เปิดใจนักบินอวกาศคนแรกของญี่ปุ่น เล่าประสบการณ์สภาพไร้น้ำหนักนอกโลกในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 49 ตั้งแต่ความรู้สึกก่อนยานออกตัวจนถึงความรู้หลังจบภารกิจ ย้ำเห็นความเชื่อมโยงคน โลก จักรวาล ฯลฯ จะบรรยายอีกครั้งพรุ่งนี้ก่อนเดินทางกลับประเทศ
การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปีนี้ ในชื่อ “งานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 11-22 ส.ค. ไฮไลท์สำคัญชนิดห้ามพลาดโดยประการทั้งปวง คงหนีไม่พ้นการบรรยายในหัวข้อ “ท้าทายความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์” (Challenge the Know with Science) ของ ดร.มาโมรุ โมริ (Dr.Mamoru Mohri) ผอ.พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแห่งชาติญี่ปุ่น หรือสถาบันมิไรแคน (MIRAIKAN) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ดร.โมริ เป็นอดีตหนึ่งในสามผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) และรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการส่งมนุษย์ไปท่องอวกาศด้วยกระสวยอวกาศในปี พ.ศ.2528 ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุศาสตร์ในสภาพไร้น้ำหนัก อาทิ โปรตอน อิเล็กตรอน และนิวตรอน
ด้วยความสุภาพอ่อนน้อมตามสไตล์ชาวอาทิตย์อุทัย ดร.โมริกล่าวทักทายผู้ร่วมรับฟังด้วยคำว่า “สวัสดีครับ” ในภาษาไทย จากนั้นจึงเริ่มการบรรยายตัดสลับกับการฉายภาพวีดิทัศน์และการตั้งคำถาม-สนทนาโต้ตอบกับผู้ฟังในห้องที่มีทั้งเด็กนักเรียนและผู้ใหญ่กว่า 100 คน
ดร.โมริ เล่าว่า ภายหลังการท่องอวกาศแล้ว เขามีมุมมองต่อโลกและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปและกว้างขึ้น เริ่มศึกษาศาสตร์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่จำเพาะแต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประสบการณ์ที่อยากเล่าเริ่มตั้งแต่การทะยานออกนอกโลกด้วยความเร็วของยานจะกดตัวเราไว้กับเบาะจนแน่น แต่เมื่อบินอยู่เหนือโลกแล้ว เราก็เห็นโลกในมุมที่งดงามยิ่ง โดยโลกที่เราอยู่มีขนาดเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับจักรวาลทั้งมวล แม้ว่าขณะนี้เราก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจักรวาลมีขอบเขตหรือมีที่สิ้นสุดหรือไม่
คุณสมบัติของอวกาศ 3 ประการที่ต้องกล่าวถึงคือ 1.แรงดึงดูด 2.สภาพไร้น้ำหนัก และ 3.ความกว้างใหญ่ไพศาล โดยในเรื่องของสภาพไร้น้ำหนักนั้นไม่ได้เกิดจากการที่เราอยู่นอกโลกเพียง 300 กิโลเมตรเมื่ออยู่ในยานอวกาศ หากเราจะจินตนาการสภาพไร้น้ำหนักได้ เราต้องนึกถึงเครื่องเล่น “ฟรีฟอลล์” (Free Fall) ที่มีลักษณะเป็นรถไฟเหาะ โดยช่วงเวลาที่เราตกลงจากที่สูง สภาพไร้น้ำหนักก็จะเกิดขึ้น
สำหรับการโคจรรอบโลกของกระสวยอวกาศนั้นอธิบายได้ว่า หากเราโยนลูกบอลนอกโลกด้วยแรงที่มากพอแล้ว ลูกบอลก็จะโคจรรอบโลกได้ไม่มีวันตก เช่นเดียวกับการโคจรรอบโลกของยานอวกาศ อย่างไรก็ดี สภาพที่เราได้อยู่ในอวกาศก็เป็นสภาพที่มีความสุขมาก สามารถทำอะไรแปลกๆ ได้หลายอย่าง เช่น การว่ายน้ำในอากาศ
ข้อเท็จจริงที่น่าฉงนบนยานอวกาศที่หลายคนอาจไม่ทราบเลยได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเรา เช่น เราจะรู้สึกตัวเบาขึ้นเหมือนการดำน้ำในอากาศ, ขนาดของคอเราจะขยายใหญ่ขึ้นกว่าอยู่บนโลกกลับกันกับต้นขาที่จะเล็กลงเพราะเลือดจะไหลขึ้นสู่ศีรษะ หรือแม้แต่ในกรณีของวัสดุต่างๆ ที่จะมีการเคลื่อนไหวแปลกๆ ในอวกาศ เช่น น้ำที่มีคุณสมบัติความหนืดและการกระจายตัวบนพื้นผิววัสดุต่างๆ น้ำจึงมีการเคลื่อนไหวตลอด ไม่หยุดนิ่ง
อุปสรรคของการออกไปอยู่นอกโลกไม่ใช่เพียงแค่ไกลบ้านเท่านั้น เมื่อทุกอย่างในอวกาศต่างอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก ภารกิจในชีวิตประจำวันที่เราล้วนเคยชินก็เปลี่ยนไปด้วย จากประสบการณ์ของ ดร.โมริ ได้ถ่ายทอดให้เห็นกิจกรรมช่วงเช้าหลังจากตื่นนอนที่ค่อนข้างทุลักทุเล เริ่มต้นจากการแปรงฟันที่ต้องคว้าแปรงให้มั่น ก่อนจะลอยอย่างไร้ทิศทาง ยาสีฟันก็เป็นชนิดพิเศษที่กินได้ เราจึงไม่ต้องบ้วนปาก บ้างครั้งเราต้องทำความสะอาดผม ยาสระผมที่ใช้ก็ได้ล้างออกด้วยน้ำ เพียงแค่ใช้ผ้าเช็ดก็สะอาดได้ เหมาะที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ส่วนอาหารบนอวกาศจะเป็นของแห้ง (dehydrate) แต่จะผสมน้ำเล็กน้อย เพื่อให้อาหารเกาะตัวและไม่ลอยออกในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งนักบินแต่ละคนจะมีอาหารประจำตัวที่ติดฉลากสีบอกว่าเป็นของใคร โดยมีอาหารหลากหลายมากกว่า 200 ชนิด แต่อาหารที่นักบินอวกาศชอบมากคืออาหารรสจัด เนื่องจากในอวกาศการรับรู้รสชาติจะหายไปบางส่วน ดร.โมริบอกว่าข้าวแกงของญี่ปุ่นเป็นที่ชื่นชอบของนักบิน และการใช้ตะเกียบก็อำนวยความสะดวกมากกว่าใช้ช้อน ส่วนขยะที่เหลือจากการกินจะถูกอัดให้เล็กที่สุดเพื่อนำกลับมากำจัดบนโลก
หลายคนอาจสงสัยว่าการขับถ่ายในอวกาศจะจะเป็นอย่างไร ดร.โมริเล่าว่า เมื่อเข้าสุขาจะมีสายรัดข้อเท้าให้แน่น โถนั่งภายในห้องสุขาจะมีระบบความดันดึงของเสียที่ถูกขับออกมาไม่ให้ลอยล่อง ซึ่งนักบินก็ต้องนั่งอย่างมิดชิดด้วย ของเสียที่ออกมานั้นถูกแยกน้ำออกจากของแข็งเพื่อปล่อยทิ้งในอวกาศ ซึ่งจะแตกสลายกลายเป็นพลาสมาไม่สร้างมลภาวะแต่อย่างใด ส่วนของแข็งจะถูกนำกลับมายังโลก
ตัวอย่างสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งอวกาศยังได้แก่ การแยกสารต่างชนิดกันในแรงดึงดูดที่ต่างกัน เช่น เมื่อเราใส่ขนมมาร์ชเมลโล่ปนกับช็อกโกแลตเม็ดในถุงพลาสติกใบเดียวกันในสภาพไร้น้ำหนัก ขนมทั้งสองชนิดจะปนกัน แต่เมื่อเพิ่มแรงดึงดูดเป็น 1 จี (g = 9.8 m/s2 : ค่าจีคือความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก โดย 1g = 9.8 เมตรต่อวินาทียกกำลังสอง) ขนมทั้งสองชนิดจะแยกออกจากกันเองโดยขนมมาร์ชเมลโล่จะอยู่ด้านบน ขณะที่ช็อกโกแลตเม็ดจะจมอยู่ข้างล่าง ซึ่งจากคุณสมบัตินี้ เราสามารถนำมาใช้กับการผลิตยา เซรามิก และสารกึ่งตัวนำยิ่งยวดได้
ดร.โมริ กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์นอกโลกของเขานี้เองที่ทำให้เขารู้สึกถึงความเกี่ยวพันระหว่างสิ่งต่างๆในจักรวาล ว่ามีความเกี่ยวพันถึงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต ผืนดิน ผืนน้ำ ท้องฟ้า โลก ระบบสุริยะ กาแล็กซี่ จักรวาล ห้วงอวกาศ เวลาและสถานที่ รวมเรียกได้ว่าเป็นวิชาจักรวาลศาสตร์ ซึ่งหากเราศึกษามากขึ้นแล้ว เราก็อาจเป็นผู้ที่นำความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาต่างๆ ได้
