xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตที่ลงตัวทั้งในบ้านและห้องแล็บของ “ดร.สุภา” สตรีนักวิจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ง่ายนักที่คนเราจะใช้ชีวิตได้อย่างลงตัวทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แต่หญิงเก่งอย่าง “ดร.สุภา” นักวิจัยสตรีผู้ริเริ่มพัฒนายาต้านเอดส์คนแรกๆ ของเมืองไทย ก็สามารถจัดการภาระทั้งในห้องแล็บและเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีความสุข บนพื้นฐานการดำเนินชีวิตด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังรักที่จะถ่ายความรู้ให้ลูกศิษย์อีกด้วย

รศ.ดร.สุภา หารหนองบัว อาจารย์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิจัยผู้บุกเบิกในการค้นคว้าและวิจัยเพื่อหาสารยับยั้งเชื้อเอดส์มากว่า 10 ปี และเพิ่งได้รับทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งทุนดังกล่าวมุ่งที่จะประชาสัมพันธ์ความสามารถของสตรีที่เป็นกำลังสำคัญของความสำเร็จในงานวิจัยและวิวัฒนาการที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ และได้มอบทุนนี้ให้นักวิจัยสตรีของไทยเป็นครั้งที่ 4 แล้ว

บุกเบิกงานวิจัยยาต้านเอดส์

การวิจัยของ รศ.ดร.สุภานั้นคือ การศึกษาทางด้านเคมีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการออกแบบยาเพื่อยับยั้งเอนไซม์ “รีเวิร์ส ทรานสคริปเทส” (reverse transcriptase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ของเชื้อเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ ทั้งนี้มีเอนไซม์สำคัญๆ ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์อีก 2 ชนิดคือ เอนไซม์โพรทิเอส (protease) และเอนไซม์อินทิเกรส (integrase) ซึ่งถ้ามียายับยั้งเอนไซม์เหล่านี้ที่จะทำให้วงจรชีวิตของไวรัสไม่เจริญเติบโตหรือไม่แพร่กระจายเชื้อมาก ก็จะช่วยยับยั้งเชื้อได้แต่ฆ่าไวรัสไม่ได้ เพียงแค่ยับยั้งให้การแพร่กระจายเชื้อในคนไข้ลดลง

ที่สนใจศึกษาเรื่อสารยับยั้งโรคเอดส์ เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้วโรคเอดส์เป็นโรคสำคัญของเมืองไทย และคนที่ติดเชื้อนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนจน และยาช่วงนั้นก็แพงมาก โอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับยารักษาตัวเองน้อย อีกอย่างคือมีการกลายพันธุ์ของไวรัสขึ้น ทำให้ยาที่ใช้อยู่ไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งต่อไป จึงเป็นมูลเหตุจูงใจที่อยากจะออกแบบโครงสร้างของยาที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ตัวนี้” รศ.ดร.สุภากล่าวว่าอินทิเกรสเป็นเอนไซม์เป้าหมายสำคัญในการยับยั้งเชื้อเอดส์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่ดีพอ การพัฒนายาเพื่อยับยั้งเอนไซม์รีเวิร์ส ทรานสคริปเทสและโพรทิเอสจึงยังจำเป็นอยู่

ขณะนี้ รศ.ดร.สุภาออกแบบยาได้จำนวนหนึ่งแล้ว และได้ร่วมมือกับ รศ.ดร.สุพรรณา เตชะสกุล นักวิจัยเคมีสังเคราะห์จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ในการสังเคราะห์สาร โดยได้คัดสรรโครงสร้างยาซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 40 โครงสร้าง ไปให้ รศ.ดร.สุดา ลุยศิริโรจนกุล ผู้ร่วมงาน จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการทดสอบการออกฤทธิ์ของสารบริสุทธิ์ พร้อมทั้งอธิบายว่ากว่าจะพัฒนาไปเป็นยานั้นต้องผ่านการ “ปรุงยา” อีกหลายขั้นตอน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานของเภสัชกร

ทุนลอรีอัลกำลังใจแก่นักวิจัยสตรี-เชื่อมโยงงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม

สำหรับความรู้สึกต่อทุนลอรีอัลที่ได้รับนั้น รศ.ดร.สุภากล่าวว่าเป็นการให้กำลังใจแก่นักวิจัยสตรี เพราะที่ผ่านมารางวัลสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยมักจะมอบให้กับบุรุษมากกว่าสตรี และเป็นการสนับสนุนการวิจัยจากภาคเอกชนซึ่งค่อนข้างมีน้อยในเมืองไทย อีกทั้งยังพิเศษตรงที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เสด็จเป็นองค์ประธานมอบทุนวิจัย ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นเกียรติย่างยิ่ง เพราะพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดี และพระองค์ก็ทรงศึกษามาทางด้านวิทยาศาสตร์ด้วย

ที่ดีอีกอย่างคือมีการประชาสัมพันธ์ไปทุกสื่อ ซึ่งเป็นการโปรโมทวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง เพราะว่าวงการวิทยาศาสตร์แทบจะไม่มีเวทีตรงนี้เลย ส่วนใหญ่สื่อจะให้ความสำคัญทางด้านการเมือง สังคม หรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้ก็สามารถที่จะประชาสัมพันธ์วงการวิทยาศาสตร์ไปได้ และเป็นโอกาสให้นักวิจัยได้รวมกลุ่มกัน ซึ่งเจ้าของทุนให้ความสำคัญกับงานวิจัย และเป็นโอกาสให้งานวิจัยและภาคอุตสาหกรรมได้เชื่อมโยงกัน อีกทั้งถ้ามีความร่วมมือกันมากขึ้น ก็จะให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปได้ไกลกว่านี้”

จากงานโครงงานเพิ่มค่า “เกลือจืด” สู่ความรักในงานวิจัย

ก่อนที่จะมาถึงตัวยาต้านเชื้อเอดส์อย่างทุกวันนี้ รศ.ดร.สุภา กล่าวว่าก็ไม่คาดคิดว่าตัวเองจะกลายมาเป็นนักวิจัย ทั้งนี้ได้รับการหล่อหลอมให้คิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เมื่อครั้งทำโครงงานวิทยาสาสตร์ระดับปริญญาตรี โดยอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานได้ให้โจทย์ไปศึกษาเรื่องแมกนีเซียมใน “เกลือจืด” ซึ่งเป็นเกลือที่ได้จากการทำนาเกลือนอกเหนือจากเกลือสินเธาว์ที่ใช้ปรุงอาหาร เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลของเกลือจืดที่ชาวนานำไปขายให้กับโรงงานผลิตแป้งในราคาไม่สูงนัก ทั้งนี้ได้อธิบายว่าธาตุแมกนีเซียมและแคลเซียมในเกลือจืดนั้น สามารถนำไปใช้ในการผลิตยาได้ ซึ่งหากสกัดเอาธาตุโลหะเหล่านี้ออกมาได้ ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าเกลือจืดได้

ผลจากการทำโครงงานในครั้งนั้น ทำให้ รศ.ดร.สุภาตัดสินใจเลือกเรียนต่อเพื่อเป็นนักวิจัย ซึ่งแตกต่างไปจากเพื่อนๆ ที่เลือกเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมเคมีรุ่งเรืองมาก บัณฑิตเคมีที่จบมามีงานรองรับทุกคน และยังได้รับเงินเดือนในอัตราสูง ด้วยเหตุที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาดีและเป็นแรงบันดาลใจ อีกทั้งยังให้อิสระในการคิดเอง หาคำตอบเอง จึงสนุกที่จะทำงานวิจัยต่อไป ทั้งที่สมัยเป็นนักเรียนไม่ได้สนใจที่จะทำงานด้านนี้ แต่สนใจที่จะเรียนแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ

ครอบครัวรางวัลนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่ไม่คาดหวังให้ลูกๆ เจริญรอยต่อตาม

ที่น่าสนใจคือนอกจากเป็นนักวิจัยเองแล้ว รศ.ดร.สุภา ยังเป็นภรรยาของนักวิจัยชั้นนำระดับประเทศอย่าง ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 คนต่างได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์คล้ายๆ กัน อาทิ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (TWAS Young Scientist) จากสภาวิทยาศาสตร์โลกที่สาม (Third World Academy of Science) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อแรกเริ่มทำวิจัย เป็นต้น

