xs
xsm
sm
md
lg

ควาย : แทร็กเตอร์ที่มีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า คนอินเดียรู้จักเลี้ยงควายมานานร่วม 4,500 ปีแล้ว ส่วนคนจีนเริ่มหัดเลี้ยงควายหลังคนอินเดียประมาณ 1,000 ปี แม้แต่ในอียิปต์ก็มีภาพวาดของควายบนผนัง พีระมิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวอียิปต์รู้จักเลี้ยงควายเป็นสัตว์ไถนานานประมาณ 1,200 ปี ทุกวันนี้เราสามารถพบควายได้ทั่วไป เช่น ในแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทราย Sahara ก็มีการเลี้ยงควาย ในบราซิลบนเกาะ Marajo ในลุ่มแม่น้ำ Amazon ก็มีควาย ในอังกฤษท่าน Earl of Cornwall ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้า Henry ที่ 3 เคยเลี้ยงควาย แต่อากาศหนาวในอังกฤษทำให้ควายล้มตายหมด สำหรับชาวเขมรนั้นก็รู้จักเลี้ยงควายมานานประมาณ 600 ปี

โดยทั่วไป คนรู้จักใช้ควายไถนา ลากขนสินค้าและสัมภาระ นอกจากคนจะได้งานจากควายแล้ว เรายังได้อาหาร เช่น นม และเนื้อจากควาย (ควายยุโรปให้นมทำเนยแข็ง mozzarella) นอกจากนั้นเราได้หนังทำเครื่องใช้ และได้เขาควายทำเครื่องประดับด้วย

ทั้งๆ ที่ควายเป็นสัตว์ที่ให้ประโยชน์แก่คนมาก แต่เรามีความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับควายค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น เช่น หนู ลิง ช้าง อูฐ หรือ ลามะ (llama)

ควายเอเชีย (Bubalus bubalus) มีรูปร่างที่แตกต่างจากควายป่า (Syncerus caffer) ในแอฟริกา อีกทั้งมีลักษณะที่ไม่เหมือนวัวใบซัน (Bison bison) ในอเมริกา วัว musk ในแถบอาร์กติก และวัว yak ในทิเบต รวมทั้งแตกต่างจากวัวทั่วไปด้วย เช่น ควายมีโหนกสองโหนก ในขณะที่วัวมีโหนกเดียว ควายชอบนอนในปลักโคลน หรือเล่นน้ำนานเป็นชั่วโมง และเวลาถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ควายจะชอบนอน แต่สำหรับควายอินเดียและพม่ากลับชอบอาบน้ำสะอาดยิ่งกว่าน้ำสกปรก ควายไทยที่โตเต็มที่อาจหนักถึง 90 กิโลกรัม แต่ควายคาราบาวของฟิลิปปินส์อาจหนักเพียง 40 กิโลกรัมเท่านั้นเอง

ในฤดูร้อน ควายมักต้องการน้ำตลอดเวลา เพราะอากาศร้อนทำให้มันรู้สึกเหนื่อยอ่อน ดังนั้น มันชอบกลิ้งเกลือกโคลนอย่างสนุกสนาน หรือเวลาฝนตกหนักมันจะชอบยืนตากฝนอย่างตัวสั่นระรัวด้วยความสุข

ควายเป็นสัตว์ที่ว่านอนสอนง่าย ดังนั้น มันจึงเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรดชนิดหนึ่ง ที่ชอบให้คนจูงมากกว่าไล่ต้อน ตามปกติเวลาเผชิญศัตรู มันจะไม่ใช้เท้าเตะ หรือใช้เขาขวิด ดังนั้น ควายจึงเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างไร้อันตราย และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งที่ผู้ใหญ่ในหลายประเทศในเอเชียใช้เด็กๆ เลี้ยงควาย เพราะรู้ดีว่า เด็กจะปลอดภัย โดยควายจะชอบให้เด็กขี่หลัง หรือนอนบนหลังมันขณะเดินลงน้ำ แล้วเด็กก็จะชะล้างตามตัวทำความสะอาดที่หู ตา และจมูกให้ควายอย่างไม่รู้สึกกลัวมันจะกัดเอา

