เอเยนซี/บีบีซีนิวส์ – ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุยีนของ “ข้าว” ที่ช่วยให้ลำต้นจมอยู่ในน้ำได้มากกว่า 2 สัปดาห์ เพราะโดยปกติต้นข้าวโดยทั่วไปหากจมน้ำจะตายภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งนักวิจัยหวังว่ายีนตัวใหม่นี้จะช่วยยืดอายุให้ข้าวสามารถอดทนน้ำได้นานมากขึ้น
“ข้าว” เป็นพืชที่ต้องการน้ำมากในระหว่างการเติบโต แต่การได้น้ำมากเกินไปข้าวเหล่านี้ก็จะเน่าตายภายใน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วมนาข้าวในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแต่ละปีสร้างความสูญเสียให้แก่เกษตรกรมูลค่ามากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แม้ว่าในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าแล้วก็ตาม แต่ความต้องการก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และขณะนี้กลายเป็นวัตถุดิบสำคัญให้แก่ผู้บริโภคถึง 3 พันล้านคนทั่วโลก พื้นที่ปลูกข้าวหลายแหล่งในเอเชียใต้ให้ผลผลิตน้อยกว่าที่ควร เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูมรสุม
พืชที่จมใต้น้ำหลายๆ วันติดกัน จะขาดออกซิเจนลำเลียงเข้าลำต้น จากนั้นก็จะเหี่ยวและตายในที่สุด
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเดวิส (University of California, Davis) สหรัฐฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ฟิลิปปินส์ รายงานผ่านวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า ยีน “ซับ1เอ-1” (Sub1A-1) ช่วยให้พืชอดทนต่อการจมน้ำได้นาน
ซับ1 (Sub1) นั้นย่อมาจาก “ซับเมอร์เจน1” (Submergence1) แปลว่าดำน้ำ โดยนักวิจัยระบุยีนตัวนี้ได้บนโครโมโซมตัวที่ 9 ของพืช ซึ่ง Sub1-A1 ยีนที่จำเพาะลงไปตัวนี้สามารถเพิ่มคุณสมบัติให้ข้าวจมอยู่ในน้ำได้มากกว่า 2 สัปดาห์ถึงจะเน่าตาย
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยเตรียมจะเสนอให้เติมยีนดังกล่าวเข้าในเพื่อพิทักษ์ผลผลิตที่เสียหาย โดยดร.เดวิด แม็คคิล (David Mackill) จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติและผู้ร่วมเขียนรายงานชิ้นนี้ เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์พยายามกว่าครึ่งศตวรรษเพื่อพัฒนาข้าวพันธุ์ที่อดทนต่อน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้มีข้าวกว่า 120,000 ชนิดที่พัฒนาขึ้นมาทั้งการเพิ่มสารอาหารและทนทานในการเพาะปลูก
“ข้าวหลายพันธุ์ต่างก็มีการสืบทอดพัฒนาการทนต่อน้ำท่วม แต่ความพยายามผสมพันธุ์ข้าวให้ได้คุณสมบัติทนทานต่อการจมน้ำเพื่อผลผลิตในเชิงพาณิชย์นั้นยังคงล้มเหลว” แม็คคิลอธิบาย ขณะที่ทากูจิ ซาซากิ (Takuji Sasaki) จากสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรชีวภาพแห่งญี่ปุ่น (Japan's National Institute of Agrobiological Sciences) ย้ำว่าทีมวิจัยชุดนี้กลับประสบความสำเร็จ
“ที่สำคัญคือการระบุและศึกษาตัวยีน ซับ1เอ1 ในพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่หลากหลาย ซึ่งก็ทำให้พบว่ายีนดังกล่าวนี้มีบทบาทอย่างยิ่งในฤดูน้ำท่วม