xs
xsm
sm
md
lg

8 นักผจญเพลิงสอนวิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้แบบเสมือนจริงในสัปดาห์วิทย์ 49

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพลิงไหม้ มหันตภัยที่น่าหวาดกลัวสมดังที่ว่า โจรขึ้นบ้านสิบครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้บ้านครั้งเดียว เพราะมันสามารถคร่าชีวิตและเผาผลาญทรัยพ์สินให้วอดทั้งหมดได้
เรียนรู้เรื่องไฟนอกห้องเรียนจากประสบการณ์ตรงของ 8 นักผจญเพลิง ในงานสัปดาห์วิทย์ 49 “ปลอดภัยและรอบรู้” ผ่านระบบจำลองภัยพิบัติเสมือนจริง เจาะลึกถึงประเภทของไฟ สาเหตุการเกิดไฟ วิธีการดับไฟ และวิธีเอาตัวรอดหากเกิดไฟไหม้ ฯลฯ

ขึ้นชื่อว่า “ไฟ” ผู้ใหญ่หลายคนรีบจุ๊ปาก ห้ามน้องๆ หนูๆ ในปกครองให้ถอยห่าง และอย่าได้ริลองเล่นเป็นอันขาด ทว่า การรู้จักไฟก็อาจทำให้เราเข้าใจ ใช้ประโยชน์ หรือป้องกันตัวจากไฟได้ดีกว่าที่จะไม่รู้จักมันเอาเสียเลย เข้าทำนอง “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”

เช่นเดียวกับในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549 ระหว่างวันที่ 11-22 ส.ค. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ที่ที่น้องๆ หนูๆ จะได้รู้เรียนเกี่ยวกับไฟจากเกจิอาจารย์ผู้คร่ำหวอดในการผจญเพลิงตัวจริงเสียงจริงจากสถานีดับเพลิงพระโขนงทั้ง 8 ท่าน ที่เอื้อเฟื้อสละเวลามาผลัดเปลี่ยนกันให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย วันละกว่า 100 รอบๆ ละ 80-120 คน ในบูธแบบจำลองเสมือนจริงการเกิดภัยพิบัติ “อัคคีภัย”

วิทยากรทั้ง 8 ท่าน ได้แก่ ร.ต.อ.พักตร์ สังวาลเพชร หัวหน้าสถานีดับเพลิงพระโขนง, ด.ต.พูลเดช ลีละหุต, ส.ต.อ.ปรีดา ดวงสีดา, นายโกวิทย์ หงษ์จันดา, นายไกรวิทย์ ทองแสง, นายฉัตรชัย เสือจุ้ย, นายสกล ศรีสว่าง และนายอาคม ชุมจีน

สาระความรู้เกี่ยวกับ “ไฟ” ที่นำมาจัดนิทรรศการ และมีการบรรยายประกอบการแสดงเสมือนจริงเริ่มจากการรู้จักประเภทของไฟ 4 ประเภท คือ 1.ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงทั่วไปเช่น ไม้ กระดาษ ผ้า ยาง พลาสติก ท่อประปา ท่อไฟฟ้า ซึ่งใช้น้ำดับได้ 2.ไฟที่เกิดจากของเหลวไวไฟ เช่น น้ำมันเตา น้ำมันเบนซิน น้ำมันพืช สารระเหย และแอลกอฮอล์ ที่ไม่สามารถใช้น้ำดับไฟได้ แต่ให้ควบคุมปริมาณออกซิเจนให้ไฟดับเอง เช่น การใช้ภาชนะโลหะครอบบริเวณที่มีเพลิงไหม้

3.ไฟที่เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้า ต้องตัดกระแสไฟฟ้าออกไปก่อนดับไฟ และ 4.ไฟที่เกิดจากโลหะติดไฟและให้ความร้อนสูง เช่น ไททาเนียม โซเดียม โปแตสเซียม อะลูมิเนียมอัลลอยด์ ไม่สามารถใช้น้ำดับไฟได้ เพราะจะทำให้เกิดความร้อนสูงและมีประกายไฟแรงขึ้น จึงต้องหยุดใช้น้ำ แต่หันไปใช้ผงกราไฟต์ ทรายแห้ง หรือเกลือแกงซึ่งดูดซับความร้อนสูงช่วยดับไฟแทน หรืออาจใช้ก๊าซเฉื่อยมาปิดกั้นอากาศไว้ เช่น ไนโตรเจน อาร์กอน และฮีเลียม

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟหรือประกายไฟมี 3 อย่างคือ 1.ธรรมชาติ เช่น การเสียดสี ฟ้าผ่า และการกระทบกันของหิน 2.อุปกรณ์ไฟฟ้าลัดวงจร หากเราเห็นว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดก็ควรรีบซ่อมแซม หรือถ้าเสียเกินกว่าจะซ่อมได้ก็ต้องยอมทิ้งไป และ 3.มนุษย์เราเอง อันเกิดจากความประมาท เลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือแม้แต่การจุดธูปเทียนเพื่อไหว้พระไหว้เจ้า

สาระถัดมาคือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดไฟมีอยู่ 3 อย่างคือ 1.เชื้อเพลิง ทั้งในรูปของของแข็ง ของเหลว และก๊าซ 2.ความร้อนที่สามารถทำให้เกิดประกายไฟหรือไฟลุกไหม้ได้ และ 3. อากาศ ซึ่งในอากาศทั่วไปจะมีออกซิเจนผสมอยู่ 21% เหมาะแก่การเกิดเพลิงไหม้ เพราะไฟจะติดได้เมื่อมีออกซิเจนในอากาศมากกว่า 15% ขึ้นไป หรือราว 16% แต่ถ้าเราสามารถลดปริมาณออกซิเจนให้น้อยกว่า 15% ได้ ไฟก็จะมอดดับไปเอง ซึ่งผลของการเกิดเพลิงไหม้มี 4 อย่างคือ ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ เปลวไฟ ความร้อน และควันไฟ

ด้านชุดผจญเพลิงที่มีการพัฒนาและใช้งานในปัจจุบัน เช่น ชุด RB-90 และชุดนิรภัย 2000 ใช้ในการดับเพลิงในอาคาร ทนความร้อนได้ 750 องศาเซลเซียส และชุดอะลูมิไนซ์ ป้องกันไฟและสารเคมีอันตรายได้ ทนความร้อนได้สูงสุด 1,000 องสาเซลเซียส อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนเราจะสามารถพัฒนาชุดผจญเพลิงได้แล้ว แต่เราก็ยังต้องเกรงกลัวไฟอยู่ หากเกิดไฟไหม้แล้ว เราต้องรู้จักวิธีช่วยตัวเองก่อนนักผจญเพลิงจะมาช่วยเรา เช่น การใช้ถังดับเพลิงที่หลายบ้านมีอยู่แล้ว โดยมีวิธีการใช้ง่ายๆ 4 ข้อคือ “ดึง-ปลด-กด-ส่าย” 

ดึงและปลดสลักออก จากนั้นจึงใช้มือจับที่ปลายสายฉีดให้มั่นแล้วกดหัวถังให้ฉีดสารเคมีดับไฟออกมา ระหว่างฉีดต้องส่ายหัวฉีดไปที่ฐานของไฟ อย่าฉีดที่เปลวไฟเพราะไม่ช่วยให้ไฟดับได้เลย ซึ่งในถังดับเพลิงจะมีสารเคมีที่เราใช้ฉีดได้เพียง 16 วินาทีเท่านั้น ดังนั้นจะต้องรีบดับไฟให้ได้ภายในเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต้องตั้งสติให้ได้ ซึ่งจะทำให้เรามีปัญญาคิดอ่านตามมา จากนั้นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์โทรศัพท์ 199 และบอกคนในบ้านหรือในอาคารให้รู้ตัว หากมีสัญญาณเตือนไฟไหม้ (Fire Alarm) ก็ให้รีบดึงไฟสัญญาณเพื่อบอกให้คนอื่นๆ ได้ทราบด้วย หลังจากนั้นให้รีบเดินชิดขวาหนีออกทางประตูหนีไฟ ห้ามวิ่ง แต่ให้ก้มตัวให้ต่ำ เพราะยังจะพอมีอากาศบริสุทธิ์ลอยเหนือพื้นให้เราได้หายใจอยู่บ้าง

“ส่วนสิ่งที่ต้องระวังเมื่อเกิดเพลิงไหม้คือควันไฟ เนื่องจากมีก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์จำนวนมาก เมื่อเราสูดดมเข้าไปจะทำให้สลบหรือหมดสติได้ นอกจากนั้นข้อควรรู้อีกข้อคือระหว่างเกิดเพลิงไหม้ต้องห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด” หนึ่งในทีมวิทยากรกล่าวทิ้งท้ายการให้ความรู้