ควายทุกตัวมีเขา ที่อาจมีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน เขาควายส่วนใหญ่จะโค้งงอนกลับไปข้างหลัง เพราะเขาควายไม่เป็นอันตรายใด ๆ ดังนั้น คนจึงมักไม่ตัดเขา แต่สำหรับควายอินเดีย หรือพม่า เวลาเห็นเสือ ควายจะปกป้องตัวให้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อด้วยการใช้เขาขวิดศัตรู

ตามปกติควายเป็นสัตว์สันติที่ไม่ชอบต่อสู้กันเอง แต่เมื่อจำเป็นมันใช้วิธีผลักดันกัน ควายตัวที่แข็งแรงจะชนะ และตัวที่แพ้จะหนี และในกรณีที่ควายสู้กัน การโยนฟางติดไฟใส่ควายคู่กรณีจะยุติการต่อสู้ได้

ในกรณีเจ้าของรู้สึกไม่รีบร้อนให้งานเสร็จ ควายเป็นสัตว์ในอุดมคติของเขาตัวจริง เพราะมันทำงานสบายๆ ไม่รีบเร่ง การมีพลังมหาศาล ทำให้มันสามารถลากไถในที่ลุ่มหรือที่มีโคลนมากได้ดี และหลังจากถูกใช้งาน เช่น ไถนาแล้ว ชาวนามักปล่อยควายให้เดินหาอาหารเอง และพักผ่อนตามอัธยาศัย และเมื่อถึงเวลานวดข้าว เขาก็จะให้มันเดินย่ำเท้าไปบนรวงข้าวจนเมล็ดข้าวหลุดจากรวง

ในอินเดีย เราอาจเห็นควายลากรถไปตามถนนในตลาดที่มีผู้คนแออัดอย่างช้าๆ อย่างไม่กลัวคน การมีกระดิ่งผูกที่คอเป็นการส่งสัญญาณให้คนรู้ว่า ควายกำลังเดินมา และคนก็จะหลีกทาง ทั้งนี้เพราะรถที่ควายลากไม่มีเบรก ดังนั้น คนที่ไม่หลบก็อาจถูกรถที่ควายลาก ทับเป็นอันตรายได้

เพราะคนเอเชียบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และข้าวที่ว่านี้ได้จากนาที่ควายไถ ดังนั้น คนบางคนจึงเรียกควายว่า แทร็กเตอร์ที่มีชีวิต แต่แทร็กเตอร์ก็เป็นอุปกรณ์เครื่องจักรกลชนิดหนึ่ง ดังนั้น มันจะต้องถูกนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอมันจึงจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ควายนั้นต้องถูกปล่อยให้พักผ่อนบ้าง ทำงานบ้าง มันจึงจะทำงานได้ดี และนี่ก็คือ ข้อแตกต่างระหว่างควายกับแทร็กเตอร์

คนอินเดียชอบนิยมดื่มนมควาย การวิเคราะห์โดยนักโภชนาการประมาณว่า 50% ของนมที่คนอินเดียบริโภคมาจากควาย เพราะนมควายมีไขมันมากกว่านมวัวราว 2 เท่า ดังนั้น คนที่ดื่มนมควายจึงมักอ้วนกว่าคนที่ดื่มนมวัว และโดยเฉลี่ยนมควายมีไขมันไม่เกิน 7% แต่นมควายบางตัวอาจมีไขมันมากถึง 15% ก็ได้

