สนช.มอบรางวัล “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ปี 2549 ให้แก่นักวิจัยและนักวิชาการ หวังส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรจากผู้ประกอบการ โดยปีนี้เพิ่มเมธีส่งเสริมนวัตกรรมอีก 6 คน หวังเร่งพัฒนานวัตกรรมเชิงรุก มุ่งเป้า 1,000 โครงการใน 5 ปี
วันนี้ (19 ก.ค.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้มอบรางวัล “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ปี 2549 ให้แก่นักวิจัย นักวิชาการ ผู้มีความรู้ความสามารถที่มีผลงานการวิจัยดีเด่น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้สามารถขยายผลสู่การผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ "เมธีส่งเสริมนวัตกรรม" เป็นโครงการที่สร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม หรือด้านเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม โดยมีการประสานงานและสร้างความร่วมมือกับนักวิชาการและนักวิจัย ทั้งจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยภาคเอกชน โดยทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำ พร้อมประเมินศักยภาพทางด้านการตลาด และธุรกิจในกระบวนการพัฒนาโครงการนวัตกรรม เพื่อให้ได้ข้อเสนอโครงการนวัตกรรมที่มีแนวทางด้านเทคโนโลยี การลงทุนและแผนธุรกิจ นำเสนอให้กับ สนช. พิจารณาอนุมัติและสนับสนุนต่อไป
สำหรับผู้ที่ได้รับมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้เป็น “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ปี 2549 ทั้ง 18 คนนั้น เป็นบุคลากรวิจัยและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย รวมถึงนักวิจัยในบริษัทเอกชน โดยแบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาธุรกิจชีวภาพ จำนวน 13 คน สาขาและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 คน และสาขาการออกแบบและตราสินค้า จำนวน 2 คน โดย สาขาธุรกิจชีวภาพ (BIO – BUSINESS) ได้แก่ 1.ศ.ดร. อรอนงค์ นัยวิกุล ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ 2.ผศ. มาลี ซิ้มศรีสกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3.นายวิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล เลขาธิการ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน
4.รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 5.นายสมบัติ วนาอุปถัมภ์กุล ผู้จัดการแผนกวิจัยผลิตภัณฑ์ ส่วนวิจัยและพัฒนาสินค้า บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอราทอรีส์ จำกัด 6.ดร.อุษาวดี ถาวระ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาและนิเวศวิทยา ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับกอง (DIO) สถาบันวิจัยวิทยาศาตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7.รศ.ดร.เพลินพิศ บูชาธรรม คณะวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
8.รศ.ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาภิพาณิชย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล 9.รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 10.รศ.ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11.ดร. รัฐ พิชญางกูร ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 12.ดร.สรวิศ เผ่าทองศุข ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ 13.ดร.วรเทพ มุธุวรรณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา
สาขาและสิ่งแวดล้อม (ENERGY & ENVIRONMENT) ได้แก่ 1.ศ.ดร. จงจิตร์ หิรัญลาภ คณะพลังงานและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.ศ.ดร.สำเริง จักรใจ คณะภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3.ดร. เจิดศักดิ์ ไชยคุนา ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สาขาการออกแบบและตราสินค้า (DESIGN & BRANDING) ได้แก่ 1.รศ.ดร.อิทธิพล แจ้งชัด ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ 2.ผศ.อภิเนตร อูนากูล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ดร.ประวิช รัตนเพียร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า สนช. ได้กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการสร้างหุ้นส่วนและเครือข่ายนวัตกรรม เพื่อดำเนินการพัฒนานวัตกรรมในเชิงรุกเข้าหาตลาด และภาคอุตสาหกรรมโดยการประสานงาน และความร่วมมือกับนักวิชาการและนักวิจัยทั้งจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย เพื่อพัฒนาให้เกิดโครงการนวัตกรรมในภาคเอกชน จึงได้จัดโครงการเชิดชูเกียรติ “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการเริ่มต้นสร้างและพัฒนากำลังคนให้เป็น “นักนวัตกรรม” โดยนำ “เมธี” ซึ่งได้แก่ นักวิชาการหรือนักวิจัย และบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้มีความรู้ ความสามารถ นำประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมาบูรณาการงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้สามารถขยายผลสู่การผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม
ด้าน ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา โครงการเชิดชูเกียรติ “เมธีส่งเสริมนวัตกรรม” ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาโครงการนวัตกรรมที่มากกว่า 20 โครงการ โดยในปีที่สองนี้ สนช. ได้เพิ่มจำนวนเมธีส่งเสริมนวัตกรรมให้มากขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 18 คน เพื่อมุ่งเน้นในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในสาขานวัตกรรมธุรกิจชีวภาพ ซึ่งมีแนวโน้มจะขยายตัวสูงขึ้นทุกปี โดยโครงการฯ นี้จะเป็นการจูงใจให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งได้แก่ อาจารย์ นักวิชาการ หรือนักวิจัย ทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาคเอกชนได้มีโอกาสนำประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมมาบูรณาการงานวิจัย โดยให้คำปรึกษาด้านบริการจัดการความรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาและขยายผลสู่การผลิตจริงในระดับอุตสาหกรรม