xs
xsm
sm
md
lg

“พลุที่สวยต้องมีชีวิต” โจทย์เทคโนโลยีดอกไม้แห่งดวงไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพพลุสุดอลังการ ณ ทะเลสาบเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.(โดยช่างภาพผู้จัดการ)
ช่วงเวลาแห่งการฉลองการครองราชย์ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราได้มีโอกาสชื่นชมความงามของพลุเฉลิมพระเกียรติที่งดงามตระการตา ซึ่งเดิมเราอาจจะเคยเห็นแค่พลุที่แตกออกเป็นรูปดอกเบญจมาศ แต่ปัจจุบันเราได้เห็นพลุที่มีรูปร่างหลากหลาย ดังในครั้งนี้เราได้เห็นพลุรูปผีเสื้อ พลุรูปหัวใจซ้อนกัน และพลุเลข 60 มหามงคล พร้อมแสง สี เสียงที่ต่างไปจากเดิมมาก

หลายคนยังคงจำภาพพลุบนฟากฟ้ากว่า 3 หมื่นนัดในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองเมื่อสัปดาห์ก่อนได้เป็นอย่างดี เมื่อวันมหามงคลที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการจุดพลุในชื่อ "สดุดีพระบารมีเบิกฟ้า" ณ บริเวณสระน้ำของสวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้คนแห่แหนไปชมกันอย่างแน่นขนัด การจราจรกลายเป็นอัมพาตไปหลายชั่วโมง และแม้จะมีเส้นทางเดินรถที่สะดวกอย่าง “รถไฟฟ้าใต้ดิน” ก็ดูจะไม่เพียงพอต่อการอำนวยความสะดวกในครั้งนั้น

ถัดมาวันที่ 10 มิ.ย.ผู้คนก็เฝ้ารอชมพลุกลางแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ กับสะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งจุดกันไม่ยั้งกว่า 2 หมื่นนัดในวันเดียว จากนั้นทุกคนก็รอคอยที่จะเห็นความเจิดจรัสของ “พลุไซโก” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นที่นำเข้าโดย บริษัท เมืองทองไซโก จำกัด และหลายคนก็จับตาดูเลขมหามงคล “60” ด้วย ซึ่งครั้งนี้ประชาชนก็ยังไปชมพลุกันอย่างแน่นขนัดเช่นเคย

อีกทั้งในการจุดพลุเฉลิมพระเกียรติ ณ บริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ พร้อมแสง สี เสียง และการแสดงภาพบนม่านน้ำอันตระการ คงทำให้หลายๆ คนได้อิ่มเอมไปกับความสวยงามของดอกไม้แห่งดวงไฟ สำหรับใครที่ไปชมแล้วอย่าเก็บความประทับใจไว้คนเดียว บันทึกภาพถ่ายมาร่วมประกวดกับ “ผู้จัดการ” ได้ก่อนวันที่ 23 มิ.ย. นี้ ไม่แน่ว่าฝีมือคุณอาจเข้าตากรรมการ ส่วนใครที่สงสัยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว และเขามีเทคนิคพิเศษในการทำพลุอย่างไร “ผู้จัดการวิทยาศาสตร์” ขันอาสาหาคำตอบ

เบื้องต้นเราได้สอบถามไปยัง กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกซึ่งมีส่วนในการผลิตและจุดพลุในวันที่ 9 และ 10 มิ.ย. ด้วยเทคโนโลยีของคนไทยแต่ก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานเฉลิมฉลองครั้งนั้นกล่าวว่าพลุที่ผลิตขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยได้นำเทคนิคจากสมาคมพลุของต่างประเทศซึ่งนายทหารนักเคมีของกรมฯ เป็นสมาชิก มาปรับปรุง
ภาพพลุสุดอลังการ ณ ทะเลสาบเมืองทองธานี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.(โดยช่างภาพผู้จัดการ)
สำหรับเทคนิคที่จะทำให้พลุสวยตระการตานั้นเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลคร่าวๆ ว่าสีสันของพลุนั้นเกิดจากการผสม “สารเคมี” ซึ่งหากต้องการให้ได้พลุที่สวยงามต้องใช้สารเคมี “เกรดแล็บ” (Grade Lab) ซึ่งเป็นสารเคมีคุณภาพสูงที่ต้องใช้การควบคุมจากแล็บหรือห้องปฏิบัติการถึง 7 แล็บ โดยสารเคมีต่างๆ นั้น บางส่วนเป็นสารเคมีที่หน่วยงานต้องใช้ในการผลิตสรรพาวุธ เช่น ระเบิดควันหรือระเบิดขว้างอยู่แล้ว บางชนิดเป็นสารเคมีควบคุมซึ่งชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถสั่งซื้อได้