ส่วนการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เขาได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงได้ทราบว่ารัฐบาลไทยมีโครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทยมีโอกาสไปสัมผัสกับสภาพไร้น้ำหนักที่ประเทศญี่ปุ่นในปีหน้า โดยจะเปิดรับสมัครเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านการส่งโครงงานวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์อยากทำในสภาพไร้น้ำหนักมาให้พิจารณา รวมถึงเปิดรับโครงการวิทยาศาสตร์ที่เยาวชนไทยอยากเห็นนักบินอวกาศนำไปทดลองในกระสวยอวกาศจริงๆ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วย
“เราสามารถจินตนาการคำตอบอะไรต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่เราจะไม่มีทางรู้คำตอบเลยถ้าเราไม่ทดลองจริงๆ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการทดลองวิทยาศาสตร์จึงน่าสนใจและสนุกมาก” นักบินอวกาศสัญชาติญี่ปุ่น กล่าว พร้อมปิดการบรรยายด้วยคำว่า “ขอบคุณครับ”
ทั้งนี้ ดร.โมริได้เดินทางมาเล่าประสบการณ์ในอวกาศ เพียง 2 วันเท่านั้น คือวันที่ 11-12 ส.ค.นี้ ในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2549 ณ บูธของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายสำหรับใครที่พลาดโอกาสพบกับตัวจริงของนักบินอวกาศครั้งนี้ แต่สัปดาห์วิทย์ปีหน้าเราอาจได้พบกับนักบินอวกาศคนใหม่ที่จะมาเล่าประสบการณ์ที่ต่างออกไป
::: อ่านข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2549 :::
- เข้าห้องแล็บไบโอเทค “ระเบิดเซลล์-แยกดีเอ็นเอ” ในสัปดาห์วิทย์ 49
- “คลื่นครื้นเครง” ในนครแห่งพลังงานไร้รูป
- เผย 5 วันยอดผู้ชมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ทะลุ 5 แสน
- “คาโปะจัง” ตุ๊กตานาโนดูดกลิ่น ดึงเรื่องไฮเทคลงสิ่งใกล้ตัว
- 8 นักผจญเพลิงสอนวิธีเอาตัวรอดจากไฟไหม้แบบเสมือนจริงในสัปดาห์วิทย์ 49
- ก.วิทย์แก้ปัญหารถฟรี "สัปดาห์วิทย์" จัดเพิ่มเป็น 6 คันออกทุก 15 นาที
- หลายครอบครัวชื่นมื่นทยอยร่วมงานสัปดาห์วิทย์ 49 ครึกครื้น
- ชมภาพประชาชนแห่ร่วมงานสัปดาห์วิทย์ล้นหลาม
- สัปดาห์วิทย์วันที่ 3 คนทะลุ 8 หมื่น - ชัทเทิลบัสรับส่งไม่ดีสมอ้าง
- “พล เดอะสตาร์” เชื่อเปลี่ยนวิทยาศาสตร์น่าเบื่อให้สนุกด้วยวิธีนำเสนอ
- ร่วมตอบปัญหา “เมก้าเคลฟเวอร์” ฉบับไทยที่ฉลาดสุดสุด
- “คุณหญิงสุมณฑา” เผยแม้อยู่ในวงการนานก็ยังตื่นเต้นกับ “สัปดาห์วิทย์”
- ไบเทคพร้อมรับคนเข้าชมสัปดาห์วิทย์วันละ 1 แสน
- สมเด็จพระเทพฯ ตรัสสัปดาห์วิทย์ช่วยเปิดโลกทัศน์ประชาชน
-เตรียมตัวให้พร้อมก่อนพบ “กองทัพหุ่นยนต์” บุกสัปดาห์วิทย์ 49
-เผยภูมิปัญญามังกรโบราณ "โอ่งวัดแผ่นดินไหว" ในงานสัปดาห์วิทย์ 49
-โชว์ “ตราฉลอง 60 ปี” ขนาดจิ๋วแบบสามมิติในสัปดาห์วิทย์ 49
-"พี่มอส-บัวชมพู" ชวนเที่ยวสัปดาห์วิทย์ อยากให้น้องเป็นนักวิทยาศาสตร์กันเยอะๆ
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพเพิ่มเติม
