ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นใครสักคนเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ แต่ “ปลาทู” นักเรียนทุนคิงด้านอุตุนิยมวิทยา และอดีตผู้แทนฟิสิกส์โอลิมปิก 3 ปีซ้อน ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านอกจากสามารถด้านวิทยาศาสตร์ที่เป็นเลิศแล้ว เขายังยังมีจินตนาการที่สุดล้ำ ด้วยผลงานเขียนที่ผ่านเข้ารอบ 10 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีล่าสุด
แม้จะเป็นเพียงนักเขียนหน้าใหม่ในวัยเพียง 25 แต่ “ภาณุ ตรัยเวช” นักศึกษาปริญญาเอกวิชาอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส หรือ ยูซีแอลเอ (University of California at Los Angeles: UCLA) ก็พา “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” นวนิยายแห่งโชคชะตาและวรรณกรรมเพศที่ 3 เข้ารอบ 10 เล่มสุดท้าย รางวัลซีไรต์ 2549 ด้วยการผสานทั้งจินตนาการและความรู้วิทยาศาสตร์ถ่ายทอดเป็นตัวอักษรบนหนังสือหนากว่า 200 หน้า
ในด้านความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น ภาณุ หรือ “ปลาทู” ได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยการเป็นผู้แทนโอลิมปิกวิชาการ สาขาฟิสิกส์ถึง 3 ปีซ้อน จากนั้นสอบทุนเล่าเรียนหลวงสายวิทยาศาสตร์ได้อันดับ 1 ไปเรียนต่อฟิสิกส์ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology: Caltech) และเรียนจบด้วยเกียรตินิยม ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอกที่ยูซีแอลเอ โดยอีกเพียง 3 ปีเขาก็จะสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นนักวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา
อย่างไรก็ตามกว่าที่จะตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านอุตุนิยมวิทยาได้นั้น ปลาทูมีความสับสนพอสมควร เนื่องจากอีกใจหนึ่งอยากจะเรียนต่อฟิสิกส์ แต่ช่วงที่สมัครเรียนปริญญาโทนั้น เขาได้กลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทยช่วงปีใหม่ และได้ฟังพระราชดำรัสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลที่จะเรียนอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากในหลวงตรัสว่าวิชานี้จะเป็นที่ต้องการในอนาคต เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยสำคัญในการเกษตร
เมื่อได้เรียนและทำวิจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยาก็ทำให้ปลาทูเกิดติดใจ เพราะบรรยากาศภายในภาควิชาค่อนข้างดีกว่าในภาควิชาฟิสิกส์ ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นว่าอาจเป็นเพราะคนที่ทำงานทางด้านอุตุนิยมวิทยานั้นได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติจึงมีความใจเย็นกว่า และไม่ต้องมีการแข่งขันมากเหมือนในภาควิชาฟิสิกส์ซึ่งมีรางวัลใหญ่อย่างรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ อีกทั้งเขายังชอบการเอาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
“อุตุนิยมวิทยาคือการมองสิ่งต่างๆ รอบตัว แล้วก็หาสมการวิเคราะห์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้น ผมชอบมองดูก้อนเมฆ มองท้องฟ้าแล้วสวยดี แต่ในเบื้องหลังของความสวยงามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างบังเอิญ แต่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดความสวย มีภูเขา มีต้นไม้ มีกระแสลม ที่สลักก้อนเมฆให้ออกมาสวย อย่ามองแค่เมฆเป็นเมฆ กว่าจะเป็นเมฆต้องมีหยดน้ำมารวมตัว กว่าจะเป็นหยดน้ำก็มีสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งสวยงามมักจะมีหลักการอยู่เบื้องหลังเสมอ ภาพวาดที่สวยงาม จิตรกรก็มีหลักการว่าจะวาดอย่างไรให้สวย การเขียนหนังสือก็มีหลักการที่ใส่ลงไปให้หนังสืออ่านสนุก ไม่ใช่แค่เขียนๆ แล้วจะดี ผมจึงรักที่จะวิเคราะห์ความสวย” ปลาทูกล่าว
ในความสนใจด้านงานเขียนนั้น ปลาทูเริ่มเขียนหนังสือแบบไม่จริงจังอะไรนักในช่วง ม.ปลาย แต่เมื่อได้อ่านรวมเรื่องสั้น “ซอยเดียวกัน” ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจที่อักษรบนกระดาษสามารถมีอิทธิพลต่อความคิดเราได้ ทำให้ผู้อ่านทั้งหัวเราะ ตื่นเต้นและร้องไห้ได้ เขาจึงอยากเขียนหนังสือให้ได้อย่างนั้นบ้าง อีกทั้งเขายังมีโอกาสได้พบกับ ชาติ กอบจิตติ และวาณิชนักเขียนผู้สร้างแรงบันดาลให้กับเขา ซึ่งการได้พบกับนักเขียนทั้ง 2 คน ทำให้ปลาทูได้ข้อคิดว่าการจะเป็นนักเขียนได้นั้นต้องอ่านให้มาก