รศ.ดร.สุภาเปิดเผยว่าภายในครอบครัวไม่ค่อยได้คุยกันเรื่องงานวิจัยนัก จะมีแลกเปลี่ยนความเห็นบ้างตามงานประชุมวิชาการหรืองานสัมมนาต่างๆ ซึ่งก็จะมีความเห็นในเรื่องงานที่ต่างกันบ้าง และต่างมีอิสระในการทำงาน ไม่ก้าวก่ายกัน แต่เมื่ออยู่บ้านจะปรึกษากันเรื่องลูก โดยครอบครัวนักวิจัยนี้มีโซ่ทองคล้องใจด้วยกัน 2 คน คือลูกชายซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม.2 ที่โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และลูกสาวคนเล็กซึ่งศึกษาอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนเดียวกัน

ไม่คาดหวังให้ลูกๆ มาเป็นนักวิจัย ตอนนี้ไม่คาดหวังอะไรกับลูกเพราะอยากให้ลูกเรียนอย่างมีความสุข ตอนนี้ลูกคนโตจะเล่นฟุตบอลและก็เป็นนักกีฬาโรงเรียน เขาจะไม่ค่อยสนใจการเรียน จะสนใจเล่นมากกว่า ก็ปล่อยเขา แค่เอาตัวรอดได้ก็พอแล้ว ส่วนคนเล็กเป็นผู้หญิงก็จะค่อนข้างขยัน เขาสนใจอยากจะเป็นหมอฟัน เพราะไปเจอหมอฟันใจดี แต่ตอนนี้อยากจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช้คณิตศาสตร์เยอะ ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่าไม่ค่อยมี อาจจะเป็นนักดนตรีหรือเปล่าที่ไม่ต้องใช้คณิตศาสตร์เยอะ ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะเป็นอะไร”

อย่างไรก็ดีแม้ไม่คาดหวังให้ลูกทั้ง 2 เจริญรอยตาม แต่ทางบ้านก็พยายามหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และติดเคเบิลทีวีเพื่อให้ลูกได้รับชมรายการวิทยาศาสตร์บ้าง ถึงอย่างนั้น รศ.ดร.สุภาก็ยอมรับอย่างอารมณ์ดีว่าลูกๆ ก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ กลายเป็นว่าสนใจดูการ์ตูนมากกว่า และจนปานนี้ก็ยังไม่อ่านหนังสือที่ซื้อมาให้ แต่ก็พยายามจะส่งเสริมให้ ซึ่งถ้าลูกรับได้ก็ดี แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ส่วนเวลาใกล้สอบก็จะช่วยติวและทบทวนให้บ้าง วันหยุดก็จะพาลูกๆ ไปเยี่ยมปู่-ย่า และตา-ยาย ที่ต่างจังหวัด

กว่าจะเป็นงานวิจัย ขยับเท้า 1 ก้าว วิทยาการก็เปลี่ยน

ย้อนกลับไปที่การทำงานอีกครั้ง รศ.ดร.สุภากล่าวว่ากว่าจะมีถึงทุกวันนี้ การทำวิจัยไม่ง่ายเลย สิ่งที่ยากลำบากในช่วงเริ่มต้นของการทำวิจัย คือเวลาในสืบค้นข้อมูลรายงานวิจัยซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกครั้งที่ขยับตัวก็มีความก้าวหน้าใหม่ๆ ออกมาแล้ว และในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟูเหมือนทุกวันนี้ ต้องเดินทางไปค้นวารสารวิชาการที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และถ่ายสำเนาเพื่อนำข้อมูลมาอ่าน อีกทั้งอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นก็ไม่เร็วนัก ก็ต้องโหลดข้อมูลใส่แผ่นดิสก์

นั่นคือความยาก เพราะว่าแค่เราขยับเท้า 1 ก้าว ต่างประเทศเขาก็ไปถึงไหนแล้ว มันต่างกันมากในเรื่องสเกลของความเร็วตรงนี้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือนักวิจัยต่างประเทศ ซึ่งเขาก็ช่วยเหลือด้วยการจะส่งข้อมูลที่ค้นได้มาให้ บางครั้งก็ส่งแบบที่เป็นฉบับสำเนา หรือบางครั้งบางครั้งก็เป็นไฟล์ข้อมูล เวลาทำงานวิจัยในยุคแรกๆ กว่าจะได้งาน กว่าจะได้ความรู้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยได้ต้องเวลามากทีเดียว พอมีผู้ร่วมมือจากต่างประเทศ มีทุนวิจัย ก็เริ่มง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องรีบอยู่ดี เพราะงานวิจัยในต่างประเทศเขาไปเร็วมาก และเราก็ยังช้ากว่าอยู่ดี”

รศ.ดร.สุภากล่าวว่าได้ตีพิมพ์ผลงานครั้งแรกเมื่อปี 2539 หลังจากที่ทำวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและการออกฤทธิ์ของสารยับยั้งเอชไอวีมา 3 ปี และการทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ทำให้มีความรู้ที่ค่อนข้างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการรู้ซึ้งในสาขาที่ถนัดและเทียบเคียงต่างชาติได้ และตอนนี้ก็ยิ่งทำวิจัยก็ยิ่งมีโจทย์วิจัยมากขึ้น มีอะไรที่น่าสนใจมากขึ้น ทำให้ขอบเขตของงานขยายกว้างขึ้น แต่โชคดีที่ทีมนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกมาช่วยทำวิจัย ซึ่งก็จะฝึกฝนให้รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องได้ และอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น ทำให้สามารถติดตามงานจากที่บ้านได้ แม้จะมีภาระในการเลี้ยงดูลูกๆ ก็ตาม

งานวิจัยไม่อาจหยุดนิ่ง เราไม่ทำ คนอื่นก็ต้องทำ

งานวิจัยหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องพัฒนาตลอด คือตอนนี้เราทำได้ดีแล้ว แต่ก็ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ต้องทำ และถ้าจะทำก็ต้องแข่งขันกับคนอื่นได้ ซึ่งต้องสร้างความรู้ของเราเองให้ได้” รศ.ดร.กล่าวพร้อมชี้ถึงอุปสรรคในการทำวิจัยว่าหลักๆ ก็เป็นเรื่องของทุนวิจัย ซึ่งต้องนำมาใช้ในการสนับสนุนนักวิจัยซึ่งทำงานทางด้านเคมีสังเคราะห์ และนักวิจัยด้านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมถึงค่าใช้จ่ายเรื่องสารเคมีและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งบางอย่างต้องนำเข้า

“เราวิจัยเพราะเราสนใจที่จะทำและก็ทำไป จนกระทั่งมีความก้าวหน้าถึงระดับที่จะนำไปต่อยอดได้ ตรงนี้ไม่ค่อยมีการสนับสนุนนัก อย่างสำนักงานสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ก็ช่วยบ้าง แต่ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว การทำวิจัยในระดับมหภาค ต้องมองให้กว้าง คือต้องมองงานวิจัยในหลากหลายสาขา และหมายความว่ารัฐบาลต้องมามองทิศทางการวิจัยด้วยเหมือนกัน ปัจจุบันเริ่มดีที่นักวิจัยเริ่มรวมกลุ่มทำงานวิจัยแบบมีทิศทางมากขึ้น แทนที่จะต่างคนต่างทำ 100 คน 100 เรื่อง เราก็ทำ 20 เรื่อง ให้มันโตไปด้วยกัน สิ่งที่ได้ก็ได้กับประเทศ เพราะโจทย์ก็คือโจทย์ของประเทศ”

หน้าที่นักวิจัยตีพิมพ์ผลงานเพิ่ม “จีดีพี” ให้ประเทศ

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.สุภายังกล่าวอีกว่าถูกฝึกให้เห็นความสำคัญของการตีพิมพ์ผลงานวิจัย และเห็นว่าเป็นหน้าที่ของนักวิจัยที่จะต้องตีพิมพ์ผลงานวิจัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกอันดับความก้าวหน้าและเพิ่ม “จีดีพี” หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้ และได้ยกตัวอย่างว่ามาเลเซียกับสิงคโปร์ต่างก็มีสัดส่วนนักวิจัยและผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์มากกว่าไทยเยอะ อีกทั้งการตีพิมพ์ผลงานยังช่วยให้นักวิจัยได้เห็นข้อบกพร่องของตัวเองด้วย

“เป็นหน้าที่เลย เพราะว่าถ้านักวิจัยทำงานแล้วไม่ตีพิมพ์ ความรู้ก็ไม่เปิดเผยและไม่แตกฉาน แล้วทำให้ความรู้ไม่ถูกแนะนำ จากนักวิจัยสาขาอื่นหรือนักวิจัยส่วนอื่น ข้อดีของการตีพิมพ์คือ เมื่อเราทำวิจัยแล้วเรามีความรู้ใหม่เกิดขึ้น แล้วพอเราส่งไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ บรรณาธิการก็จะส่งให้ “รีวิวเวอร์” (reviewer) ประมาณ 2-3 คนอ่าน เพื่อดูว่ารายงานวิจัยของเราใช้ได้หรือยัง หรือใช้ไม่ได้อย่างไร แล้วเขาจะให้ความเห็นมา ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้บางส่วนบางมุมที่เราขาดหายไป”

