เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นในด้านต่างๆ และหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย คือ การประดิษฐ์ “เรือใบ” ด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยเฉพาะ “เรือใบมด” “เรือใบซูเปอร์มด” และ “เรือใบไมโครมด” นั้นนับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย เพราะเป็นเรือที่ทรงออกแบบเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
ความสนพระราชหฤทัยในงานช่างของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีมาตั้งแต่ครั้งพระองค์ทรงเจริญพระชันษา ดังความในบทพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง "เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์" ทรงเล่าไว้ว่า
"พระอนุชาได้เริ่มทำแบบเรือต่างๆ ด้วยไม้ เช่น แบบเรือรบที่ไม่มีขาย ในระยะนั้นกำลังทำเรือ ใบที่ใหญ่พอสมควร ใบก็เย็บเองด้วยจักรเสร็จแล้ว เหลือแต่การทาสี เมื่อเริ่มไปแล้ว ก็พอดีเป็นเวลาที่กำลังจะตัดสินว่าจะอพยพออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่าว่า ทุกคนก็ถามอย่างล้อๆ ว่า เรือจะ แห้งทันไหม"
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง เช่น เครื่องร่อน และเรือรบจำลอง เป็นต้น หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็มีพระราชภารกิจต่าง ๆ มากมาย เพราะทรงตระหนักว่าประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามย่อมต้องมีความสำคัญก่อนเสมอ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานช่างเพียงเล็กน้อย
แม้จะมีพระราชภารกิจต่าง ๆ มากมาย แต่ก็โปรดที่จะต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เองจำนวนหลายลำ และทรงทดลองแล่นเรือในสระภายในสวนจิตรลดา เนื่องจากพระองค์โปรดกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่ง โดยเรือใบฝีพระหัตถ์ ที่สำคัญมี 3 ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภทเอนเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class), เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) โดยเรือใบลำแรกที่ทรงต่อเองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2507 เป็นเรือใบประเภท เอนเตอร์ไพรส์ ชื่อ "เรือราชปะแตน" และลำต่อมาชื่อ "เรือเอจี" โดยทรงต่อตามแบบสากล
ใน พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบประเภทโอเคตามแบบสากล โดยลำแรกที่ทรงต่อชื่อ "เรือนวฤกษ์" หลังจากนั้นพระองค์ทรงออกแบบและต่อเรือใบประเภทม็อธจำนวนหลายลำ ซึ่งเรือประเภทนี้เป็นเรือที่กำหนดความยาวตัวเรือไ ม่เกิน 11 ฟุต เนื้อที่ใบไม่เกิน 75 ตารางฟุต ส่วนความกว้างของเรือ รูปร่างลักษณะของเรือ ความสูงของเสา ออกแบบได้โดยไม่จำกัด วัสดุที่ใช้สร้างเรืออาจทำด้วยโลหะ ไฟเบอร์กลาส หรือไม้ก็ได้ และเรือม็อธที่ทรงออกแบบ และทรงต่อด้วยพระองค์เองในระหว่าง พ.ศ.2509-2510 นี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของการต่อเรือที่ใช้ชื่อพระราชทานว่า “เรือมด, เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด”
“เรือใบมด” เป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับคนไทย โดยมีขนาดตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 7 นิ้ว เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต มีน้ำหนักเบาสะดวกในการเคลื่อนย้าย เก็บรักษาง่าย มีคุณสมบัติว่องไว แล่นได้เร็ว และมีราคาถูก ข้อดีต่าง ๆ นี้ทำให้เรือใบมดที่ทรงออกแบบได้มาตรฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจดลิขสิทธิ์เป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ
“เรือใบซูเปอร์มด” เป็นเรือใบมดที่ทรงปรับปรุงแบบใหม่ ทรงออกแบบตัวเรือยาว 11 ฟุตเท่าเรือมด แต่ความกว้างเพิ่มขึ้น คือกว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว ท้องแบน น้ำหนักประมาณ 34 กิโลกรัม เนื้อที่ใบโตเท่าเดิม การทรงตัวดี ความเร็วมีมากขึ้น ตัวเรือคงทนแข็งแรง สู้คลื่นลมได้ดี และมีความปลอดภัยสูง เรือใบซูเปอร์มดนี้ใช้แข่งขันกีฬานานาชาติเป็นครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2510 และใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติทุก ๆ ครั้งที่แข่งในประเทศไทย ครั้งหลังสุดใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ณ ประเทศไทย พ.ศ.2528
ส่วน"เรือใบไมโครมด” เป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบโดยให้มีขนาดเล็กกว่าเรือมด คือ ตัวเรือยาว 7 ฟุต 9 นิ้ว กว้าง 3 ฟุต 4 นิ้ว เป็นเรือขนาดเล็กมาก เหมาะสำหรับเด็กและคนร่างเล็ก วิธีการสร้างเรือใบมดตามแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีวิธีการสร้างที่ง่าย ประหยัดและสะดวก ใช้เครื่องมือช่างไม้ธรรมดา ๆ ก็สามารถทำได้ วัสดุที่ใช้ล้วนหาได้ในประเทศทั้งสิ้น
สำหรับขั้นตอนในการต่อ ”เรือใบมด” ในแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมี 4 ขั้นตอน คือ 1.เปลือกเรือทำด้วยไม้ยมหอมหนา 4 มิลลิเมตร จัดทำข้างขวา 1 แผ่น ข้างซ้าย 1 แผ่น รูปแบบและขนาดกำหนดไว้ในแบบแปลนก็จะได้เปลือกเรือตามต้องการ ส่วนนี้ทรงเรียกว่า "ปลาแห้ง" 2. ประกอบเปลือกเรือหรือปลาแห้งเข้ากับแผ่นปิดท้ายเรือ ขอบด้านล่างของปลาแห้งผูกติดกันด้วยลวด ตามรูที่เจาะไว้ ปลาแห้งก็จะห่อตัวเป็นรูปตัวเรือ แล้วทากาวหยอดทิ้งไว้กาวจะแห้งและติดแน่น แล้วตัดลวดที่ผูกไว้ชั่วคราวออก เสริมผ้าใยแก้วทับแนวให้แข็งขึ้น ไม่ต้องสร้างกงเรือ วิธีนี้เป็นวิธีใหม่ที่พระองค์ทรงคิดค้นเพื่อให้เรือแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา
3 .ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ไม้กระดูกงู ทวนหัวเรือ อะเส ฝักมะขาม เต้ารองรับ เสา ฝากั้นภายในขอบที่นั่ง แล้วทาสีภายในให้ทั่ว ทา 2 ถึง3 เที่ยวเพื่อรักษาเนื้อไม้ไม่ให้น้ำดูดซึมได้ ซึ่งจะทำให้เรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 4. ปิดแผ่นดาดฟ้าเรือ แล้วขัดแต่งผิวเรือภายนอกให้เรียบ แล้วจึงพ่นสีเรือตามต้องการ เมื่อสีแห้งดีแล้ว จึงเริ่มประกอบอุปกรณ์แล่นใบ เช่น พุกผูกเชือก รอกต่าง ๆ เชือก เสา เพลา ใบ และชุดหางเสือเรือ เป็นอันเสร็จ
แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะโปรดกีฬาเรือใบมากเป็นพิเศษ หากแต่พระองค์ไม่โปรดซื้ออุปกรณ์ที่แพง พระองค์จึงโปรดต่อเรือใบด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และทรงประดิษฐ์อย่างถูกต้องตามหลักการสากล โดยศึกษาแบบแปลนข้อบังคับของเรือแต่ละประเภทจากตำราต่าง ๆ ทั่วโลก จนรู้จริงอย่างถี่ถ้วน และทรงประดิษฐ์ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ชนิดที่เรียกว่า “วัดเป็นมิลลิเมตร” โดยเรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2510 คือ "เรือโม้ก" (Moke) ซึ่งเป็นเรือที่มีลักษณะผสมระหว่างเรือโอเค กับเรือซูเปอร์มด หลังจากนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงออกแบบเรือใบอีก เนื่องจากมีพระราชภารกิจอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยในกีฬาเรือใบอย่างถูกต้องตามขั้นตอนเช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นทั่วไป