หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า “สึนามิ” และการทดลองระเบิดนิวเคลียร์จะสามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการเฝ้าระวังเพื่อเตือนภัยได้ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เหมือนกันของปรากฏการณ์ทั้ง 2 คือ “แผ่นดินไหว”
ทั้งนี้ในองค์การสหประชาชาติมีคณะกรรมาธิการสำหรับองค์กรสนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์หรือ “ซีทีบีที” (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization: CTBTO/PrepCom) ซึ่งมีศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศ (International Data Center: IDC) เป็นหน่วยงานรวบรวมข้อมูลจากสถานีเฝ้าตรวจทั่วโลกเพื่อวิเคราะห์ว่ามีการฝ่าฝืนทดลองอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์อื่นๆ ในสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ข้อมูลจากการเฝ้าระวังการทดลองนิวเคลียร์นั้นมีข้อมูลบางอย่างที่มีลักษณะร่วมกันกับการเกิดสึนามินั่นคือการเกิดแผ่นดินไหว โดยในการระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์จะให้เกิดการปล่อยสารกัมมันตรังสีและทำให้เกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรง จึงมีเทคนิคเพื่อใช้ในการตรวจวัดสัญญาณที่นำไปสู่การวิเคราะห์ว่ามีการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้แก่ 1.ปริมาณสารกัมมันตรังสีในอากาศ(Radionuclide) 2.การสั่นสะเทือนใต้พิภ(Seismic) 3.คลื่นเสียงใต้น้ำ(Hydroacoustic) 4.คลื่นเสียงในอากาศ (Infrasound)
อย่างไรก็ดีความแตกต่างระหว่างการสั่นสะเทือนของแผ่นดินจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และการเกิดแผ่นดินไหวในธรรมชาติคือ การทดลองระเบิดนิวเคลียร์จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในทุกทิศทุกทาง ในขณะที่การสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขึ้นอยู่กับการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก
ทั้งนี้ทั่วโลกมีสถานีตรวจวัดทั้งหมด 321 สถานี ซึ่งรวมสถานีในประเทศไทย 2 สถานี ได้แก่ สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทำข้อตกลงเพื่อประสานงานในการจัดตั้ง และจะผลักดันให้ได้ภายในปีนี้ อีกแห่งคือสถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ ตั้งอยู่ที่สถานีวัดความสั่นสะเทือน จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือและสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
สำหรับสถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพได้ยกระดับจากสถานีวัดความสั่นสะเทือนของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ โดยสัญญาความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาและกองทัพเรือไทยให้อยู่ในกรอบของสนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ที่ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้สถานีวัดความสั่นสะเทือนสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบดาวเทียมให้กับคณะกรรมาธิการสำหรับองค์กรสนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.นี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดสัมมนา “การใช้สารสนเทศเฝ้าระวังการทดลองนิวเคลียร์เพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติแห่งชาติ” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบโอกาสที่จะใช้ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศจากสำนักงานเตรียมการของสนธิสัญญาฯ โดยได้เชิญ มร.ลาซินา เซอโบ (Lassina Serbo) ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศมาเป็นวิทยากร ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าการใช้เครื่องมือเฝ้าระวังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์นั้นสามารถใช้ในการเตือนภัยการเกิดสึนามิได้ เพราะสามารถตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนในน้ำได้ และพร้อมจะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการตรวจวัด