ครั้งแรกของสุขภัณฑ์ไทยกับการใช้สารเคลือบผิวอนุภาคนาโน "ไททาเนีย ซิลเวอร์นาโน" ซึ่งเป็นผลงานนนักวิจัยไทยในเครื่องสุขภัณฑ์เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หลังประสบความสำเร็จในการผลิตเส้นใยผสมสารอนุภาคนาโน เผยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้กว่า 70 % และมีประสิทธิภาพมากกว่าสารนำเข้าถึง 10 %
สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามร่วมกับ บริษัท นาม สุขภัณฑ์ จำกัด ในการนำสารอนุภาคนาโนยับยั้งเชื้อแบคทีเรียมาเคลือบผิวสุขภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า "Stealth Guard Titania Silver Nano" โดยใช้เวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4 เดือน โดยจะเริ่มใช้กับสุขภัณฑ์ 13 รุ่นที่เป็นรุ่นขายดีของบริษัท ได้แก่ Faye, Sense, Liza, Nuvo, Maya, Decor, Orbit, Ofuro,Aka,Nian และ Nur
ทั้งนี้ ดร.สุพิณ แสงสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่เอกชนได้พัฒนาสุขภัณฑ์ โดยใช้สารเคลือบอนุภาคนาโนเพื่อยับยั้งแบคทีเรียจากการพัฒนาของนักวิจัยไทย ซึ่งในขั้นตอนของการพัฒนานั้น ทีมวิจัยได้เตรียมสาร "ไททาเนีย" ซึ่งเป็นชื่อเรียกของไททาเนียมไดออกไซด์ และ "ซิลเวอร์นาโน" ให้กับบริษัทนำไปใช้เคลือบผิวสุขภัณฑ์ จากนั้นทีมวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อจากแผ่นเซรามิกส์ตัวอย่างที่ผ่านการเคลือบสารแล้ว ปรากฏว่าได้ผลในการยับยั้งแบคทีเรียถึง 70-80 % และมีประสิทธิภาพมากกว่าสารเคลือบซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ 10 %
ในการฆ่าเชื้อนั้น ดร.สุพิณอธิบายว่าเป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับการสังเคราะห์แสงของพืช โดยสารไททาเนียจะได้รับการกระตุ้นจากแสงแล้วเกิดอนุภาคอิสระของ "ไฮดรอกซิล" (Hydroxyl) ซึ่งจะไปย่อยสลายแบคทีเรีย ส่วนซิลเวอร์นาโนนั้นไม่ต้องได้รับการกระตุ้นจากแสง แต่จะแตกตัวเป็นไออนแล้วไปจับตัวกับดีเอ็นเอของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียสูญเสียกลไกการแบ่งตัวและตายในที่สุด ซึ่งสีทาบ้านที่สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ก็ใช้กระบวนเดียวกันนี้ในการจำกัดแบคทีเรีย
ทั้งนี้ในขั้นตอนการเคลือบผิวสุขภัณฑ์นั้นจะฉีดพ่นสารละลายทั้ง 2 ชนิดข้างต้นในปริมาณที่เหมาะสมแล้วนำไปเผา ซึ่งจะทำให้สารยับยั้งแบคทีเรียและสุขภัณฑ์เป็นเนื้อเดียวกัน ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อจึงติดทนตลอดอายุการใช้งานของสุขภัณฑ์ อีกทั้งไททาเนียยังเป็นเซรามิกส์ประเภทหนึ่งด้วย ส่วนอนาคต ดร.สุพิณกล่าวว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสารเคลือบเพราะเชื่อว่ายังมีวิธีที่ดีกว่า และต่อไปอาจมีการค้นพบสารซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียที่ดีกว่านี้ก็ได้
ทางด้าน ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนในการวิจัยครั้งนี้จากนามสุขภัณฑ์เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท แต่ทั้งนี้การวิจัยและพัฒนาสารเคลือบได้เริ่มต้นมานานแล้ว ซึ่งการประยุกต์ใช้สารเคลือบกับสุขภัณฑ์ถือเป็นการพัฒนาระยะปลาย และใช้เวลาในการพัฒนา 4 เดือน ซึ่งถือว่าไม่นานเมื่อเทียบกับการพัฒนาคุณสมบัติของสารเคลือบ
"การวิจัยสารเคลือบเพื่อฆ่าเชื้อนั้นรู้ว่าทำได้ และมีการวิจัยค้นคว้ามานานมากแล้วตั้งแต่งานวิจัยระดับพื้นฐาน ซึ่งการศึกษาว่าสารดังกล่าวใช้ได้จริงใช้เวลานานมาก เมื่อทราบว่าใช้ได้จริงแล้วการประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงไม่นาน โดยก่อนหน้านี้ได้ประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์เส้นใย และครั้งนี้ก็นำมาประยุกต์ใช้สุขภัณฑ์ โดยได้รับสนับสนุนความรู้เรื่องสุขภัณฑ์จากบริษัทนาม และขณะนี้ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรการพัฒนาใช้สารเคลือบกับสุขภัณฑ์ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้สารนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายผลิตภัณฑ์"
ทางด้าน นายณัฐชนา เพ็ญชาติ กรรมการผู้จัดการบริษัท นาม สุขภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่านามเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้พัฒนากรรมวิธีเรื่องการเตรียมสารเคลือบผิวสุขภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เพื่อสนับสนุนและสร้างชื่อเสียงให้กับนักวิจัยไทย พร้อมตอบสนองนโยบายบริษัทที่มุ่งส่งและพัฒนาสินค้าด้วยเทคโนดลยีที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ลูกค้า
ขณะที่ นายสุเมธ อินทามระ รองกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขายและการตลาดกล่าวว่า เบื้องต้นนั้นศึกษากับผลิตภัณฑ์รุ่นที่ขายดีเพื่อให้กระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภคได้เร็วที่สุด ทั้งนี้เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมและไม่ได้เคลือบสารยับยั้งแบคทีเรียนั้นจะไม่ค้างสต็อกมากนัก ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้กับสุขภัณฑ์ "ชักโครก" นั้น เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคมากที่สุด ทั้งนี้ได้เสริมว่าการใส่สารเคลือบอนุภาคนาโนลงไปในสุขภัณฑ์นั้นเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แต่จะไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภคแม้จะมีต้นทุนในการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม โดยจะเพิ่มราคาจากที่ปกติไม่เกิน 5 % ทั้งนี้สังเกตผลิตภัณฑ์ที่เคลือบสารได้จากสติ๊กเกอร์ "Stealth Guard Titania Silver Nano"