xs
xsm
sm
md
lg

นกโดโด (dodo)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


นักชีววิทยาหลายคนเชื่อว่า พระเจ้าทรงให้นกโดโดมาเกิดบนเกาะ Mauritius ในมหาสมุทรอินเดีย โดยมีพระประสงค์เพียงสถานเดียว คือ เพื่อให้สูญพันธุ์

ในปี พ.ศ. 2050 (รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า กะลาสีเรือชาวโปรตุเกสได้เดินทางถึงเกาะ Mauritius และได้เห็นนกโดโดที่อ้วนล่ำจำนวนมาก และมีลักษณะคล้ายนกพิราบ แต่มีขนาดใหญ่กว่ามากเดินอุ้ยอ้ายอยู่ในป่า เหล่ากะลาสีได้สังเกตเห็นว่า แทนที่นกเวลาเห็นคนจะวิ่งหนี แต่นกที่บินไม่ได้กลุ่มนี้กลับเดินเข้าหาคน ความหิวโหยและความแร้นแค้นอาหารทำให้กลาสีจับนกเหล่านี้แกงอย่างง่ายดาย และเรียกมันว่า doudo ซึ่งเป็นคำในภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า โง่ดักดาน ทั้งนี้เพราะกะลาสีเรือกลุ่มนั้นไม่รู้ว่านกโดโดไม่เคยเห็นมนุษย์มาก่อน ดังนั้นมันจึงไม่รู้ว่าคนคือพยายมตัวจริงของมัน

ในปี พ.ศ. 2142 Jacob Cornelius Van Neck นักเดินทางชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ไปเยือนเกาะ Mauritius ได้บันทึกว่าเห็นนกโดโด แต่เขาเรียกมันว่า dodaar ซึ่งเป็นคำในภาษาดัตช์ที่แปลว่า หางมีขนปุกปุย ส่วน Carl Linnaeus นักชีววิทยาชาวสวีเดนผู้มีชื่อเสียง ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของโดโดว่า Didus ineptus เพราะ Didus เป็นคำในภาษาละตินของ dodo และ inept ก็แปลว่า โง่เขลา

เมื่อถึงวันนี้ นักชีววิทยาจัดโดโดเป็นสัตว์ในไฟลัม Chordala ชั้น Aves อันดับ Columbiformes วงศ์ Raphidae สกุล Raphus และชนิด Raphus cucullatus เพราะมันมีวิวัฒนาการมาจากนกพิราบในแอฟริกา แต่มีขนาดใหญ่กว่าและมีชื่อเสียงกว่า

แต่ปัจจุบันนี้ โดโดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว หลังจากที่ถูกพบไม่ถึง 100 ปี โดยมันถูกฆ่า ถูกทำลายจนโลกไม่มีโครงกระดูกที่สมบูรณ์ของมันให้อนุชนรุ่นหลังดูเลย จะมีก็แต่ชิ้นส่วนกระจัดกระจายอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น มีกะโหลกอยู่ที่ Prague ในเชโกสโลวาเกีย มีปากและเท้าอยู่ที่ British Museum มีหัวและเท้าอยู่ที่ Oxford ในอังกฤษ และมีไข่อยู่ที่ East London Museum ในแอฟริกาใต้ เป็นต้น

เมื่อไม่มีซากสมบูรณ์ให้ศึกษา การศึกษาภาพวาดของนกก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตของนกโดโดได้

ภาพวาดในหนังสือ Memoir on the Dodo ของ Richard Owen ที่ตีพิมพ์ในปี 2409 แสดงให้เห็นว่ามันเป็นนกที่อ้วนล่ำ แต่ภาพที่วาดในปี 2141 แสดงให้เห็นว่า มันเป็นนกผอม การเห็นความแตกต่างเช่นนี้ ทำให้ A.C.Oudemans นักชีววิทยาเนเธอร์แลนด์ ได้เสนอความคิดเห็นในปี พ.ศ. 2460 ว่า นกโดโดจะอ้วนหรือจะผอมขึ้นกับฤดู เพราะเกาะ Mauritius มีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน กับฤดูฝน และเมื่อถึงหน้าฝน โดโดจะรีบกินอาหารและกินมากมันจึงอ้วน แต่เมื่อถึงหน้าร้อนที่อาหารขาดแคลน ไขมันที่มีสะสมในตัวมันก็จะถูกทำลายไปๆ จนมันผอม

พิพิธภัณฑ์ Natural History Museum ที่ Dublin ใน Ireland เป็นสถานที่หนึ่งที่มีโครงกระดูกของโดโดค่อนข้างสมบูรณ์ การศึกษาข้อมูลจากกระดูกเหล่านี้ ทำให้นักชีววิทยารู้ว่า โดโดมีขนสีฟ้า-เทา มีจะงอยปากยาว 23 เซนติเมตร และปลายจะงอยโค้ง ปีกมีขนาดเล็กจึงบินไม่ได้ ขาสั้นสีเหลือง หางเป็นปุย และตัวที่โตเต็มที่หนักประมาณ 23 กิโลกรัม ตัวเมียมีขนาด 2 ใน 3 ของตัวผู้ และมีจะงอยปากสั้นกว่า มันออกไข่ครั้งละใบ และผลัดกันฟักไข่ในรังบนดิน รังทำด้วยใบปาล์ม ตัวโดโดสูงประมาณ 45 เซนติเมตร และมีอายุไม่เกิน 30 ปี

ประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์สนใจเกี่ยวกับนกโดโด คือ อะไรทำให้มันสูญพันธุ์ และเหตุการณ์สูญพันธุ์เกิดขึ้นเมื่อใด

ความจริงเมื่อกะลาสีชาวเนเธอร์แลนด์กินเนื้อโดโดนั้น พวกเขาไม่ชอบรสชาติมันเลย จึงเรียกชื่อมันว่า Walgoogel ซึ่งแปลว่า นกที่มีเนื้อชวนอาเจียน แต่เมื่อเนื้อได้รับการปรุงแต่ง มันก็มีรสดี และเมื่อนกชนิดนี้มีมาก ดังนั้น เวลาอาหารขาดแคลน กะลาสีจึงจับนกฆ่ากิน ๆ แต่คนมิได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้นกสูญพันธุ์ สัตว์เลี้ยงของคน เช่น หมู ลิง หนู ที่แพร่พันธุ์เร็วได้ขโมยไข่ของนกโดโดกินด้วย เวลาที่นกโดโดไม่ได้เฝ้าไข่ จนในที่สุดทั้งนกและไข่ก็เหลือให้เห็นน้อยลงๆ

เช่น ในปี พ.ศ. 2148 Carolus Cluseies ได้กล่าวถึงการเห็นนกโดโดยาก และได้เห็นเพียงรอยเท้าของมันเท่านั้นเอง เมื่อถึงปี พ.ศ. 2236 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสชื่อ Francois Leguat หลังจากที่ได้พยายามค้นหานกโดโดเป็นเวลาหลายเดือนก็ได้รายงานว่า ไม่พบหรือเห็นนกโดโดเลย

การศึกษาสถิติการเห็นนกโดโด ทำให้เรารู้ว่า ในปี พ.ศ. 2205 Volkert Evertsz ได้รายงานการเห็น และในปี พ.ศ. 2181 ก็มีรายงานคนเห็นโดโดเช่นกัน และเมื่อนักชีววิทยาตระหนักว่า การไม่เห็นมันมิได้หมายความว่ามันสูญพันธุ์ แต่มันอาจมีชีวิตอยู่โดยไม่มีผู้ใดเห็นก็ได้ ดังนั้น การตัดสินว่า มันสูญพันธุ์เมื่อใดจึงต้องใช้คณิตศาสตร์ด้านสถิติช่วย

ในวารสาร Nature ฉบับที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 David L. Roberts และ Andrew P. Solow แห่ง Royal Botanic Gardens, Kew ที่ Richmond ในอังกฤษ ได้รายงานผลการวิจัยว่า จากการใช้ข้อมูลการเห็นนกโดโดในปี 2205, 2181, 2174, 2171, 2171, 2154, 2150, 2145, 2144 และ 2141 การใช้เทคนิค optimal linear estimation นักสถิติทั้งสองได้ข้อสรุปว่า โดโดสูญพันธุ์ในปี พ.ศ. 2233 ซึ่งนับเป็นเวลานาน 28 ปี หลังจากที่นกโดโดถูกเห็นเป็นครั้งสุดท้าย

นอกจากจะเล่นบทบาทเป็นอาหารให้คนแล้ว โดโดก็ยังช่วยให้ต้น Calvaria major ซึ่งเป็นต้นไม้ท้องถิ่นของเกาะ Mauritius ให้แพร่พันธุ์เป็นเวลานาน จนกระทั่งโดโดสูญพันธุ์ และขณะนี้ต้นไม้พันธุ์นี้กำลังสูญพันธุ์ตามไปด้วย

ทั้งนี้เพราะ Stanley A. Temple แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin ในสหรัฐอเมริกาได้พบว่า ต้น Calvaria major ซึ่งเคยมีมากบนเกาะ Mauritius แต่เมื่อถึงปี 2516 ต้นไม้ชนิดนี้มีเหลืออยู่เพียง 13 ต้นเท่านั้นเอง เหตุการณ์นี้ Temple ได้อธิบายว่า เพราะเปลือกของเมล็ดต้นไม้ชนิดนี้หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดังนั้น ถึงแม้จะนำเมล็ดมาเพาะเลี้ยง มันก็ไม่ออก แต่ในสมัยที่โดโดยังมีชีวิตอยู่ โดโดกับต้นไม้ได้พึ่งพากัน โดยเวลาโดโดกินเมล็ดพืช กรวด หิน ที่มีในกระเพาะของมันได้ทำลายความหนาของเปลือกไปพอประมาณ ดังนั้น เวลาโดโดถ่าย เนื้อของเปลือกได้บางลง จนหน่ออ่อนสามารถไชทะลุออกมาเจริญเติบโตได้

Temple จึงสรุปว่า ถ้าไม่มีต้นไม้ชนิดนี้ โดโดก็ไม่มีอาหาร แต่ถ้าไม่มีโดโดต้นไม้ก็สืบพันธุ์ยาก นี่คือ กรณีการพึ่งพากันและกันระหว่างพืชกับสัตว์ที่น่าสนใจ

และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ Kennelh Rijsdijk และ Peter Foolre แห่งมหาวิทยาลัย Mauritius ได้รายงานการพบสุสานของนกโดโดที่มีกระดูกจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นการเจริญเติบโตของนกโชคร้ายชนิดนี้ตั้งแต่เล็กจนโตเต็มที่ ขณะนี้นักวิจัยทั้งสองกำลังประกอบโครงกระดูกของโดโดเพื่อให้เห็นธรรมชาติ ครอบครัว และสภาพความเป็นอยู่ของมันเมื่อ 2,000 ปีก่อน เพื่อให้โลกได้เห็นมันอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้จะในลักษณะที่ไม่มีชีวิตก็ตาม

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท
กำลังโหลดความคิดเห็น