มูลนิธิสาธารณสุขฯ จับมือนิตยสารไบโอสโคป และไบโอเทค ประกวดหนังสั้นแอนิเมชั่นในหัวข้อ “ชีวจริยธรรม” หวังกระตุ้นให้สังคมรับรู้และเข้าใจเรื่องชีวจริยธรรมมากขึ้น ระบุเพื่อให้ตามทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ฝ่ายผู้จัดงานชี้ชีวจริยธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สังคมต้องรับรู้ ป้องกันตัวก่อนถูกละเมิดสิทธิ ชูสโลแกน "ชีวิตที่ผิดเพี้ยนมาจากการบิดเบี้ยวของจิตใจ" ย้ำมนุษย์เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ต้องไม่ถูกเทคโนโลยีนำหน้า
วันนี้ (27 ก.ค.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับนิตยสารภาพยนตร์ไบโอสโคป (Bioscope), โรงภาพยนตร์ อีจีวี, ฟลิป คาเฟ่ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดการแถลงข่าวโครงการประกวดภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นในหัวข้อ “ชีวจริยธรรม” ขึ้น โดยมี นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นประธานการจัดงานประกวด ณ โรงภาพยนตร์โกลด์ คลาส แกรนด์อีจีวี ชั้น 6 สยามดิสคัฟเวอรี่
สำหรับการจัดการประกวดภาพยนตร์แอนิเมชั่นในครั้งนี้ กองบรรณาธิการนิตยสารภาพยนตร์ไบโอสโคป ในฐานะแม่งานสำคัญได้ตั้งสโลแกนไว้คือ “ชีวิตที่ผิดเพี้ยนมาจากการบิดเบี้ยวของจิตใจ” โดยหวังว่าจะเป็นการให้คำจำกัดความของคำว่าชีวจริยธรรมได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนทั่วไปสามารถอ่านทำความเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตและเทคโนโลยีมาก โดยมีมนุษย์เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ซึ่งหากมนุษย์มีจริยธรรมในเรื่องดังกล่าวแล้วก็จะทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม มิฉะนั้นแล้วเทคโนโลยีจะเดินนำหน้ามนุษย์
ทั้งนี้ นพ.ประเสริฐ ประธานการจัดงานประกวด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า ต้องการให้สังคมได้ตระหนักว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะเรื่องชีวจริยธรรมที่คนยังอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วนนัก เช่น เมื่อเราจะทำประกันชีวิต ทางบริษัทก็จะขอนำตัวอย่างน้ำลายและเลือดของลูกค้าไปตรวจโดยอ้างว่าจะตรวจหาเชื้อเอชไอวีหรือเชื้อไวรัสตับอักเสบ ทว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ทำให้บริษัทเหล่านั้นสามารถทราบได้ถึงรหัสพันธุกรรมของลูกค้าและครอบครัวของลูกค้าได้เช่นกัน จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไปได้ อาทิ การคิดค่าประกันความเสี่ยงในการทำประกันชีวิตที่สูงขึ้น รวมถึงการสูญเสียสิทธิความเป็นส่วนตัวของเรา นอกจากนั้นแล้ว หากข้อมูลดังกล่าวถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลดิจิตอลก็ยังจะมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลไปยังที่ต่างๆ ได้โดยง่ายอีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเรื่องที่กล่าวมาอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่สังคมไทยก็ควรที่จะมีกฎหมายหรือหลักจริยธรรมในเรื่องดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจนขึ้น ขณะที่ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ศักดิ์สิทธิ์นัก ประชาชนจึงยิ่งต้องมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวเพื่อการปกป้องตัวเอง ส่วนในระยะต่อไปเมื่อประชาชนเข้าใจเรื่องชีวจริยธรรมมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะทำให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมคิดและร่วมตัดสินใจกับนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นในการทำงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น การโคลนนิ่งและการทำสเต็มเซลล์ ว่าเรื่องใดควรทำหรือไม่ควรทำ หลีกเลี่ยงต่อการที่นักวิจัยจะใช้ความคิดตัวเองตัดสินแบบเข้าข้างตัวเองในการทำวิจัย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เองก็ต้องการที่จะรับฟังความคิดเห็นจากสังคมอยู่แล้ว และเชื่อเช่นกันว่าเมื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางการวิจัยต่างๆ ก็จะไม่มีการคัดค้านแบบตะพึดตะพือแต่อย่างใด เพราะต่างก็หวังที่จะให้เกิดประโยชน์แก่สังคมทั้งสิ้น
