สนช. จับมือ วศ. ผลักงานวิจัยจาก “หิ้ง” สู่ “ห้าง” ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิต “สบู่นมแพะ” เผยพัฒนาให้สบู่คงรูปได้นานกว่าที่ชาวบ้านผลิตได้ ด้านเอกชนรับไม้ต่อจะขายได้อีก 2 เดือน พร้อมแบ่งรายได้ 3 เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นงบวิจัยต่อไป
กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสบู่นมแพะแก่ บริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมลงนามความร่วมมือระหว่าง วศ.และบริษัท เพื่อนำเทคโนโลยีของ วศ.สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ภายใต้โครงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ สนช.
นางนีโลบล สุวรรณาภินันท์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาทางด้านสมุนไพรและแปรรูปอาหาร วศ. และเป็นผู้คุมงานวิจัยด้านเครื่องสำอางกล่าวว่า ได้พัฒนาการผลิตสบู่นมแพะมาเป็นเวลา 2 ปี โดยมองว่านมแพะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะมีโมเลกุลโปรตีนเล็กกว่านมวัวและซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย มีกรดหลายชนิดที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคภูมิแพ้
ทั้งนี้นางนีโลบลได้เพิ่มเติมว่าประชาชนชาวมุสลิมผลิตสบู่นมแพะกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้คุณภาพ เมื่อตรวจแล้วยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสบู่ก้อน จึงช่วยพัฒนาโดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับปรุงและยกระดับของวัตถุดิบให้เข้าเกณฑ์ โดยให้มีไขมัน 76.5 % และใช้วัตถุดิบทั้งหมดจากในประเทศ อีกทั้งได้พัฒนาให้สบู่คงรูปได้นานกว่าที่ผลิตกันทั่วไป
ทางด้าน นายนาคา ฟูรังสีโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจะผลิตสบู่นมแพะวางขายได้ในอีก 2 เดือน โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าและผิวกาย ซึ่งจะมีทั้งสบู่นมแพะธรรมดาที่ขายในราคา 100 บาท และชนิดที่ใช้นาโนเทคโนโลยีซึ่งจะขายในราคา 300 บาทขึ้นไป โดยมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศคือ สหรัฐและญี่ปุ่น ส่วนรายได้จากการขาย 3 % จะแบ่งให้กับ วศ.เป็นระยะเวลา 5 ปี ตามข้อตกลงการลงนาม เพื่อเป็นงบสำหรับ วศ. ในการวิจัยต่อไป อีกทั้งในอนาคตจะได้พัฒนาเป็นโลชันบำรุงผิวด้วย
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอื่นซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ วศ.ให้กับเอกชนคือ การผลิตนะนาวผง และดอกไม้เซรามิก โดยมี บริษัทไทยเพียวอะกริคัลเจอร์ ฟู้ดส์ จำกัด และบริษัท ศิระลำปาง จำกัด รับเทคโนโลยีไปต่อยอด และได้มีการแถลงข่าวถึงความร่วมมือดังกล่าวในวันที่ 23 ส.ค. ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี