xs
xsm
sm
md
lg

2 วิศวกรพัฒนาการใช้พลังงานรับตำแหน่ง "นักวิทย์ดีเด่น" ปี 49

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม และ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ
2 วิศวกรรับตำแหน่งวิทยาศาสตร์ดีเด่นจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ "ดร.ปิยะสาร" จากรั้วจามจุรีเผยวิธีประหยัดพลังงานต้องเลิกใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นความร้อนให้หันมาใช้แก๊สแทน ด้าน “ดร.สมชาย” จากบางมดศึกษาการเพิ่มความสามารถในการถ่ายเทความร้อน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแอร์

วันนี้ (2 ส.ค.) มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดแถลงข่าว “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2549” ณ โรงแรมสยามซิตี้ โดย ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประกาศรายชื่อผู้ได้รับตำแหน่ง 2 คนคือ ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.สมชาย วงษ์วิเศษ อาจารย์ภาควิชาวิศกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ศ.ดร.ยอดหทัย กล่าวว่า ศ.ดร.ปิยะสารได้รับรางวัลจากการศึกษาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของสารที่ต้องการ และลดการสูญเสียสารตั้งต้นโดยใช้ตัวเร่งที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วน ศ.ดร.สมชายทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน โดยเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน

“เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินมีแค่ 2 อย่างคือ เก่งและดี เก่งนั้นหมายความว่าจะต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนดีคือต้องมีจริยธรรม ทั้งนี้ได้คัดเลือกจากรายชื่อที่ผู้ทรงคุณวุฒิเสนอมาปีนี้ 90 คนให้เหลือ 32 คน และนำมาพิจารณาร่วมกับผู้ที่เหมาะสมปีที่ผ่านมาอีก 12 คน สิ่งที่ยากคือการเปรียบเทียบความสามารถของคนที่มาจากหลายสาขาแตกต่างกัน ซึ่งประเทศไทยมีผู้ทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานเพิ่มมากขึ้น นับเป็นนิมิตหมายที่ดี” ศ.ดร.ยอดหทัยกล่าว

ทางด้าน ศ.ดร.ปิยะสารก็ได้เล่าถึงการทำงานด้านตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำต่อเนื่องมากว่า 20 ปี แต่ที่เขาดีใจที่สุดคือนักวิจัยในทีมได้รับตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2549 นี้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั่นคือการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้มาทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ในส่วนงาวิจัยของเขาเองนั้นจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสากรรมตัวเร่งปฏิกิริยาและงานอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ ศ.ดร.ปิยะสารยังได้เสนอว่าการใช้พลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี และรัฐบาลก็รณรงค์ให้ประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ จึงได้คิดวิธีในการอนุรักษ์พลังงานซึ่งอาศัยการอนุรักษ์พลังงานจากกฏของเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งสิ่งสำคัญคือการเลือกใช้พลังงานเหมาะสม โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้สารบริสุทธิ์ที่ผ่านกระบวนการมาเป็นเชื้อเพลิง เช่น การใช้เอทานอล 100 เปอร์เซ็นต์กับเครื่องยนต์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ขณะที่การใช้ไฟฟ้าเพื่อเปลี่ยนไปเป็นความร้อนก็เป็นวิธีการใช้พลังงานที่ไม่ประหยัด

การเลือกใช้พลังงานที่เหมาะสมจะทำให้การใช้พลังงานของประเทศยั่งยืน แต่ปกติเราใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นความร้อน เช่น กาต้มน้ำร้อน เตารีด เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ควรหันมาใช้แก๊สแทน หลอดไฟฟ้าก็เช่นกันควรเปลี่ยนเป็นหลอด “แอลอีดี” จะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า” ศ.ดร.ปิยะสาร

ทางด้าน ศ.ดร.สมชาย กล่าวถึงงานวิจัยที่ทำว่าเป็นการศึกษาการเพิ่มความสามารถในการถ่ายเทความร้อน ซึ่งสาเหตุที่หันมาสนใจเรื่องนี้เพราะเห็นว่าประเทศไทยเป็นแค่ฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศให้กับบริษัทใหญ่ หากค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าก็จะให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยต้องเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น ทั้งนี้ได้ศึกษาการทำงานองค์ประกอบของเครื่องทำความเย็นอย่างละเอียดเพื่อพัฒนาให้อุปกรณ์มีสมรรถนะสูงขึ้น

สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ.2549 คือ 1.ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็น 1 ในทีมวิจัยของ ศ.ดร.ปิยะสาร โดยทำงานเกี่ยวกับการศึกษาสมบัติทางกายภาพและเคมีของตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีโลหะเป็นองค์ประกอบหลัก 2.รศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ จากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาพยาธิวิทยาของเนื้องอกและมะเร็งชนิดที่เกิดกับระบบประสาท โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคทางพยาธิวิทยาของผู้ป่วย

3.ผศ.ดร.พวงรัตน์ ไพเราะ จากสาขาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับตัวนำยิ่งยวดหรือซูเปอร์คอนดักเตอร์ โดยหวังว่านำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ 4.นพ.วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาเรื่อง “โปรตีโอมิกส์” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดจากความสำเร็จในการทำจีโนมมนุษย์ และจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วยิ่งขึ้น 5.ผศ.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานวิจัยเคมีที่เน้นทางด้านวัสดุศาสตร์ โดยใช้เทคนิค “โซลโวเทอร์มอล” (Solvothermal technique) ในการเตรียมสาร ซึ่งเป็นเทคนิคที่เลียนแบบการเย็นตัวของของเหลวใต้เปลือกโลกที่เกิดขึ้นที่อุณหภูมิและความดันไม่รุนแรง

ทางด้าน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวถึงการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ว่าจะให้กับนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอายุไม่เกิน 35 ปี โดยจะคัดเลือกจากการมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับในสากลไม่น้อยกว่า 3 เรื่อง ทั้งนี้จะคัดเลือกจากการรับสมัครและคัดเลือกของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการมอบรางวัลดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณแก่เยาวชนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ให้เห็นว่าสังคมไทยก็ส่งเสริมผู้อุทิศตัวให้กับวงการวิทยาศาสตร์

สำหรับการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นนั้นได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2525 เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยด้วยการพัฒนากำลังคในวงการวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ได้เริ่มต้นมอบตั้งแต่ พ.ศ.2534 ให้กับนักวิทยาศาสตร์ที่อายุไม่เกิน 35 ปี และมีความสามารถในการวิจัย
(ซ้ายไปขวา) ศ.ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม ศ.ดร.ยอดหทัย เทพรานนท์ และ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ
รศ.นพ.ชนพ ช่วงโชติ, ผศ.ดร.พวงรัตน์ ไพเราะ, ผศ.ดร.จูงใจ ปั้นประณต , ยงยุทธ ยุทะวงศ์ , ผส.ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ และ นพ.วิศิษฏ์ ทองบุญเกิด
กำลังโหลดความคิดเห็น