ไม่เชื่อใช่ไหมว่าขวดน้ำพลาสติก ฝอยขัดหม้อ หรือแม้แต่ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะก่อให้เกิดงานวิศวกรรมได้ แต่เยาวชนที่มาร่วมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ก็แสดงให้เห็นว่าวัสดุเหลือใช้เป็นอุปกรณ์ชั้นดีที่กระตุ้นให้พวกเขาสนใจงานด้านนี้ได้
ค่าย “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2549 ซึ่งจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 11-22 ส.ค. นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ได้ขนวัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว ฝอยขัดหม้อ เชือกฟาง กระป๋องน้ำอัดนม หรือถ้วยบะหมี่ มาเป็นวัสดุผลิตหุ่นยนต์ และได้จัดแข่งขันขึ้นในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย โดยแบ่งรางวัลเป็น 3 ประเภทคือ รางวัลชนะเลิศซึ่งตัดสินจากคะแนนรวมสูงสุด รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ ซึ่ง 2 รางวัลหลังตัดสินจากดุลยพินิจของคณะกรรมการ
ทั้งนี้มีโจทย์สำหรับการแข่งขันคือ ผู้เข้าแข่งขันต้องตั้งทีมขึ้นมา 3 คน และจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ที่ทางทีมงานได้จัดเตรียมไว้ให้ ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว และมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้คือ มอเตอร์ สวิตซ์เปิด-ปิด สวิตซ์กด และ “รีเลย์” (Relay) วงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า โดยในระดับ ม.ต้น กำหนดให้ประดิษฐ์ “หุ่นยนต์บริการภายในสวน” (Service Robot) ส่วน ม.ปลายให้ประดิษฐ์ “หุ่นยนต์กู้ภัย” (Rescue Robot)
เมื่อลงทะเบียนเข้าแข่งขันแล้ว เจ้าหน้าที่จาก “ชมรมธนบุรีโรบอทคอนเทส” (TRCC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งสอนผู้เข้าแข่งขันเรื่องทางกล เช่น เรื่องแรง เฟืองและการทดเฟือง และสอนเรื่องทางไฟฟ้า เช่น การต่อมอเตอร์ การต่อวงจร จากนั้นจะให้เวลาผู้เข้าแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์อีก 4 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วจะให้เวลาผู้เข้าแข่งขันนำเสนอผลงานอีกครึ่งชั่วโมง
หลังจากเฟ้นหาผลงานที่ดีที่สุดร่วม 10 วัน ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ระดับดังนี้ ระดับ ม.ต้น ทีมชนะเลิศคือ ทีม “Tri-tium” จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมคือ ทีม “ปึ๋ง Modifly Mini Robot” จากโรงเรียนเขลางค์นคร และทีมที่ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์คือ ทีม “คุโรสึกิ” จากโรงเรียนวัดราชโอรส สำหรับระดับ ม.ปลาย ทีมชนะเลิศคือ ทีม “Success” จากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) 2 ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมคือ ทีม “อืม...” จากโรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) 2 และทีมที่ได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์คือ ทีม “ข้าวต้มมัด” จากโรงเรียนนวมินทราชูทิศกรุงเทพมหานคร
ทางด้านคณะกรรมการคือ ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มจธ. และ ผศ.ดร.สยาม เจริญเสียง รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาฟีโบ้ มจธ.ให้ความเห็นว่า ความคิดเบื้องต้นในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ต้องมาก่อน ซึ่งการทำแบบจำลองก่อนประดิษฐ์ของจริงจะเป็นพื้นฐานต่อยอดสู่การทำหุ่นยนต์ของจริง และกระตุ้นให้เด็กสนใจงานด้านวิศวกรรม โดยต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานเสียก่อน เพราะไม่สามารถให้เด็กเริ่มทำหุ่นยนต์โดยไม่มีพื้นฐานได้ พร้อมกับกล่าวถึงความประทับใจต่อผลงานของนักเรียนว่า ในระดับ ม.ต้น นักเรียนสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนและใช้งานได้จริง ขณะที่ระดับ ม.ปลาย ก็ทำงานได้ละเอียดและเรียบร้อย