ขณะที่ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิจัยจากไบโอเทค กล่าวถึงความสำคัญของการเผยแพร่ชีวจริยธรรมสู่สังคมไทยว่า ปัจจุบันการให้คำจำกัดความของคำว่าชีวจริยธรรมในสังคมไทยยังไม่มีความหมายที่ชัดเจนนัก หากเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ.2542 ดูก็จะไม่พบคำจำกัดความที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่จะพบเป็นคำ 2 คำที่แยกจากกันคือ ชีวะ และจริยธรรม ซึ่งแม้ว่าจะนำความหมายของทั้ง 2 คำมารวมกันแล้วก็ยังจะไม่ได้ความหมายของคำว่า ชีวจริยธรรมที่ชัดเจนอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม เรื่องชีวจริยธรรมกลับเป็นเรื่องที่มีความใกล้ตัวกับเรามาก โดยมีคำถามในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับชีวจริยธรรมเกิดขึ้นมากมาย อาทิ เราเป็นเจ้าของชีวิตเราเองหรือไม่ หากเราเป็นของชีวิตตัวเองแล้ว เราจะสามารถขอคำแนะนำการใช้ยาที่มีพิษจากแพทย์เพื่อมาทำร้ายตัวเองได้หรือไม่, แพทย์สมควรบอกความจริงแก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงตามจริงหรือไม่, แพทย์สามารถฉีดยาให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเมื่อพบว่าเขาเป็นโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายและทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานได้หรือไม่, ในสังคมไทยเราสามารถขายเลือด เนื้อ ไขกระดูก หรืออวัยวะของมนุษย์ระหว่างกันได้หรือไม่, ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า บริษัทประกันชีวิตต่างๆ มีสิทธิที่จะล่วงรู้รหัสพันธุกรรมของลูกค้าจากตัวอย่างน้ำลายหรือไม่ รวมทั้งกรณีของ ดร.หวาง วู-ซุก นักวิจัยไบโอเทคชาวเกาหลีที่ก่อคดีลวงโลกในงานวิจัยการโคลนนิ่งและสเต็มเซลล์ หรือแม้แต่กรณีของการทำแท้งบุตรที่หลายประเทศก็ยังมีบทบัญญัติที่แตกต่างกัน
โดยจากตัวอย่างคำถามที่ยกมาเหล่านี้ ดร.นำชัย เห็นว่า จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราต้องร่วมกันเห็นความสำคัญของการเผยแพร่ความรู้เรื่องชีวจริยธรรมแก่สังคมให้รับทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือความสับสนใดๆ ในอนาคตต่อไป
ส่วนเหตุผลของการเลือกใช้สื่อภาพยนตร์แอนิเมชั่นในการเผยแพร่ความรู้ในครั้งนี้ นายสุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการบริหารนิตยสารภาพยนตร์ไบโอสโคป กล่าวว่า เป็นเพราะวิธีการนำเสนอดังกล่าวจะเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงการรับรู้ของผู้ชมได้ในวงกว้างและในทุกๆ วัย อีกทั้งใช้เวลานำเสนอน้อย ขณะเดียวกันก็มีพลังในการสร้างจินตนาการและทัศนคติได้สูง โดยวัยรุ่นอายุ 15-25 ปีจะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถผลิตสื่อชนิดนี้ได้ดี และไม่ทำให้ดูเป็นเรื่องไกลตัวจนเกินไป อย่างไรก็ดี ทางผู้จัดงานก็ไม่ได้คาดหวังที่ให้เป็นการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวจริยธรรมแบบตรงๆ เสียทีเดียว หากแต่ให้เป็นการเล่าเรื่องอย่างกลมกลืนเพื่อกระตุ้นให้สังคมรับรู้และได้คิดมากกว่า
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ของการประกวด ผู้เข้าประกวดจะต้องมีอายุระหว่าง 15-25 ปี สมัครเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มไม่เกิน 4 คน โดยเขียนเรื่องย่อแอนิเมชั่นความยาวไม่เกิน 10 นาที ในหัวข้อ “ชีวจริยธรรม…จงปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม” พร้อมภาพสเกตซ์ตัวละครในเรื่องและวิธีเล่าเรื่องลงบนกระดาษขนาดเอ 4 ไม่เกิน 4 แผ่น รวมทั้งแนบผลงานแอนิเมชั่นที่เคยทำมาก่อนโดยไม่จำกัดรูปแบบและเทคนิคของผลงาน ส่งมาที่นิตยสารภาพยนตร์ไบโอสโคป 410/118 ซ.รัชดาภิเษก ถ.รัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวางกทม.10310 ระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค. หรือสอบถามได้ที่ฝ่ายกิจกรรมไบโอสโคป ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2541-5318-9 ต่อ 11 หรือที่อีเมล activity@bioscopemagazine.com
ทั้งนี้ ทีมงานจัดการประกวดจะคัดเลือกผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 10 ทีม เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับชีวจริยธรรมและอบรมเทคนิคการสร้างสรรค์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ อย่างถ่องแท้ รวมทั้งให้ทุนการสร้างสรรค์ผลงานอีกทีมละ 20,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนในการผลิตผลงานต่อไป โดยจะมีการประกาศผลการตัดสินและเผยแพร่ผลงานที่ได้รางวัลในเดือนธันวาคม ณ โรงภาพยนตร์อีจีวี ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ส่วนผู้ชนะรางวัลความคิดสร้างสรรค์และรางวัลขวัญใจมหาชนจะได้รับเงินรางวัลๆ ละ 10,000 บาท