Caroline Lucretia Herschel ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนักดาราศาสตร์สตรีคนสำคัญคนหนึ่งของโลก ถือกำเนิดที่เมือง Hanover ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2293 (รัชสมัยสมเด็จพระบรมโกฐ) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของอังกฤษ ในครอบครัวที่มีลูก 10 คน บิดาของเธอชื่อ Isaac Herschel มีอาชีพเป็นนักดนตรี จึงได้สนับสนุนให้บุตรสาวมีพัฒนาการด้านดนตรีด้วยการเล่นไวโอลิน จน Caroline สามารถเข้าร่วมแสดงคอนเสิร์ตได้ เพราะเธอเป็นหญิง ดังนั้น บิดามารดาจึงไม่สนับสนุนให้เธอเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพราะมารดาของ Caroline เป็นแม่บ้านที่ทำงานหนัก ประหยัด และไม่แสดงออกซึ่งความรู้สึกใด ๆ เธอจึงสนิทสนมกับพี่ชายชื่อ William ผู้มีอายุมากกว่าเธอ 12 ปี ส่วนบิดาของ Caroline นั้น ก็ได้กล่าวเตือนว่า การที่เธอมีรูปชั่วเพราะเคยป่วยเป็นฝีดาษ ทำให้ตาขวาพิการ เธอคงหาสามียาก และเธอก็ได้ยอมรับข้อจำกัดด้านนี้ของเธออย่างดุษณีภาพ
เมื่ออายุได้ 17 ปี Caroline ก็กำพร้าพ่อ การไร้พ่อเป็นที่พึ่งและการมีแม่ที่เย็นชา ทำให้ Caroline ต้องวางแผนต่อสู้โลกภายนอกด้วยตนเอง โดยคิดจะเป็นครูสอนไวโอลิน แต่งานลักษณะนี้ไม่มีคนว่าจ้างนาน หรือจะเป็นคนรับจ้างเย็บปักถักร้อย ก็คงช่วยให้เธอเป็นครูสอนเด็กตามบ้านได้ เธอจึงไหว้วานเด็กผู้หญิงพิการคนหนึ่งให้สอนเธอเย็บผ้า เพราะเธอต้องทำงานบ้านให้แม่หนัก เธอจึงต้องเรียนเย็บผ้าตอนเช้ามืดก่อนที่แม่จะตื่น เธอได้เคยขอร้องแม่ให้ส่งเธอไปเรียนหนังสือ แต่แม่ปฏิเสธ แต่เมื่อเธอขอแม่เรียนเย็บผ้า เธอก็ได้รับอนุญาต
ชีวิตของ Caroline เริ่มเปลี่ยนเมื่อพี่ชาย William ได้อพยพไปทำงานที่อังกฤษ และเขียนจดหมายมาชวนเธอมาอยู่เป็นเพื่อน เหตุการณ์นี้ทำให้มารดาของ Caroline ไม่พอใจ เพราะต้องการใช้ Caroline ทำงานบ้าน จนกระทั่ง William บอกว่าจะส่งเงินมาให้แม่จ้างคนใช้ทำงานแทน Caroline แม่จึงปลดปล่อยลูกสาวให้เป็นไท
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2315 Caroline เดินทางไปหาพี่ชายที่อังกฤษ และตลอดเวลา 5 ปี ที่เธอพำนักอยู่ในอังกฤษนั้น เธอได้เพิ่มพูนความสามารถโดยการเรียนภาษาอังกฤษ บัญชี (เพื่อจะได้จัดการธุรกิจการเงินของพี่ชายอย่างมีประสิทธิภาพ) การครัว และการตลาดด้วย ในยามว่างเธอและพี่ชายนั่งสนทนาดาราศาสตร์กัน เพราะสังคมในอังกฤษแตกต่างจากสังคมใน Hanover มาก William จึงสอนน้องสาวให้รู้จักปรับตัว ให้เข้าใจวัฒนธรรมของสตรีอังกฤษ ให้รู้จักเต้นรำ ออกสังคม และวิธีแต่งตัวเพื่อไปดูละคร คอนเสิร์ต และอุปรากร และเมื่อ Caroline ได้รับการว่าจ้างให้เป็นนักร้องในวงดนตรีคอนเสิร์ต เธอก็มีรายได้เพียงพอที่จะดำเนินชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาพี่ชายอีก จนกระทั่งอายุ 27 ปี ชื่อเสียงของเธอในฐานะนักร้องก็โด่งดัง
ในช่วงเวลานั้น William ทำงานค้นคว้าดาราศาสตร์หนักมาก ความรักที่ Caroline มีต่อพี่ชาย ทำให้เธออุทิศตัวทำงานดาราศาสตร์ให้พี่ชายมากกว่างานดนตรีของเธอเอง เพราะในสมัยนั้น กล้องโทรทรรศน์มีราคาแพง และมีประสิทธิภาพไม่สูงมาก ดังนั้น William จึงใช้กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงที่ไม่ดีพอสำหรับความต้องการ จนในที่สุดเขาต้องเลิกใช้ และได้ตัดสินใจสร้างกล้องโทรทรรศน์ใหม่แทน และเมื่อ William ต้องการอุปกรณ์ใดเพิ่มเติม Caroline ก็ช่วยหาหรือทำให้ เช่น ช่วยฝนเลนส์ และขัดกระจกเงาให้ เป็นต้น
และเมื่อเพื่อนของ William ได้เห็นประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ที่สองคนพี่น้องตระกูล Herschel ช่วยกันสร้าง เขารู้สึกประทับใจมาก จึงแนะนำ William ให้สมาชิกของ Royal Society รู้จักและนำ William ไปถวายตัวต่อกษัตริย์ George ที่ 3 ด้วย William จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก จากนั้นความมีชื่อเสียง และเงินทองก็เริ่มไหลมาเทมา จน Caroline กับพี่ชายไม่ต้องร้องเพลง หรือเล่นดนตรี เพื่อหารายได้อีกต่อไป
ในปี พ.ศ. 2324 ความพยายามร่วมด้วยช่วยกันระหว่างสองศรีพี่น้อง ทำให้ William Herschel พบดาวเคราะห์ Uranus เขาจึงเสนอชื่อดาวเคราะห์ดวงใหม่ว่า Georgium Sidus เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้า George แต่ชื่อนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในวงการดาราศาสตร์ เพราะ George เป็นมนุษย์ การนำชื่อคนเดินดินไปตั้งให้ดาวเคราะห์นั้นเป็นเรื่องไม่สมควร ดังนั้น ชื่อของดาวเคราะห์ดวงใหม่จึงเป็นชื่อของ เทพเจ้า Uranus
การได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักดาราศาสตร์แห่งราชสำนัก ทำให้ William มีรายได้ปีละ 200 ปอนด์ และหลังจากนั้นอีก 5 ปี Caroline ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักดาราศาสตร์ผู้ช่วย ซึ่งมีรายได้ปีละ 50 ปอนด์ด้วย การได้รับตำแหน่งสูงเช่นนี้ ทำให้ Caroline เป็นสตรีคนแรกของอังกฤษที่ได้เป็นข้าราชการ และหน้าที่หลักของเธอ คือ ช่วยพี่ชายให้งานดาราศาสตร์ของเขาดำเนินไปด้วยดี และเพื่อให้งานดีเธอจึงศึกษาเรขาคณิตเพิ่มเติม โดยเรียนการใช้ตาราง logarithm และเรียนดาราศาสตร์เบื้องต้นด้วย เพราะเธอคำนวณตำแหน่ง และวิถีโคจรของดาวต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด และถูกต้อง
จุดมุ่งหมายของ William กับ Caroline Herschel คือ ศึกษาการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ในท้องฟ้าทุกชั่วโมง ดังนั้น เวลาใดที่ว่าง Caroline ก็จะใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องกราดไปทั่วท้องฟ้า และในปี พ.ศ. 2326 เธอก็ได้พบ เนบิวลา Andromeda กับ Cetus เป็นคนแรก รวมทั้งได้เห็นเนบิวลาอื่น ๆ อีก 14 เนบิวลาในเวลาต่อมาด้วย ส่วน William ก็ได้ให้เกียรติน้องสาว โดยได้อ้างถึงผลงานของเธอในรายงานการวิจัยของเขาด้วย และได้มอบกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 30 เท่า และมีความยาวโฟกัส 27 นิ้ว แด่น้องด้วย และเธอก็ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์นี้ ค้นหาดาวหางจนได้พบดาวหางดวงใหม่ถึง 8 ดวง ในช่วงปี 2332 - 2340 ผลงานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของ Caroline คือ จัดหมวดหมู่ของเนบิวลาให้เป็นระบบ
ในปี พ.ศ. 2331 เมื่อ Sir William Herschel พี่ชายแต่งงานกับสาวหม้ายที่ร่ำรวยแห่งกรุงลอนดอน Caroline รู้สึกเกรงว่าเธอจะสูญเสียความใกล้ชิดกับพี่ชาย และรู้สึกอึดอัดที่จะต้องอยู่บ้านร่วมกับพี่สะใภ้ชาวอังกฤษ แต่ความกลัวนี้ก็ไม่เป็นจริง เพราะเธอกับพี่สะใภ้เข้ากันได้ดี ครอบครัว Herschel มีกษัตริย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมาเยี่ยมเยือนตลอดเวลา เพื่อดูวงแหวนดาวเสาร์ ดูดาวอังคาร และเทือกเขาบนดวงจันทร์ เป็นต้น และในบางเวลาครอบครัว Herschel ก็ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ที่พระราชวัง Windsor เพื่อสนทนาดาราศาสตร์กับพระองค์
ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2365 William Herschel ได้เสียชีวิตลง เหตุการณ์สูญเสียพี่ชายที่รักทำให้ Caroline รู้สึกเศร้าใจมาก เพราะ William เป็นพี่ที่รักเธอ อีกทั้งเป็นคนดีที่เก่ง และมีเมตตาต่อเธอมาก ดังนั้น เธอจึงไม่เสนอผลงานใด ๆ ที่ตัวเธอมีส่วน เพราะเกรงว่า ชื่อเสียงของพี่ชายจะตกต่ำ และเธอก็รู้สึกดีใจมากที่พี่ชายของเธอได้รับการยอมรับว่าเป็นนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก
เมื่อไม่มีพี่อีกต่อไป เธอตัดสินใจเดินทางกลับ Hanover มรดกที่ได้รับจากพี่ทำให้เธอมีเงินพอเลี้ยงตนเองได้จนตลอดชีวิต ถึงกระนั้นพระเจ้า George ที่ 4 แห่งอังกฤษก็ยังทรงห่วงเธอ ทั้ง ๆ ที่ Hanover ได้หลุดจากการถูกอังกฤษปกครองไปแล้วก็ตาม
Caroline ยังทำงานค้นคว้าดาราศาสตร์ต่อไป จนกระทั่งถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เธอได้เรียบเรียงผลงานของพี่ชายเธอทั้งหมด โดยให้หลานของเธอ ชื่อ Sir John Herschel ช่วยพิมพ์ และความพยายามในครั้งนั้นบรรลุผลในปี 2371 เมื่อ Caroline สามารถจัดระบบเนบิวลาจำนวนร่วม 1,500 เนบิวลา ได้สำเร็จ และผลงานนี้ทำให้ Royal Astronomical Society ของอังกฤษมอบเหรียญทองคำให้เธอในวัย 75 ปี
เมื่ออายุ 85 ปี Caroline ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของ Royal Astronomical Society เธอจึงเป็นสุภาพสตรีคนแรกของสมาคมนี้ และอีกหนึ่งปีต่อมา เธอก็ได้รับเหรียญทองคำจากพระหัตถ์ของกษัตริย์ Prussia ในฐานะนักดาราศาสตร์ดีเด่น
Caroline จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2391 ขณะมีอายุ 97 ปี และเมื่อ 3 ปีก่อนนี้ Michael Hoskin ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ชื่อ The Herschel Perspective : as Viewed by Caroline หนังสือที่หนา 182 หน้านี้ จัดพิมพ์โดย Science History Publication ราคา 40 เหรียญ ได้กล่าวถึง Caroline ว่า เธอได้เขียนอัตชีวประวัติของตัวเอง 2 ครั้ง โดยในครั้งแรก เมื่อเธออายุ 70 ปี และอีกครั้งในอีก 20 ปีต่อมา โดยในช่วงแรกนั้น เมื่อ William พี่ชายของ Caroline ใกล้เสียชีวิต และเธอต้องการเล่าชีวิตทำงานของเธอและพี่ชายให้สมาชิกครอบครัว Herschel รู้ แต่เธอก็หยุดเขียนอย่างกะทันหัน เมื่อเธอรู้สึกขมขื่นกับการสมรสของพี่ชาย (ซึ่งขณะนั้นอายุ 49 ปี) จึงได้ทำลายสมุดบันทึกรายวันที่เธอจดจนหมด แต่ในเวลาต่อมา เมื่อเธอตระหนักได้ว่าเธอมีอารมณ์วู่วามจนเกินเหตุ เธอก็เริ่มเขียนอัตชีวประวัติใหม่ให้หลาน John Herschel สุดที่รักของเธออ่าน และเมื่อเธอเขียนถึงตอนพี่ชายเธอแต่งงาน คราวนี้เธอพูดถึงพี่สะใภ้ในแง่ดี หนังสือ The Herschel Perspective ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ William พบว่า กล้องโทรทรรศน์ที่เขาต้องการมีขนาดใหญ่ไม่พอ จึงต้องออกแบบสร้างใหม่และฝนเลนส์ใหม่ จนในที่สุด คนทั้งสองก็มีกล้องโทรทรรศน์ที่ดีที่สุดในโลกใช้ และหลังจากที่พบดาวเคราะห์ Uranus แล้ว สองพี่น้องก็ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่เมือง Slough ซึ่งอยู่ใกล้พระราชวัง Windsor ทำให้มีโอกาสเข้าเฝ้าบ่อย ส่วนขุนนางและอาร์กบิชอปแห่ง Canterbury ก็มักมาเยี่ยมเพื่อดูดาวด้วย และก็ได้เห็น Caroline ช่วยพี่ชายด้วยการนั่งบันทึกข้อมูลดาราศาสตร์ต่าง ๆ ในเวลากลางคืน ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นอากาศหนาวจัด และนอกจากนั้นเธอก็ยังช่วยพี่ชายเขียนบทความวิชาการเพื่อลงพิมพ์ด้วย การช่วยเหลือที่มากและจริงจังเช่นนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทุกวันนี้สงสัยว่า โลกจะรู้จัก William หรือไม่ถ้าไม่มี Caroline
สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท