เมื่องานแสดงสินค้าสิ้นสุด ภาพ Guernica ถูกนำไปแสดงต่อในยุโรป และอเมริกาเหนือ-ใต้ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและระวังภัยนาซีกับฟาสซิสต์ เช่น ถูกนำไปแสดงที่ Munich และ Cologne ในเยอรมันที่ Stockholm ในสวีเดน ที่ Sao Paolo ในบราซิล และตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี 2524 ภาพที่ได้อยู่ประจำที่ Museum of Modern Art ที่ New York ตลอดเวลาโดยไม่หวนกลับไปเยือนสเปนอีกเลย ทั้งๆ ที่ Picasso ได้ตั้งใจให้ภาพนี้เป็นสมบัติของชาวสเปน เพราะ Picasso ได้ตั้งเงื่อนไขว่า Guernica จะไม่กลับบ้าน จนกระทั่งสเปนเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ชนิดที่ไร้อำนาจเผด็จการใดๆ
หลังจากที่ Picasso ตายในปี 2516 และนายพล Franco เสียชีวิตในปี 2518 สเปนก็เริ่มคืนสภาพสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นๆ
จนถึงปี 2524 ซึ่งเป็นปีที่ 100 แห่งชาตกาลของ Picasso รัฐบาลของสเปนได้คิดว่าวิธีที่จะระลึกถึง Picasso อย่างดีที่สุด คือ การนำ Guernica คืนสู่สเปน เพราะภาพนี้จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีการสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น และรัฐบาลอเมริกันก็ได้มอบ Guernica คืนสเปน เพื่อให้ไปติดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Reina Sofia ในกรุง Madrid เพราะผลงานชิ้นนี้ยิ่งใหญ่ จนทำให้ Picasso ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถระดับพอๆ กับ Velaquez, Goya และ El Greco
ในการดูภาพ Guernica ให้เข้าใจและซาบซึ้งในความหมาย เราต้องรู้ว่า Picasso วาดภาพนี้โดยมีจุดประสงค์หลายประการ โดย Picasso คิดว่า ใครก็ตามที่ดูภาพ ทุกคนมีสิทธิ์คิด และนึกถึงความหมายของสิ่งที่เห็นด้วยตนเอง จิตรกรคนวาดไม่มีหน้าที่อธิบายความหมายของภาพที่วาดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าทำเช่นนั้น โลกก็ไม่จำเป็นต้องมีจิตรกรและถึงความคิดในรายละเอียดของภาพนี้ จะมีต่างๆ นานา แต่จุดมุ่งหมายหลักของ Guernica คือ ต้องการแสดงให้ทุกคนเห็นว่า จากความคิดเดิมๆ ที่ว่า สงครามคือเวทีแสดงความกล้าหาญ และความเป็นวีรบุรุษ (วีรสตรี) แต่ในความเป็นจริง สงครามแสดงให้เห็นความป่าเถื่อน และการทำลายล้างมากกว่า
ในการพินิจพิเคราะห์ Guernica เราจะเห็นสไตล์การวาดว่ามีทั้งแบบ cubism และ surrealism โดย Picasso ใช้สีขาว ดำ และเทาเป็นสีหลัก ในภาพเราจะเห็นวัวกระทิง ม้า ผู้หญิง เด็ก และอนุสาวรีย์ ซึ่งถูกตัดแยกออกเป็นชิ้นส่วน โดยให้มีช่องว่างระหว่างชิ้น ผู้หญิงที่อยู่ทางขวาของภาพชูมือทั้งสองข้างขึ้น ศีรษะหงาย กำลังส่งเสียงหวีดร้อง และกำลังวิ่งหนีจากตึกที่กำลังถูกไฟไหม้ (Picasso ใช้ภาพสามเหลี่ยมแฉก แสดงไฟที่กำลังลุกไหม้) ถัดมาเป็นภาพของศีรษะสตรีที่มีแขนชูตะเกียง เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมือง เหนือตะเกียงเป็นภาพ "ตา" ของพระเจ้าที่มีหลอดไฟทำให้เห็นเหตุการณ์ รังสี แสงที่ออกจากตาอาจจะเป็นแสงแดด หรือแสงจากหลอดไฟก็ได้ ต่ำลงมาจากผู้หญิงคนที่สองเป็นภาพของผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่กำลังเดินอย่างรีบเร่ง และมีสีหน้าตื่นตระหนกด้วยความกลัว