xs
xsm
sm
md
lg

2 นักวิทย์ดีเด่นเผย “ขยัน อดทน ทำงานหนัก” เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานเลี้ยงแสดงความยินดีให้แก่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปี 2549
2 นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 49 ให้โอวาทนักวิจัยรุ่นหลัง ระบุขยันอดทน -ทำงานให้หนักเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ แย้งการอ้างความไม่พร้อมของเครื่องมือแล้วไม่ทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่การทำวิจัยต้องลงตัวทั้งผลประโยชน์ตัวเองและประโยชน์ชาติ

ในการจัดงานแสดงความยินดีให้แก่นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2549 ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อค่ำวานนี้ (18 ส.ค.) ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ ได้มีการปาฐกถาพิเศษโดยนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้ง 2 ท่าน

นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นทั้ง 2 ท่านได้แก่ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม เมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ทำงานวิจัยสาขาการไหลสองสถานะ การถ่ายเทความร้อนและมวล

ตอนหนึ่ง ศ.ดร.ปิยะสาร ให้คำแนะนำแก่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังว่า ในการทำงานวิจัยจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีความขยันและอดทนต่อการทำงาน ที่สำคัญคือต้องมีปณิธานและปรัชญาในการทำงานที่ดี มุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากกว่าเพื่อตัวเอง

รวมทั้งควรทำงานวิจัยที่สามารถต่อยอดทางอุตสาหกรรมได้ แต่ก็ไม่ทำให้ตัวเองต้องลำบากจนเกินไป โดยการอ้างเรื่องความไม่พร้อมของเครื่องไม้เครื่องมือแล้วไม่ยอมทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าเครื่องไม้เครื่องมือคือ สมองและความขยันอดทน

“ถามว่าถ้าเราไม่ขยัน ไม่ทำงานให้หนักกว่าคนที่เก่งกว่าเราแล้ว เราจะชนะเขาได้เปล่า อย่างตัวผมเองก็ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ทำงานให้มากกว่าคนอื่น เวลาไปบรรยายที่ไหน ผมก็จะพูดเสมอๆ ว่าผมเคยสอบตกมาก่อนนะ ดังนั้นต้องไม่ห่วงสบายและก็อย่าท้อถอย” ศ.ดร.ปิยะสาร กล่าว

ส่วน ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นอีกท่านก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การเป็นนักวิจัยที่ดีจะต้องมีความมุ่งมั่น เชื่อมั่นในวิชาชีพของตัวเอง มีกำลังใจทำงาน และที่สำคัญต้องมีความหวังเห็นปลายทางของการทำงานและเชื่อว่ามันจะต้องได้ผลที่ดี เรามาถูกทางแล้ว และต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องขยันและมีวินัยการทำงานด้วย

“นักวิจัยต้องเลือกงานวิจัยที่เราชอบและอยากทำ อีกทั้งต้องเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์กับประเทศ โดยนำปัจจัยหลายๆ อย่างมาพิจารณาสิ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ตอบสนองความต้องการของตัวเองและของประเทศไปพร้อมๆ กัน” ศ.ดร.สมชาย กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ปีนี้อีก 5 ท่านได้แก่ 1.ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาของแข็งที่มีโลหะทรานซิชันเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี, 2.รศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเนื้องอกและมะเร็งเฉพาะชนิดที่เกิดกับระบบประสาท, 3.นพ.วิศิษฏ์ ทองบุญเกิด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยด้านโปรตีโอมิกส์

4.ผศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้กระบวนการทางเคมีในระบบสารละลายที่ไม่รุนแรง และ 5.ผศ.ดร.พวงรัตน์ ไพเราะ อาจารย์สาขาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เจ้าของผลงานวิจัยด้านฟิสิกส์ของรอยต่อที่มีตัวนำยิ่งยวดเป็นส่วนประกอบ
ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม
ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น