“สารเคมีที่ช่วยสร้างสีสันและลดควันให้กับพลุนั้น บางชนิดเป็นสารควบคุมที่ประชาชนไม่สามารถสั่งซื้อได้ หรือบางชนิดก็มีราคาแพง อย่างพลุจากญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจุดในครั้งนี้ บางลูกที่มีขนาด 12 นิ้วมีราคาสูงถึง 4 หมื่นบาท และด้วยลักษณะนิสัยคนไทยไม่นิยมจุดพลุที่มีราคาแพง เทคโนโลยีการผลิตพลุในประเทศไทยจึงไม่ก้าวหน้านักเมื่อเทียบกับจีนหรือญี่ปุ่นซึ่งมีการผลิตอย่างจริงจัง โดยมีเขตอุตสาหกรรมผลิตพลุโดยเฉพาะ”

เจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตพลุอธิบายต่อว่าพลุที่จะจุดให้เป็นรูปร่างต่างๆ นั้น ทำได้โดยการจัดวางตำแหน่งสารเคมีภายใน “ลูกพลุ” ซึ่งมีลักษณะกลมๆ เหมือนลูกบอล และผ่าครึ่งเพื่อใส่สารเคมี แล้วจัดวางตำแหน่งของสารเคมีให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้พลุมีรูปร่างตามที่ต้องการ และใส่สายจุดชนวน จากนั้นปิดสนิทด้วยเทป ทั้งนี้การผลิตพลุให้เป็นที่ประทับใจนั้นนอกจากจะผลิตให้พลุสวยแล้ว ต้องให้เสียง “ดัง” เพื่อให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วม

แวะไปดูทางฝั่งเอกชนกันบ้าง ลองไปฟังความเห็นของ สราวุฒิ ต่ายทรัพย์ เจ้าของบริษัท ไทยแลนด์ ไฟร์เวิร์ค จำกัด ซึ่งผลิตพลุให้กับการจุดพลุเฉลิมพระเกียรติเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมาด้วย และยังเคยได้รับรางวัลจากการแข่งขันประกวดพลุทั้งในและต่างประเทศหลายรางวัล อาทิ “แชมป์ประเทศไทย” จากงานฉลองครบรอบ 10 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว และตำแหน่ง “แชมป์โลก” จากแสดงพลุตามเสียงดนตรีที่ประเทศเบลเยียม เป็นต้น เขากล่าวว่าเทคโนโลยีพลุปัจจุบันเน้นที่การทำให้พลุ “มีชีวิต”

เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นพลุแตกมาเป็นลูกกลมๆ ธรรมดา แต่ปัจจุบันเราพยายามทำให้พลุมีชีวิต เช่น ทำให้พลุร่อนไปร่อนมา หรือทำเหมือนฝูงผึ้งกำลังบิน ทำเป็นรูปมังกร ดาวเสาร์ ก็ทำได้แล้วรวมถึงการสร้างเสียงให้กับ เช่น การทำเสียงสายฝน เสียงปรบมือ เสียงแคร็กกิง (Cracking) หรือแม้แต่เสียงนกร้องก็ได้ โดยจะมีสารเคมีบางชนิดที่จะให้เสียงเหล่านี้ออกมาเมื่อแตกตัว เทคนิคเหล่านี้เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของใครของมัน และเป็นสูตรหวงห้ามของแต่ละคน”

สราวุฒิซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวของ พ.อ.เสรี ต่ายทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการผลิตพลุของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้สะสมประสบการณ์จากบิดา อธิบายว่าสีสันของพลุนั้นเกิดจากการแตกตัวและให้สีของสารเคมีซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น สีแดงใช้สารจำพวกสตรอนเทียม สีเขียวใช้สารจำพวกแบเรียม สีน้ำเงินใช้สารจำพวกทองแดง และสีเงินใช้สารจำพวกอลูมิเนียม เป็นต้น โดยสารเหล่านั้นจะนำไปผสมกับโพแทสเซียมเปอร์คอร์เรตอีกที ทั้งนี้ได้เน้นว่านักทำพลุแต่ละคนก็มีสูตรเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน
สราวุฒิ ต่ายทรัพย์ นักทำพลุชั้นนำของไทย
สำหรับพลุที่ทำยากในทัศนะของสราวุฒิคือพลุที่ต้องเปลี่ยนหลายๆ สี โดยลูกหนึ่งอาจเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีแดง แล้วกลายเป็นเหลือง ก่อนที่จะกลายเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งต้องพิถีพิถันในการจัดเรียงสารเคมีในลูกพลุให้ไล่ลำดับสี และพลุยิ่งลูกใหญ่มากก็ต้องอาศัยความประณีตสูงเนื่องจากค่อนข้างมีอันตรายมาก โดยบางลูกอาจมีน้ำหนักถึง 12 ก.ก. ซึ่งปัจจุบันเราสามารถทำลูกพรุที่มีขนาดตั้งแต่ 1 นิ้วไปจนถึง 16 นิ้ว เปรียบเทียบได้ตั้งแต่ขนาดเท่าลูกมะนาวไปจนถึงลูกแตงโม

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าปัจจุบันมีเทคนิคในการจุดพลุโดยใช้ความถี่ของคลื่นวิทยุกันแล้ว เทคนิคดังกล่าวคล้ายกับการจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ คือใช้ตัวรับสัญญาณติดไปที่ “ลูกพลุ” และส่งสัญญาณผ่านตัวส่งเพื่อยิงให้พลุขึ้นไประเบิดบนฟ้า บางเทคนิคก็ใช้รีโมตควบคุมการยิงพลุ แต่ในการจุดพลุของสราวุฒินั้นใช้สายไฟลากยาวออกมาควบคุมการยิงที่ระยะไกลๆ โดยส่งไฟฟ้ากระแสตรงเข้าไปจุดพลุ ขณะที่แต่เดิมนั้นคนจุดพลุต้องเข้าไปจุดไฟห่างจากลูกพลุไม่กี่เมตรซึ่งอันตรายอย่างมาก แต่ปัจจุบันมีความปลอดภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการแสดงของพลุอีกด้วย เช่น กำหนดเวลายิง ตำแหน่งที่ยิง หรือมุมในการยิง เป็นต้น สราวุฒิกล่าวว่านอกจากเทคนิคในการผลิต “ลูกพลุ” ให้ได้พลุที่มีสีสันและลูกเล่นดูมีชีวิตแล้ว การออกแบบการแสดงก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีช่วย เพื่อคอยควบคุมจังหวะการยิง ลีลาของการยิง ซึ่งปัจจุบันเราไม่ยิงพลุขึ้นไปในมุมตรงอย่างเดียว แต่กำหนดมุมเอียงได้ ทำให้ได้พลุรูปตัว “วี” (V) สร้างความแปลกใหม่และดึงความสนใจให้กับคนดูได้

ด้วยการเข้าแข่งขันแสดงพลุทั้งในและต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้สราวุฒิมีโอกาสได้เห็นความก้าวหน้าเทคโนโลยีพลุของประเทศต่างๆ เขาจึงพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมาพัฒนาการทำพลุของตัวเองอยู่เสมอ และเขายังได้เปรียบเทียบความก้าวหน้าของพลุในประเทศต่างว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีพลุที่ดีที่สุด ด้วยความเป็นชาตินิยมญี่ปุ่นจะผลิตและใช้เอง อีกทั้งยังมีสมาคมเพื่อการพัฒนาพลุของตัวเอง ส่วนจีนก็เป็นอีกประเทศที่ผลิตพลุได้ดีแต่เทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะจีนผลิตเพื่อขายจึงไม่ได้เน้นที่คุณภาพมากเท่ากับญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่าพลุของจีนมีคุณภาพระดับหนึ่ง เพราะเป็นพลุที่ได้รับการยอมรับและขายได้ทั่วโลก

ในส่วนของกิจการผลิตพลุนั้นสราวุฒิจะผลิตตามความต้องการของลูกค้า โดยไม่ผลิตแล้วเก็บไว้ เนื่องจากมีอันตราย เปลืองค่าใช้ในการดูแลรักษา และเก็บไว้นานๆ ทำให้คุณภาพพลุเสื่อมได้ ซึ่งเขาก็ให้ความเห็นผู้ผลิตพลุรายย่อยอื่นๆ ก็ควรจะทำอย่างนั้น เพื่อไม่ต้องรับภาระความเสี่ยง

อนาคตของพลุ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น คนก็จะเห็นพลุเป็นสิ่งสวยงาม เป็นสิ่งที่ดี และจะทำให้การจุดพลุเป็นประเพณี แต่ถ้ามีอุบัติเหตุเกี่ยวกับพลุบ่อยๆ คนก็จะมองว่าพลุเป็นสิ่งน่ากลัว อีกทั้งการผลิตพลุจำหน่าย ไม่ควรทำแล้วเก็บไว้มากๆ เพื่อรอจำหน่าย เพราะจะเป็นอันตราย ควรจะทำขึ้นแล้วจำหน่ายให้หมดไปดีกว่า” สราวุฒิกล่าวถึงอนาคตของพลุและทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการรายย่อยด้วยความห่วงใย
กำลังโหลดความคิดเห็น