และทางข้างซ้ายของผู้หญิงเป็นภาพของม้าที่บาดเจ็บ ลำคอบิด และปากอ้ากว้างบอกอาการบาดเจ็บด้วยการส่งเสียงร้องอย่างเจ็บปวด โดย Picasso ได้วาดม้าให้เป็นสัญลักษณ์ของทหาร ส่วนวัวกระทิง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของสเปนแต่มีดวงตาเหมือนตาคน ก็กำลังอ้าปากและมีลิ้นโผล่ด้วยความตกใจ เมื่อได้เห็นการสังหารผลาญชีวิตผู้คน ผู้หญิงที่อยู่ทางซ้ายของภาพกำลังหวีดร้องโดยการอ้าปากกว้าง และกำลังอุ้มลูกน้อยที่เสียชีวิตแล้ว บริเวณส่วนล่างของภาพแสดงภาพของรูปปั้นทหารที่มือข้างหนึ่งยืดตรง และอีกข้างหนึ่งถือดาบหัก โดยรูปปั้นถูกทำลายจนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ในภาพเราไม่เห็นเครื่องบินทิ้งระเบิด ลักษณะการจัดภาพที่มีสัตว์กำลังส่งเสียงร้อง แสดงให้เห็นว่า สงครามทำให้ทั้งทหารและพลเรือนเป็นเหยื่อ ภาพแสดงความโกลาหล ความว้าวุ่น เวลาลูกระเบิดลง การหนีเอาชีวิตรอด ความเจ็บปวด ยามสิ่งที่รักถูกฆ่า และความทารุณยามถูกฆ่า Guernica จึงสรุปว่า เมื่อเกิดสงคราม ทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตจะถูกทำลายโดยไม่ยกเว้น
ภาพนี้จึงเป็นจิตรกรรมยุคใหม่ที่ใช้แสดงความรู้สึกต่อต้านสงคราม และต่อต้านการเมืองที่ใช้กำลังแก้ปัญหา จนทำให้โลกยอมรับว่า จิตรกรรมสามารถนำมาใช้ปลุกความรู้สึกชั่วดี ความรับผิดชอบ และการต่อต้านการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมได้
ตำนานเล่าว่า เมื่อนายทหารนาซีคนหนึ่ง ขณะยืนอยู่หน้าภาพ Guernica ได้เอ่ยถาม Picasso ว่า "Did you do that?" และ Picasso ก็ได้ตอบว่า "No", "you did"
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้ กษัตริย์ Juan Carlos และพระราชินี Sofia แห่งสเปน ได้เสด็จเปิดงานแสดง ชื่อ "Picasso : Tradition and Vanguard" ซึ่งพิพิธภัณฑ์ Prado ได้จัดร่วมกับพิพิธภัณฑ์ Reina Sofia โดยการนำภาพของ Picasso กว่า 100 ภาพออกแสดงร่วมกับภาพวาดของ Diego Velaquez และ Francisco de Goya ผู้เป็นจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ของสเปนและของโลก เพราะปีนี้เป็นปีครบ 25 ปี แห่งการนำ Guernica กลับสเปน และงานนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบ 125 ปี แห่งชาตกาลของ Picasso ด้วย
ตามปกติ Prado จะจัดแสดงภาพวาดในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังนั้น การนำภาพของ Picasso ซึ่งเป็นจิตรกรในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 ออกแสดงประชันกับภาพของ Velaquez จึงเป็นการพบกันระหว่างรุ่นเฮฟวี่ที่น่าชมมาก ส่วน Reena Sofia นั้นก็เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งมี Guernica เป็นภาพที่สำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์ ก็ได้นำภาพ The Shooting of May 3 rd ของ Goya ออกวางประกบด้วย
งานนี้ จะมีแสดงจนถึงวันที่ 3 กันยายน ปีนี้โดยผู้จัดมีจุดมุ่งหมายลึกๆ คือ ต้องการจะบอกว่า Picasso เป็นจิตรกรสเปนที่อพยพไปทำงานในฝรั่งเศส และถึงแม้จะอยู่แดนไกล จิตรกรคนนี้ก็มีวิญญาณและวัฒนธรรมการทำงานที่แสดงว่าเป็นคนสเปน มิใช่คนฝรั่งเศสดังที่หลายคนคิด
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท