xs
xsm
sm
md
lg

วว.ใช้เอทธิลีนยืดอายุ ตัดปัญหาส่งออกทุเรียนอ่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเอ่ยถึง “ราชาแห่งผลไม้” ขึ้นมาครั้งใด ก็เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดงก็คงทราบกันดีว่าคือ “ทุเรียน” นั่นเอง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นที่นิยมกันในหมู่คนไทยเท่านั้น ทว่าความนิยมรับประทานทุเรียนในชาวต่างชาติก็มีมากเช่นเดียวกัน โดยทุเรียนเป็นผลไม้ส่งออกชนิดหนึ่งที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศได้เสมอๆ ทว่า เนื่องจากไม่มีวิธีการชะลอการสุกของทุเรียนที่ดี ทำให้หลายครั้งผู้ปลูกจำใจต้องตัดผลอ่อนส่งขาย ซึ่งมักมีปัญหาถูกตีกลับอยู่บ่อยครั้ง และเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อผลไม้ไทย แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังจะหมดไป!

ดร.อนวัช สุวรรณกุล ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เผยว่า ขณะนี้ วว.ได้ประสบความสำเร็จในการยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียนสดโดยใช้สารยับยั้งเอทธิลีน คือ สาร 1-Methycyclopropene (1-MCP) เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียนสดที่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่พอเหมาะสำหรับการส่งออก

ทั้งนี้ จากการทดลองพบว่า สาร 1-MCP ที่มีอัตราความเข้มขั้นตั้งแต่ 500 -1,000 ส่วนต่อพันล้าน (ppb/พีพีบี) สามารถนำมาใช้ยืดอายุการเก็บรักษาผลทุเรียน ทั้งพันธุ์ชะนีและหมอนทองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ 2-3 เท่าที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส รวมทั้งพบอีกว่า การใช้สาร 1-MCP ที่อัตราความเข้มข้น 1,000-2,000 พีพีบี ที่ระยะเวลา 6 ชั่วโมง ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส จะสามารถยืดอายุการสุกของทุเรียนออกไปได้อีก 15-40 % ขึ้นกับเวลาที่ใช้ในการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี ผลทุเรียนที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิดังกล่าวมากกว่า 4 สัปดาห์ เมื่อผลสุกจะแสดงลักษณะอาการเน่าเสียอันเนื่องมาจากเชื้อราในอัตราค่อนข้างสูง ดังนั้นทุเรียนที่ต้องการเก็บรักษานานกว่า 3 สัปดาห์จึงจำเป็นที่จะต้องการกรรมวิธีในการควบคุมโรคเน่าควบคู่กันไปด้วย

นอกจากจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ดังกล่าวไปใช้ในการยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดเพื่อการส่งออกด้วยตู้เรือปรับอากาศแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ คือไม่จำเป็นที่ต้องเก็บทุเรียนที่อายุน้อยเกินไปเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาระหว่างการขนส่ง ทำให้ทุเรียนเมื่อสุกที่ตลาดปลายทางมีคุณภาพของเนื้อผลดีขึ้น รวมทั้งยังนำไปใช้ในกรณีที่ต้องการขนส่งผลทุเรียนต่อไป โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ภายหลังจากการขนส่งโดยตู้เรือปรับอากาศ เช่น ในกรณีการขนส่งทุเรียนต่อไปยังจังหวัดที่ห่างไกลในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่”ดร.อนวัช กล่าว

อนึ่ง สาร 1-MCP เป็นฮอร์โมนที่ควบคุมกระบวนการสุกและเน่าเสียของผัก ผลไม้ และไม้ตัดดอก มีสถานะเป็นก๊าซที่ปราศจากสี กลิ่น และรส และมีความเป็นพิษต่ำมาก โดยได้รับการยกเว้นจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (US EPA)ในเรื่องของข้อกำหนดในการระบุปริมาณผลตกค้างที่ยอมรับได้ ซึ่งในผลิตผลจำพวกผักและผลไม้สด คาดกันว่า สาร 1- MCP จะเป็นสารเคมีที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เขตหนาว เช่น แอปเปิ้ลและแพร์ของสหรัฐอเมริกา

สำหรับผู้สนใจวิทยาการดังกล่าวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว วว. โทร.0-2577-9000 ในวันและเวลาราชการ


กำลังโหลดความคิดเห็น