อาจารย์ไม่สอนลูกศิษย์ ความรู้ก็ตายไปกับตัว

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุภายังได้พูดถึงหน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยว่ามี 4 อย่างคือ 1.สอนซึ่งเป็นหน้าที่ 2.ทำวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆ มาสอนลูกศิษย์ ไม่อย่างนั้นเราก็สอนได้แค่ในหนังสือ 3.บริการวิชาการ ก็ไปให้ข้อมูลแก่สาธารณชนในสถานที่ต่างๆ หรือตอบคำถามสื่อมวลชน เป็นต้น และ 4.ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็จะมีกิจกรรมลักษณะดังกล่าวให้เข้าร่วม รวมถึงอบรมลูกศิษย์ตามกาลเทศะต่างๆ เช่น บอกลูกศิษย์ให้แต่งกายให้สุภาพ เป็นต้น

“ไม่เหนื่อยกับการสอนเพราะเราต้องสอนอยู่แล้ว ถ้าเรามีความรู้และเราไม่สอนใครเลย เราตายไปความรู้ก็ไปกับเรา การที่เราได้สอนได้สร้างลูกศิษย์ก็จะทำให้เขาเติบโตขึ้นมามีความรู้ จบไปเขาก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ไม่ใช่แค่ผลิตบัณฑิตแต่ตัวและได้ดีกรีเท่านั้น แต่ต้องผลิตให้เขามีความรู้ ให้เขาสร้างความรู้ได้เอง ในด้านวิทยาศาสตร์ก็ต้องฝึกให้เขาเป็นนักวิจัย ทำวิจัยได้เอง คิดเองเป็น แต่คนที่ไม่ชอบสอนก็จะมองว่าเป็นภาระ แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ หน้าที่เราคือต้องสอน”

สุขกับชีวิตด้วยการแก้ปัญหาอย่างวิทยาศาสตร์และหลักอริยสัจ 4

“ตอนนี้มีความสุขกับงานที่ทำอยู่ตลอด เพราะเป็นคนไม่ค่อยทุกข์ มีความสุข มาที่ทำงานก็มีความสุขกับที่ทำงาน กลับไปบ้านก็มีความสุขกับที่บ้าน ก็ทำตามหน้าที่ของเรา อยู่ที่บ้านก็ดูแลบ้าน มีลูกก็ดูแลลูก มาที่ทำงานก็ดูแลลูกศิษย์ เรื่องสอนต้องมาก่อน ต้องเตรียมสอน จะทำอะไรก็ตามต้องคิดแล้วว่าพรุ่งนี้จะสอนอะไรหรือเปล่า ก็จะเตรียมให้เรียบร้อยก่อน ถือคติว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุด” ส่วนเป้าหมายในอนาคตนั้นตั้งใจจะพัฒนายาที่ดีและได้รับสิทธิบัตร ซึ่งจะพยายามไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้

รศ.ดร.สุภากล่าวว่าวิทยาศาสตร์สอนให้ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหา และมีแนวทางในการวิเคราะห์ปัญหา แล้วเลือกแนวทางดูว่าแก้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ลองทางใหม่อีกครั้ง ดูว่าแก้ได้หรือไม่ เวียนอยู่อย่างนี้ สุดท้ายก็จะแก้ได้ และงานวิทยาศาสตร์บางครั้งก็ไม่ได้จบแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” บางครั้งจบแบบไม่ได้อะไรเลย แต่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมจึงไม่ได้ เหล่านี้คือกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่สอนให้เรารู้จักวิเคราะห์ปัญหาซึ่งสำคัญมาก

“ในชีวิตประจำวันก็เหมือนกัน เราต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องว่าอยู่ตรงไหน เมื่อคิดดูแล้ววิทยาศาสตร์ก็คล้ายพุทธศาสนา ตรงหลักอริยสัจ 4 ที่มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งทุกข์ก็คือโจทย์ปัญหาให้เราวิเคราะห์หาทางออก และสามารถดับทุกข์ได้ คิดอย่างนี้ก็มีความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น