สำหรับ “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” ผลงานล่าสุดของนักเขียนหน้าใหม่คนนี้ เป็นงานเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนซึ่งมีลักษณะนิสัยที่แบ่งออกเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ซึ่งเขาเปรียบเทียบว่าอารมณ์คนก็เหมือนสภาพอากาศ และในตอนท้ายของหนังสือยังจบลงที่การรายงานสภาพอากาศ ซึ่งเขาได้แนวคิดมาจากเพื่อนซึ่งวิจารณ์ต้นฉบับของเขาว่าจบแบบมีความสุขเกินไป และแนะว่าน่าจะจบแบบที่ไม่สามารถจับอารมณ์ได้ชัดเจน เขาจึงเลือกที่จะไม่เขียนตอนจบของหนังสืออย่างสุขสันต์ แต่ให้จบอย่างมีความหวัง
“คนเราต่างอยากมีความสุข ซึ่งก็ทำให้เราแอบเห็นแก่ตัวอย่างละนิดละหน่อย แต่ก็บาด (ทำร้าย) คนอื่นโดยไม่รู้ตัว” บางข้อสังเกตที่ปลาทูเห็นจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และเขายังกล่าวว่าบางครั้งคนดีๆ ก็อยู่ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งตัวเอกในนวนิยาย 2 คนมีความไม่เข้าใจกันแต่ไม่ยอมหันหน้าเข้าคุยกัน ทำให้หลายคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้รู้สึกอึดอัด แต่ปลาทูกล่าวว่าเป็นความตั้งใจของเขาที่ต้องการจะสื่อว่า ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งการเมือง ศาสนา หรือปัญหาสังคมอื่นๆ ก็ชักชวนให้เราตะโกนออกมาว่า “ทำไมไม่หันหน้าเข้าคุยกันซักที” ทั้งที่แค่หันมาคุยกันทุกอย่างก็จะคลี่คลาย แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำอย่างนั้น
ส่วนงานเขียนชิ้นแรกคือเรื่องสั้น “เมื่อตัวตลกหัวเราะ” ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “วรรณกรรมตกสระ” อันเป็นผลงานที่ทำให้ปลาทูได้รับรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทยประจำปี 2547 (Young Thai Artist Award 2004) และเขายังมีงานแปลเรื่อง “เคหาสน์แมงป่อง” (The House of the Scorpion) ของแนนซี ฟาร์เมอร์ (Nancy Farmer) นักเขียนชาวอเมริกัน ที่ได้รับรางวัลระดับชาติสหรัฐหลายรางวัล
“ผมเป็นลูกแม่ที่พ่อเลี้ยง” ปลาทูนิยามตัวเองในฐานะลูกคนเดียวที่ได้รับอิทธิพลด้านวิทยาศาสตร์จากพ่อซึ่งเป็นศัลยแพทย์ แต่เขามีใจที่รักศิลปะเช่นเดียวกับแม่ซึ่งเป็นบัณฑิตอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลาทูจึงกล่าวถึงตัวเองว่าเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และศิลปิน และโชคดีที่ทั้งพ่อและแม่รักการอ่าน จึงทำให้เขารักการอ่านด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เขายังมีการอดิเรกเป็นการเป่าแซกโซโฟนและเต้นลีลาศ ซึ่งเป็นกิจกรรมศิลปะที่เขาชื่นชอบ อีกทั้งเขายังมีโอกาสได้กำกับละครที่มหาวิทยาลัยอีกด้วย
ปลาทูให้ความเห็นถึงข้อดีของวิทยาศาสตร์และศิลปะว่า วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ชัดเจน ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด เมื่อมีคนเห็นว่าถูกก็สามารถพิสูจน์ว่าถูกตรงกัน ส่วนศิลปะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และคนเราไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน ทำให้เกิดความหลากหลาย เมื่อเราเห็นว่าดีคนอื่นอาจจะไม่คิดเหมือนกัน ส่วนข้อดีของการได้อยู่ท่ามกลาง 2 ศาสตร์คือเมื่อเราเบื่อสิ่งที่ต้องเกี่ยวกับกับอารมณ์เราก็หันเข้าไปหาวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าเราเบื่อความแข็งกร้าวของวิทยาศาสตร์เราก็หันเข้าไปศิลปะที่มีความอ่อนโยนได้
สำหรับอนาคตปลาทูกล่าวว่าหลังจากเรียนจบปริญญาเอกแล้ว เขาจะหาประสบการณ์ที่ต่างแดนก่อน 2 ปีแล้วจะกลับมาทำงานที่เมืองไทย ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นต่อวงการวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยว่าแม้ปัจจุบันจะไม่โดดเด่นนัก แต่อนาคตหากมีรัฐบาลดีที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ ก็อาจจะทำให้วงการนี้ดีขึ้นได้