สำหรับโอกาสที่ควายจะติดโรคระบาดนั้น นักสัตววิทยาได้พบว่า มีค่อนข้างน้อย เพราะควายมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูงสำหรับโรคทั่วไป แต่สำหรับโรคแอนแทรกซ์ (anthrax) กับโรคเท้าเปื่อยและปากเปื่อย ควายติดโรคเหล่านี้ได้ง่ายกว่าวัว โดยทั่วไปคนอินเดียจะถูกห้ามไม่ให้ฆ่าวัว แต่ไม่มีใครห้ามฆ่าควาย ถึงกระนั้นคนในครอบครัวก็มักถือควายเสมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่ง เพราะเวลาควายตาย ครอบครัวก็แทบล่มสลายตามควายไป และโดยทั่วไปกฎหมายอินเดียห้ามฆ่าควายที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี ยกเว้นกรณีควายตัวนั้นทุพพลภาพ หรือเป็นหมัน ตามปกติควายอินเดียจะมีอายุยืนถึง40 ปี แต่แม้จะมีอายุ 20 ปีแล้ว ควายก็ยังทำงานได้ดี แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ควายจะทำงานช้าลง และกินอาหารมากขึ้น จนในที่สุดเจ้าของก็จะปล่อยให้ควายล้มตายด้วยโรคชรา โดยไม่ฆ่ากิน แต่ในบางประเทศ ควายจะถูกฆ่าเอาเนื้อบริโภค หรือเมื่อให้นมหมดแล้ว เขาก็จะฆ่าทิ้ง ควายที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี เนื้อจะนุ่ม และมีรสดี ซากควายตามปกติจะหนักตั้งแต่ 45 - 47% ของน้ำหนักตัว แต่ในอิตาลีและบัลแกเรีย ที่นิยมเลี้ยงควายเป็นอาหาร น้ำหนักกระดูกของควายจะค่อนข้างสูงถึง 15% เนื้อควายตามปกติมีคุณภาพและรสที่ไม่แตกต่างจากเนื้อวัวมาก แต่เนื้อมีลักษณะหยาบกว่า และให้โปรตีนมากกว่า

คนเนปาลนิยมกินหนังควาย โดยการนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปต้มเป็นเวลานาน จากนั้นก็นำไปตากแดด ครั้นเวลาจะบริโภคก็นำมาทอดในน้ำมัน และในประเทศไทยเราใช้หนังควายทำเครื่องหนัง เช่น รองเท้า เข็มขัด กระเป๋า และบังเหียน เป็นต้น

สำหรับประเด็นการแพร่พันธุ์ของควาย เราต้องเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม เพราะควายมักผสมพันธุ์กันตามฤดู ตามปกติควายตกลูกปีละตัว แต่เราอาจทำให้มันมีลูก 2 ตัว ในเวลา 3 ปีก็ได้ โดยทั่วไปควายชอบผสมพันธุ์กันในเวลากลางคืน หรือเช้ามืด แต่เมื่อการสืบพันธุ์ให้ลูกค่อนข้างน้อย ดังนั้น การผสมพันธุ์เทียมจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ควายไม่สูญพันธุ์ โดยทำให้ควายติดสัดได้ด้วยการควบคุมฮอร์โมน หรืออุณหภูมิของคอก และแสงสว่างในคอก ซึ่งจะทำให้ระบบการแพร่พันธุ์ของควายดำเนินไปได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะควายมีความสำคัญต่อคนมาตั้งแต่สมัยโบราณ มันจึงสมควรได้รับการศึกษา วิจัย และหาวิธีไม่ให้สูญพันธุ์ เพื่อเราจะได้นำมันมาใช้งาน เป็นอาหาร และเป็นเครื่องใช้อุปโภค และคงต้องปรับปรุงพันธุ์ควายให้คนและควายอยู่คู่กันตลอดไป

อนึ่ง ในสถานการณ์ที่น้ำมันกำลังมีราคาสูงขึ้นๆ ตลอดเวลาเช่นนี้ การใช้รถแทร็กเตอร์ไถนาที่ใช้น้ำมันทำให้ต้องใช้เงินในการดำเนินการมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นก็หมายความว่า ชาวนาจะยากจนลงๆ ดังนั้น วิธีหนึ่งที่อาจทำให้สถานภาพทางการเงินของชาวนาดีขึ้น คือ ใช้แทร็กเตอร์ที่มีชีวิต เช่น ควาย แทนแทรกเตอร์จริงๆ ครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท

กำลังโหลดความคิดเห็น