ปฏิวัติรูปแบบการเก็บข้อมูลชีวภาพสิ่งมีชีวิตในผืนป่า จากบันทึกลงกระดาษเปลี่ยนเป็นระบบไอที เพื่อง่ายต่อการสืบค้น ผนึกข้อมูลจีไอเอส ภาพถ่ายดาวทียมและจีพีเอส สร้างฐานข้อมูลจีไอเอสของผืนป่า อีกหนึ่งเส้นทางอาชีพของบัณฑิต “ภูมิศาสตร์” ต้นแบบศึกษาที่ “ฮาลา-บาลา” ป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ในนราธิวาส
ช่วงนี้บรรยากาศใน “มหกรรมอุดมศึกษา2006” (University 2006) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 27-30 ก.ค.49 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดูจะคึกคักไปด้วยน้องๆ วัยมัธยมศึกษา เรียกได้ว่างานนี้สถาบันไหนมีอะไรเด็ด ก็เอามาเรียกความสนใจว่าที่น้องใหม่กันเต็มพิกัด นอกจากข้อมูลสถานศึกษาและผลงานที่น่าตื่นเต้นของศิษย์แต่ละสถาบันแล้ว ที่โซน “นวัตกรรมชีวภาพ” (BioInnovation) ก็มีข้อมูลที่อาจจะเป็นแนวทางในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ได้ และการประยุกต์ใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์เพื่องานด้านชีวภาพก็เป็นอีกเส้นทางอาชีพที่น่าสนใจ
นายพูนศักดิ์ ไม้โภคทรัพย์ ผู้ช่วยนักวิจัย ของห้องนิเวศวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) กล่าวว่าทางไบโอเทคมี “โครงการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพป่าบาลา” ซึ่งเป็นการสำรวจผืนป่าฮาลา-บาลา ใน จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย เพื่อจัดเก็บข้อมูลสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยจะรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในระบบสารสนเทศ ซึ่งจะช่วยให้การค้นหาข้อมูลง่ายและสะดวกขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์และพันธุ์สัตว์ รวมทั้งภาพถ่ายต่างๆ ในรูปของเอกสารที่เป็นกระดาษทำให้ค้นหาลำบาก และบางครั้งก็สูญหาย
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างไบโอเทคและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชพันธุ์ และไบโอเทคได้เสนอใช้การจัดเก็บข้อมูลในลักษณะเดียวกันนี้กับอุทยานแห่งชาติอื่นๆ นอกจากป่าฮาลา-บาลาที่เป็นต้นแบบ ซึ่งจะช่วยรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบ โดยจะแบ่งเป็นข้อมูลทางกายภาพ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ เช่น ทางลาดชัน ลักษณะดินของผืนป่า ลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นต้น และข้อมูลชีวภาพ เช่น ทรัพยากรที่พบในผืนป่า ชนิดสัตว์ป่าที่พบ พันธุ์พืชชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นต้องอาศัยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ “จีไอเอส”, ภาพถ่ายดาวเทียม และระบบจีพีเอส (GPS) เพื่อใช้ในการสร้างฐานข้อมูล
สำหรับสิ่งที่ได้จากการทำโครงการคือ 1.ฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งใช้จีไอเอสเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ทราบลักษณะทางกายภาพของผืนป่าในรูปแบบคล้ายๆ แผนที่ เช่น เส้นทางสำรวจป่า อาณาเขตของความหลากหลาย และบริเวณที่มีการค้นพบนกเงือก เป็นต้น 2.ฐานข้อมูลเชิงบรรยาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจความหลากหลายสามารถเพิ่มเติมข้อมูลของสิ่งมีชีวิตที่พบได้
“จีไอเอสช่วยในการวิเคราะห์ สร้างแบบจำลอง และช่วยในการสำรวจพื้นที่สัตว์ป่าและค้นหาพื้นที่ของสัตว์ป่าที่ต้องการศึกษาได้ เช่น ทราบว่าสัตว์ชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ลาดชัน ชอบกินอาหารประเภทนี้ ก็นำข้อมูลดังกล่าวมาค้นว่าอยู่ในส่วนไหนของป่า นอกจากนี้เรากำลังเสนอโครงการศึกษาระบบนิเวศ โครงการประเมินผลกระทบพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อเตรียมป้องกัน ซึ่งในผืนป่าแห่งนี้เราก็พบว่ามีโคลนถล่มเช่นเดียวกับที่เกิดในภาคเหนือ แต่เนื่องจากไม่มีคนอาศัย จึงไม่เป็นข่าว” นายพูนศักดิ์กล่าว
พร้อมกันนี้นายพูนศักดิ์ได้กล่าวถึงการทำงานในจังหวัดซึ่งมีเหตุการณ์ไม่สงบว่า สำหรับการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลสารสนเทศที่เขาทำอยู่นั้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเมื่อเข้าไปยังพื้นที่ป่าแล้วก็จะปลอดภัย อีกทั้งมีคนในชุมชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ซึ่งทำงานในพื้นที่และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จะเป็นผู้นำทาง โดยการเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จะทำทุกๆ 2-3 เดือน
นายพูนศักดิ์กล่าวต่อไปว่าโครงการจัดทำระบบภูมิสารสนเทศของความหลากหลายทางชีวภาพนี้ต้องอาศัยความรู้ทางภูมิศาสตร์และความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) แต่ในส่วนของข้อมูลทางชีวภาพนั้นได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สำหรับคนที่จะมาทำงานทางด้านภูมิสารสนเทศจึงต้องมีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งในเมืองไทยมีหลายสถาบันที่เปิดสอนทางด้านนี้ นอกจากนี้เขาได้ให้ความเห็นว่าปัจจุบันนี้งานทางด้านภูมิสารสนเทศยังไม่กว้างขวางนัก แต่ต่อไปอนาคตข้อมูลภูมิสารสนเทศจะมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการมากขึ้น