สำหรับผู้สนใจต้องการรับฟังความรู้เกี่ยวกับการเกิดขึ้นและการป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติต่างๆ อาทิ อัคคีภัย แผ่นดินไหว พายุและโคลนถล่มในแบบเสมือนจริงด้วยตัวเองแล้ว ก็สามารถไปเยี่ยมชมได้ในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549 ระหว่างวันที่ 11- 22 ส.ค. ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนั้นแล้ว ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการและการแสดงอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ กองทัพหุ่นยนต์กว่า 30 ตัวจากประเทศญี่ปุ่น, การโชว์แอโรเจลวัสดุกันความร้อนที่เบาที่สุดในโลก และนิทรรศการ 7,000 ปี นวัตกรรมจีน ฯลฯ ซึ่งการจัดงานวันแรกจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมงานตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.เวลา 14.00-21.00 น., วันเสาร์ที่ 12-21 ส.ค. เวลา 09.00-21.00 น. และวันอังคารที่ 22 เวลา 09.00 -18.00 น.

หากผู้ที่มาร่วมงานรายใดโดยสารรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีอ่อนนุชแล้ว ก็สามารถต่อรถโดยสารรับส่งฟรีที่ได้จัดไว้เพื่อมาร่วมงานได้ทันที รวมทั้งยังมีบริการรับส่งฟรีจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แม่งานหลักการจัดงาน เพื่อไปร่วมงาน หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายจัดงานที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2577-9999 ต่อ 1829, 1830
บูธแบบจำลองเสมือนจริงการเกิดอัคคีภัยหรือไฟไหม้ในงานสัปดาห์วิทย์ 49
::: อ่านข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2549 :::

- เข้าห้องแล็บไบโอเทค “ระเบิดเซลล์-แยกดีเอ็นเอ” ในสัปดาห์วิทย์ 49
- “คลื่นครื้นเครง” ในนครแห่งพลังงานไร้รูป
- เผย 5 วันยอดผู้ชมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ทะลุ 5 แสน
- “คาโปะจัง” ตุ๊กตานาโนดูดกลิ่น ดึงเรื่องไฮเทคลงสิ่งใกล้ตัว
- ก.วิทย์แก้ปัญหารถฟรี "สัปดาห์วิทย์" จัดเพิ่มเป็น 6 คันออกทุก 15 นาที
- หลายครอบครัวชื่นมื่นทยอยร่วมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ครึกครื้น
- ชมภาพประชาชนแห่ร่วมงานสัปดาห์วิทย์ล้นหลาม
- สัปดาห์วิทย์วันที่ 3 คนทะลุ 8 หมื่น - ชัทเทิลบัสรับส่งไม่ดีสมอ้าง
- “พล เดอะสตาร์” เชื่อเปลี่ยนวิทยาศาสตร์น่าเบื่อให้สนุกด้วยวิธีนำเสนอ
- ร่วมตอบปัญหา “เมก้าเคลฟเวอร์” ฉบับไทยที่ฉลาดสุดสุด
- นักบินอวกาศคนแรกของญี่ปุ่น เผยประสบการณ์นอกโลกในงานสัปดาห์วิทย์
- “คุณหญิงสุมณฑา” เผยแม้อยู่ในวงการนานก็ยังตื่นเต้นกับ “สัปดาห์วิทย์”
- ไบเทคพร้อมรับคนเข้าชมสัปดาห์วิทย์วันละ 1 แสน
- สมเด็จพระเทพฯ ตรัสสัปดาห์วิทย์ช่วยเปิดโลกทัศน์ประชาชน
-เตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบ “กองทัพหุ่นยนต์” บุกสัปดาห์วิทย์ 49
-เผยภูมิปัญญามังกรโบราณ "โอ่งวัดแผ่นดินไหว" ในงานสัปดาห์วิทย์ 49
-โชว์ “ตราฉลอง 60 ปี” ขนาดจิ๋วแบบสามมิติในสัปดาห์วิทย์ 49
-"พี่มอส-บัวชมพู" ชวนเที่ยวสัปดาห์วิทย์ อยากให้น้องเป็นนักวิทยาศาสตร์กันเยอะๆ
นายไกรวิทย์ ทองแสง 1 ใน 8 นักผจญเพลิงที่ผลัดเปลี่ยนกันมาให้ความรู้ในงาน
3 ปัจจัยการเกิดเพลิงไหม้
ถังดับเพลิงแบบต่างๆ ที่ทุกคนควรเรียนรู้ที่จะใช้ให้เป็น
ชุดผจญเพลิง RB-90
ชุดผจญเพลิงนิรภัย 2000
ชุดผจญเพลิงอะลูมิไนซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น