บีบีซีนิวส์ – ค้นพบวัตถุคล้ายโลกคู่หนึ่งโคจรอิงกันและกัน อยู่เหนือระบบสุริยะ ลักษณะจะใช่ดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ก็ไม่เชิงสร้างความฉงนให้แก่นักวิทยาศาสตร์ท้าทายต่อทฤษฎีเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของโลกและดวงดาวที่ยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน
วารสาร “ไซน์” (Sience) ฉบับล่าสุดรายงานว่า นายเรย์ จายะวะรัตนา (Ray Jayawardhana) นักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) แคนาดา ค้นพบวัตถุคู่แฝดแปลกประหลาด ซึ่งวัตถุประเภทนี้ถูกจัดให้เรียกว่า เพลนีมอส (planemos) เพราะมีลักษณะคล้ายดาวเคราะห์เช่นโลก แต่ก็ไม่สามารถระบุได้กว่าเป็นดาวเคราะห์ อีกทั้งยังคล้ายดาวฤกษ์เพราะก่อตัวจากกลุ่มก๊าซ แต่ก็เย็นเกินกว่าจะเป็นดาวฤกษ์
การค้นพบครั้งนี้ถือว่าท้าทายต่อทฤษฎีเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของโลกและดวงดาวที่ยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะวัตถุดังกล่าวมีมวลประมาณ 1% ของดวงอาทิตย์ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกและดวงดาวไม่มีความชัดเจน อีกทั้งดาวทั้งคู่หมุนรอบตัวซึ่งกันและกันแทนที่จะโคจรรอบดวงดาว
“พวกเรายังคงเรียกดาวดวงนี้ว่า “ดาวที่น่าฉงน” เพราะทั้งคู่ไม่ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเหมือนกับดาวอื่นๆ ในระบบสุริยะ” วาเลนติน อีวานอฟ (Valentin Ivanov) จากหอดูดาวยุโรปใต้ (European Southern Observatory : ESO) ในซานติเอโก (Santiago) ชิลี ผู้ร่วมเขียนรายงานการค้นพบครั้งนี้เผย
ที่สำคัญวัตถุทั้ง 2 มีระยะคลื่นและแสงที่คล้ายคลึงกัน จึงน่าเชื่อว่ากำเนิดขึ้นพร้อมๆ กันเมื่อประมาณ 1 ล้านปีก่อน
แม้ว่าทั้ง 2 จะโคจรรอบกันและกัน แต่ก็มีระยะห่างถึง 6 เท่าของระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์ถึงดาวพลูโต และสามารถค้นพบดาวคู่นี้ได้ในกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ไกลออกไป 400 ปีแสง โดยแฝดทั้งคู่มีชื่อว่า Oph 162225-240515 หรือชื่อย่อๆ ว่า Oph 1622
“การค้นพบครั้งนี้ทำให้วงการดาราศาสตร์ได้รู้ว่าการเกิดของดาวโลกมีความหลากหลายมากกว่าที่คาดคิดไว้ และพยายามจะศึกษาต่อไปว่า Oph 1622 ดาวคู่แบบนี้จะเป็นลักษณะพิเศษหนึ่งเดียว หรือมีทั่วไปมากมายในเอกภพ” ดร.จายะวะรัตนากล่าว ซึ่งถ้าหาคำตอบเหล่านี้ได้ คงจะนำไปสู่การอธิบายได้ว่าทำไมดวงดาวที่ลอยอยู่อย่างโดดเดี่ยวในจักรวาลขึ้นเกิดขึ้นได้