ส่วน น.ส.อรปรียา ศิริพิพัฒน์ และ น.ส.วรดา วุฒิชัย นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจากทีม Success ที่เดินทางมาฟังผลการแข่งขันกล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ไม่ยาก เพราะทั้ง 2 มีพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์กว่า 10 ตัว และได้ใช้ความรู้จากที่เคยประดิษฐ์ครั้งที่ผ่านๆ มาในการแข่งขันครั้งนี้
นอกจากนี้ทั้ง 2 คนยังเปิดเผยว่ามีความสนใจงานด้านวิศวกรรมและอยากเรียนต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนความตั้งใจแล้ว โดย น.ส.อรปรียาอยากเรียนต่อทางด้านบัญชี ส่วน น.ส.วรดาอยากเป็นทันตแพทย์ แต่ทั้งนี้ก็ได้สั่งสมความรู้ด้านหุ่นยนต์มาจึงนำมาใช้ในการแข่งขัน สำหรับแนวคิดในการประดิษฐ์หุ่นยนต์นั้นเป็นการประดิษฐ์หุ่นยนต์กู้ภัยกรณีตึกถล่ม และเป็นสถานที่อันตรายเกินกว่ามนุษย์จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยตัวเอง และการใช้วัสดุเหลือใช้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ครั้งนี้ก็ถือเป็นการเสนอความคิด ซึ่งผู้ใหญ่อาจจะนำไปต่อยอดได้
สำหรับการมอบรางวัลนั้น จะมีขึ้น ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ในวันที่ 30 ส.ค. โดยจะได้ทำหนังสือและแจ้งไปยังทีมที่ชนะเลิศต่อไป ส่วนของรางวัลนั้นแต่ละทีมจะได้รับถ้วยรางวัล พร้อมอุปกรณ์สำหรับประดิษฐ์หุ่นยนต์ขนาดเล็ก
::: อ่านข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2549 :::
-“สวนดุสิตโพล” เผยผู้ชมกว่าครึ่งร่วมงานสัปดาห์วิทย์ปีนี้ครั้งแรก !!
- สารพัด “สัตว์” แปลกๆ ในสัปดาห์วิทย์
- ร.ร.เสนารักษ์พัฒนาเนื้อเทียมทำบาดแผลสมมติราคาถูกตามรอย “เศรษฐกิจพอเพียง”
- เปิดครัวกลางสัปดาห์วิทย์ ทำ “ช็อกโกแลต” แสนง่าย
- เข้าห้องแล็บไบโอเทค "ระเบิดเซลล์-แยกดีเอ็นเอ" ในสัปดาห์วิทย์ 49
- "คลื่นครื้นเครง" ในนครแห่งพลังงานไร้รูป
- เผย 5 วันยอดผู้ชมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ทะลุ 5 แสน
- "คาโปะจัง" ตุ๊กตานาโนดูดกลิ่น ดึงเรื่องไฮเทคลงสิ่งใกล้ตัว
- 8 นักผจญเพลิงสอนวิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้แบบเสมือนจริงในสัปดาห์วิทย์ 49
- ก.วิทย์แก้ปัญหารถฟรี "สัปดาห์วิทย์" จัดเพิ่มเป็น 6 คันออกทุก 15 นาที
- หลายครอบครัวชื่นมื่นทยอยร่วมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ครึกครื้น
- ชมภาพประชาชนแห่ร่วมงานสัปดาห์วิทย์ล้นหลาม
- สัปดาห์วิทย์วันที่ 3 คนทะลุ 8 หมื่น - ชัทเทิลบัสรับส่งไม่ดีสมอ้าง
- "พล เดอะสตาร์" เชื่อเปลี่ยนวิทยาศาสตร์น่าเบื่อให้สนุกด้วยวิธีนำเสนอ
- ร่วมตอบปัญหา "เมก้าเคลฟเวอร์" ฉบับไทยที่ฉลาดสุดสุด
- “คุณหญิงสุมณฑา” เผยแม้อยู่ในวงการนานก็ยังตื่นเต้นกับ “สัปดาห์วิทย์”
- นักบินอวกาศคนแรกของญี่ปุ่น เผยประสบการณ์นอกโลกในงานสัปดาห์วิทย์
- ไบเทคพร้อมรับคนเข้าชมสัปดาห์วิทย์วันละ 1 แสน
- สมเด็จพระเทพฯ ตรัสสัปดาห์วิทย์ช่วยเปิดโลกทัศน์ประชาชน
- เตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบ “กองทัพหุ่นยนต์” บุกสัปดาห์วิทย์ 49
-เผยภูมิปัญญามังกรโบราณ "โอ่งวัดแผ่นดินไหว" ในงานสัปดาห์วิทย์ 49
-โชว์ “ตราฉลอง 60 ปี” ขนาดจิ๋วแบบสามมิติในสัปดาห์วิทย์ 49
-"พี่มอส-บัวชมพู" ชวนเที่ยวสัปดาห์วิทย์ อยากให้น้องเป็นนักวิทยาศาสตร์กันเยอะๆ
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม
