทยาศาสตร์ว่า ใครเรียนที่ไหน เก่งทางด้านใด เพื่อทำเป็นทำเนียบนักวิทยาศาสตร์
ส่วน พล ต.ต.สุรสิทธิ์ ได้ให้ความเห็นต่อการสนับสนุนเงินแก่ผู้แทนโอลิมปิกซึ่งนับเป็นครั้งแรกของกองสลากว่า เท่าที่ติดตามโอลิมปิกวิชาการถือเป็นการแข่งขันที่เด็กไทยต้องใช้ความสามารถและความพยายามมากทีเดียว ซึ่งกองสลากก็ให้การสนับสนุนโดยการพิจารณาของคณะกรรมการกองสลาก รวมทั้งประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงศึกษา และหากมีโอกาสจะได้สนับสนุนต่อไป
ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาและนักวิจัยอาวุโส สวทช. กล่าวถึงความสำเร็จของเยาวชนไทยซึ่งไปคว้าเหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการได้ว่า แสดงให้เห็นถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่ดีที่สุด เพราะยังมีปัญหาอีกมากมายและยังมีความแตกต่างระหว่างเยาวชนที่ได้เหรียญกับเด็กนักเรียนทั่วไป ซึ่งต้องปรับการศึกษาทั่วประเทศให้ครูมีความสามารถมากขึ้น และผู้ปกครองต้องสนับสนุน ทั้งนี้ควรมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ก็ต้องช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางด้านวิทยาศาสตร์ให้ดีขึ้น
ส่วนนายจาตุรนต์ ให้ความเห็นว่า แม้นักเรียนไทยจะได้รับรางวัลจนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ก็ต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ความสำเร็จเกิดขึ้นจากทุกฝ่าย ทั้งครู-อาจารย์ และผู้ปกครอง รวมถึงคณะผู้แทนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ได้เสียสละเวลา กำลังสติปัญญาในการแข่งขันจนทำให้ประเทศต่างได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่มุมที่ดีอย่างยิ่ง ซึ่งก็ขออวยพรให้กับนักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จ ซึ่งบางคนก็อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ขณะที่บางคนอาจจะเลือกทำงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์แทน
นอกจากนี้ผู้แทนประเทศไทยยังได้เผยบางมุมมองจากการเดินทางไปแข่งขัน โดย นายศุภศรณ์ สุวจกรณ์ ผู้แทนเหรียญทองแดงคอมพิวเตอร์โอลิมปิกกล่าวถึงผู้แทนของประเทศอื่นๆ ว่า มีหลายประเทศที่มีเยาวชนเก่งๆ เข้าแข่งขัน โดยเฉพาะประเทศจีน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของประเทศนั้นด้วย เนื่องจากจีนมาประชากรมากจึงมีโอกาสเลือกคนเก่งได้มากกว่า ขณะที่บางประเทศก็คัดเลือกผู้แทนจากเด็กแค่ 7-8 คน
ส่วน นายชนติ จันทรโชติชัชวาล ผู้แทนเหรียญทองชีววิทยาโอลิมปิกและทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ของโลก กล่าวถึงการแข่งขันว่า ในแต่ละปีข้อสอบก็จะแตกต่างกันไป แต่ปีนี้เขาก็เตรียมตัวพร้อมสำหรับการแข่งขันและคิดว่าเพียงพอ แต่ก็เจอข้อสอบบางข้อที่ไม่เคยพบ แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีในการแก้ปัญหาได้ ขณะที่ นายรณชัย เจริญศรี ผู้แทนเหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันว่า ผู้แทนของไทยแต่ละคนที่ไปแข่งขันฟิสิกส์ก็ล้วนมีความสามารถที่ใกล้เคียงกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถควบคุมสติในระหว่างการแข่งขันได้มากกว่ากัน
สำหรับเยาวชนไทยที่เป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการประจำปีนี้ บางส่วนได้เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศด้วยทุนโอลิมปิกวิชาการซึ่ง สสวท.มอบให้กับผู้แทนทุกสาขาทั้ง 26 คน บางคนไปเรียนต่อด้วยทุนเล่าเรียนหลวง และบางคนไปเรียนต่อด้วยทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) ขณะที่เยาวชนบางคนยังเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย และอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกสาขาที่จะเรียนต่อในอนาคต