และด้วยพระปรีชาสามารถทรงได้รับการคัดเลือกเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติไทย ฉลองพระองค์ชุดวอร์มและเบลเซอร์ และทรงได้รับเบี้ยเลี้ยงในฐานะนักกีฬา ทรงเข้าค่ายฝึกซ้อมตามโปรแกรมการฝึกซ้อมเช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นๆ พระองค์ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลเหรียญทองจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2510 ซึ่งเป็นวันพิธีฯปิดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬากรีฑาสถาน ท่ามกลางความปลื้มปีติของพสกนิกรปวงชนชาวไทยทั่วประเทศและเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั่วโลก
แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิได้ทรงต่อเรืออีก หากแต่ความสนพระราชหฤทัยในด้านการต่อเรือก็มิได้หมดไป พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริอันเป็นประโยชน์แก่กิจการของทหารเรือสืบมา เช่น มีพระราชดำริว่ากองทัพเรือควรจะต่อเรือยนต์รักษาฝั่งไว้ใช้ในราชการเองบ้าง และเมื่อกองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเรือตามพระราชดำริ ก็ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำปรึกษาและเอกสาร รวมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น ทรงช่วยเหลือโดยติดต่อกับสถาบันวิจัย และทดลองแบบเรือแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ให้ช่วยทดสอบแบบให้จนเป็นที่พอใจ แล้วจึงทำการต่อเรือขึ้นที่กรมอู่ทหารเรือ และเมื่อต่อเรือแล้วเสร็จจะทำการทดสอบความเร็วเรือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปทดสอบด้วยพระองค์เอง ทรงสังเกตอย่างละเอียดถี่ถ้วน และมีพระราชวินิจฉัยอย่างถูกต้องถึงความผิดพลาดที่ยังมีอยู่ จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไขจนแล้วเสร็จ เป็นเรือยนต์รักษาฝั่งลำแรกของไทยตั้งชื่อว่า "ต. 91" ซึ่ง ต. หมายถึงประเภทเรือ 9 หมายถึงรัชกาลที่ 9 และ 1 หมายถึงเป็นลำที่ 1 ปัจจุบันได้ต่อเรือประเภทนี้ขึ้นในกองทัพเรือแล้วถึง 9 ลำ และเปลี่ยนชื่อเรือชุดนี้จาก "เรือยนต์รักษาฝั่ง" เป็น "เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง"
“เรือมด เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด” นอกจากจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาปรับแต่งให้เหมาะสมกับลักษณะของคนไทยที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญมาตลอดแล้ว ความสนพระราชหฤทัยในด้านการต่อเรือของพระองค์ ยังนับเป็นตัวอย่างให้แก่พสกนิกรชาวไทยในด้านความวิริยะพยายามในอันที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามเป้าหมายอีกด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
“กังหันชัยพัฒนา” วิดน้ำเสียเติมออกซิเจน “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย”
“ฝนเทียมไทย” ไม่แพ้ใครในโลก ด้วยสูตรเฉพาะส่วนพระองค์
“แก๊สโซฮอล์-ไบโอดีเซล” รับวิกฤตพลังงาน พระราชดำริล่วงหน้ากว่า 40 ปี
ถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพดนตรีผ่าน “ฮอโลแกรม” ฝีมือไทย
วช.เทิดทูนพระบารมี ทูลเกล้าฯ ถวาย “สิทธิบัตรฝนหลวง”ในต่างประเทศ
“ในหลวง” พระผู้ทรงบำบัดทุกข์-บำรุงสุขราษฎร์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เปิดแฟ้มผลงานในพระองค์ 10 รางวัลระดับโลกเวที “บรัสเซลส์ ยูเรก้า”
ภาพทรงจำแสนปีติจากพสกนิกรผู้ถวายงานวิทยาศาสตร์ “ทรงแตกฉานแม้เรื่องเฉพาะทาง”
คนวงในวิทย์ยกย่องในหลวง “ทรงเป็นต้นแบบนักวิทย์ประยุกต์”