ก.วิทย์ หารือจัดงานสัปดาห์วิทย์ฯ ระดับภูมิภาคปีหน้าที่หว้ากอ ผู้ว่าฯ ประจวบฯ เผยเตรียมกราบบังคมทูลเชิญในหลวงเสด็จฯ เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 และอุทยานฯ หว้ากออย่างเป็นทางการ หวังต่อยอดใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเยาวชน จัดค่ายวิทย์รูปแบบต่างๆ เตรียมจับมือกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งท้องฟ้าจำลองขนาดกลางงบ 200 ล้าน
วานนี้ (21 ก.ค.) ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษาการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้เดินทางไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ (อวจ.) อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมประชุมกับนายกิตติพงษ์ สุนานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (กศน.) และนายประเสริฐ หอมดี ผอ.อวจ.รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางการขยายการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนภูมิภาคมาที่ อวจ. ในปี 2550
ทั้งนี้ผู้ว่าฯ ประจวบฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา อวจ.ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมแล้ว กว่า 1 ปี ทว่ายังไม่มีพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ด้านหน้าของ อวจ. และยังไม่มีการเปิดตัว อวจ.อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ อวจ.มีความพร้อมแล้วสำหรับการจัดงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศ อาทิ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในระดับภูมิภาค ซึ่งได้มีแผนการจะขยายการจัดงานในระดับภูมิภาคให้ยิ่งใหญ่ขึ้น หากมีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ อวจ.ในปี 2550 ทางจังหวัดก็จะถือโอกาสดังกล่าวกราบบังคมทูลฯ เชิญพระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พร้อมทั้งกราบบังคมทูลฯ เชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อวจ.และงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการด้วย
จากนั้น ดร.ประวิช กล่าวว่า จากแต่เดิมที่การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมักจะจัดอยู่ที่ส่วนกลางเป็นหลัก ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงพยายามสรรหาสถานที่จัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนภูมิภาคด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนจากทั่วประเทศได้เข้าถึงกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น ไม่เฉพาะแต่การจัดงานที่กรุงเทพฯเท่านั้น
สำหรับกิจกรรมสร้างความตระหนักอย่างหนึ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ทำอยู่ในขณะนี้ คือการที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) แม่งานในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติปีนี้ ได้จัดรถนิทรรศการวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ตระเวนจัดนิทรรศการในเขตภูมิภาค โดยอยากให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาซึ่งทำงานในลักษณะที่มีความใกล้เคียงกันได้เข้ามาร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวด้วย และหากมีการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2550 ที่ อวจ.จริง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีความพร้อมทั้งในเรื่องของที่พักและการเดินทาง ซึ่งต่อไปอาจอาศัยข้อดีของพื้นที่ดังกล่าวจัดให้มีชุมนุมค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ในลักษณะเดียวกับการจัดค่ายลูกเสือโลกที่ อวจ.ด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ยังจะได้มีการประสานงานไปยังนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอาคารท้องฟ้าจำลองในพื้นที่ที่ว่างอยู่ของ อวจ.ด้วย ซึ่งในการระดมสมองพบว่าควรจะก่อสร้างเป็นท้องฟ้าจำลองขนาดกลาง เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 12-15 เมตร ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ด้านการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี 2549 ที่จะถึงนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ขยายพื้นที่การจัดงานให้กว้างขวางมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ของศูนย์การแสดงนิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา แทนการจัดงาน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่รองรับปริมาณนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ไม่ได้ทั้งหมด รวมถึงจะขยายระยะเวลาการจัดงานประมาณ 7 วันเป็น 12 วัน คือระหว่างวันที่ 11-22 ส.ค.ที่จะถึงนี้
สำหรับไฮไลท์สำคัญของการจัดงานคือ การระดมกองทัพหุ่นยนต์จัดประเทศญี่ปุ่น, การสาธิตการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ โคลนถล่ม แผ่นดินไหว และอัคคีภัย และการแสดงกระบวนการการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยตัวเอง โดยปีนี้จะมีชาติต่างๆ 7 ชาติ อาทิ จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย ร่วมนำผลงานมาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้แล้ว ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีแนวคิดให้มีการขยายขอบเขตให้ทุกวันที่ 18 ส.ค.ของทุกปี เป็นวัน “วันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ด้วย จากแต่เดิมที่กำหนดให้เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”